วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัด (Cytotherapy)


การรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการที่ยังไม่ใช่มาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน แต่ด้วยเหตุที่มีผู้ป่วยรายหนึ่ง ไปรับการรักษาด้วยเทคนิคนี้  ผมจึงคิดว่าน่าจะนำความรู้นี้มาเผยแพร่ เพื่อเป็นตัวอย่างและข้อคิดต่อแนวมางการรักษาใหม่ ซึ่งเรื่องเซลล์บำบัดนี้ ผมอยากจะทำความเข้าใจในสองประการดังนี้

ประการที่ 1  ในการรักษาโรคมะเร็งนั้น หลายท่านจะอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถรักษาด้วยมาตรฐานได้  ต้องหาทางเลือกอื่นมากกว่าการอยู่เฉยๆ หรือบรรเทาอาการเพียงอย่างเดียว หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษามาตรฐาน แต่ต้องการการ รักษาทางเลือกอื่น เพิ่มเติมเพื่อความหวังสูงสุด ก็เป็นสิทธิพึงจะกระทำได้   

แต่ข้อสำคัญ คือ ผู้ที่ให้การรักษา จะต้องคำนึงถึงความหมิ่นเหม่ ต่อ เรื่องจริยธรรม ความชัดเจนในช้อบ่งชี้ ความเหมาะสม ความน่าจะเป็น   ต้องชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจอย่างถูกต้อง ถึงผลที่ได้ และความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น   อย่าชักนำเพื่อการทดลอง หรือ เพื่อผลประโยชน์อื่นใด

ประการที่ 2     โปรดแยกออกจากความรู้สึก ของ   Stem Sell  ที่เป็นข่าวสับสนในเวลานี้ กับเรื่องเซลล์บำบัด ที่เป็นเรื่องจำเพาะของมะเร็ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันบำบัดเท่านั้น

สิ่งที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ สามารถดูพื้นฐานของเรื่อง ภูมิคุ้มกันบำบัด ที่เคยเขียนใน Blog นี้มาแล้ว    วันนี้จะเป็น รายงานการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดนี้    เป็นรายงานการศึกษาของ  Wang ZX และคณะที่ลงใน วารสาร  Cytotherapy (2014 Jul; 16(7): 934-45 )   เรื่อง Adoptive Cellular Immunotherapy for the Treatment of Patients with Breast Cancer: a Meta-analysis  ซึ่งมีกระบวนการศึกษาจากรายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ การรักษาด้วยเซลล์ DC-CIK  ที่มีการตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ   

เป็นการศึกษาประสิทธิผลของ  Dendritic cells (DC)   อย่างเดียว เปรียบเทียบกับ การใช้  Cytokine-induced killer (CIK) cells   อย่างเดียว และ กลุ่มที่ใช้ร่วมกันของ  DC and CIK cells ในการรักษามะเร็งเต้านม 633 คน พบว่า

การใช้  DC-CIK cells  มีอัตราการอยู่รอดที่ 1 ปี ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.0001)   The Karnofsky Performance Status  ซึ่งเป็นค่าที่แสดงสภาวะหรือสภาพของร่างกาย ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ   (P < 0.0001). จำนวนของ T cells (CD3(+), CD4(+) และ CD4(+) CD8(+), CD16(+) monocytes, and CD3(+)CD56(+) natural killer T cells   ในเลือดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ (P 0.05)  และยังมี ผลอื่นๆอีกหลายอย่างที่บ่งชี้ ถึงประสิทธิผลของ DC-CIK  ได้แก่ระดับที่สูงขึ้นของ  interleukin-2, interleukin-12, tumor necrosis factor-α, interferon-γ  และการลดลงของ  alpha-fetoprotein, cancer antigen embryonic antigen and carbohydrate antigen tumor markers were decreased (P < 0.00001)

โดยสรุป จากรายงาน การเซลล์บำบัด ชนิด DC-CIK cell therapy  สามารถช่วยในเรื่องระยะการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น และเป็นการเพิ่มประสิทธิผลในการรักษามะเร็งเต้านม
ในอนาคต คงมีการศึกษาที่ชัดเจนมากขึ้น และอาจเป็นการรักษามาตรฐานที่ยอมรับกันได้ทั่วไปครับ

ข้อคิดสำหรับการรักษาเทคนิคใหม่ๆ
1. ความเชื่อ ทฤษฎี ความน่าจะเป็น  ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล  ที่จะนำไปปฏิบัติ  บนความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ป่วยและผู้ให้การรักษา    แต่ต้องอยู่พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วย

2. รายงานการศึกษาเบื้องต้น เพียง 1 การศึกษา อาจบ่งบอกความน่าจะเป็น เช่น รายงานนี้  เป็นการเทียบระหว่าง 3 วิธี ความน่าจะเป็น คือ CD-CIK น่าจะดีที่สุด   แต่การที่จะนำมาเป็นการรักษามาตรฐาน ต้องมีการเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐาน    อย่างไรก็ตาม  รายงานนี้เป็นแนวโน้มทางวิชาการ  ที่จะนำไปสู่การศึกษาให้เป็นวิธีการรักษามาตรฐานในอนาคต  

3. ถ้าเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ท่านจะเป็นผู้ให้และผู้รับการรักษานั้น อย่างสบายใจที่สุดเพราะไม่รู้ว่าเมื่อไร จึงจะสามารถมีรายงานการศึกษาให้เป็นมาตรฐาน  และถ้าใช้เลยโดยยังไม่มีรายงานที่สมบูรณ์ จะเหมาะสมหรือไม่   อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้ให้และผู้รับที่มีความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกันครับ





วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การใช้ความร้อน (Hyperthermia) ร่วมกับยา เจมไซตาบีน (Gemcitabine) ในการรักษาโรคมะเร็ง


อันที่จริงแล้ว ผมตั้งใจจะทำ Blog แบบการให้ความรู้ แต่บางครั้งเป็นการต่อเนื่องจากผู้อ่านที่อ่านบทความแล้ว อยากทราบเพิ่มเติมในเรื่องนั้นๆ และอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่มีความจำเป็นต่อการรักษา  อย่างคราวที่แล้ว ก็เป็นเรื่องของผู้ป่วยที่เป็นคุณพ่อ ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องของผู้ป่วยอีก ที่ต้องการความมั่นใจในวิธีการรักษาใหม่ๆ
    
เนื้อหาโดยสรุปของผู้ป่วยรายนี้ คือ เป็นมะเร็งทางเดินน้ำดี ที่ได้ ยา เจมไซตาบีน (Gemcitabine)  แล้วการตอบสนองไม่ดี   ได้รับคำแนะนำให้ใช้ Hyperthermia หรือการรักษาความร้อนร่วมด้วย ขอทราบว่ามีประโยชน์ต่อการรักษาหรือไม่

ผมจะตอบโดยรวมนะครับว่า มีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน  J Natl Cancer Inst. 2014 Aug 15; 106 (8) เรื่อง Hyperthermia inhibits recombination repair of gemcitabine-stalled replication forks จาก โดย  Raoof  M และคณะ จาก University of Arizona และ The University of Texas M. D. Anderson Cancer Center ที่สรุปกระบวนการดื้อยาของ เจมไซตาบีน (Gemcitabine Resistance) โดยเฉพาะ เซลล์มะเร็งตับ  Human Hepatocellular Carcinoma (HCC) รายงานนี้  ศึกษาการรักษา มะเร็งเซลล์ตับในหนู โดยใช้ Hyperthermia  ร่วมกับยา เทียบกับการรักษาโดยใช้ยาอย่างเดียว
ผลการศึกษาพบว่าขนาดของก้อนมะเร็ง ในกลุ่มที่ได้ Hyperthermia ร่วมกับ เจมไซตาบีน (Gemcitabine) มีขนาดเฉลี่ย 180±91mg  ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ากลุ่มที่ใช้ยา เจมไซตาบีน (Gemcitabine) เพียงอย่างเดียว  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (661±419mg, P = .0063)

นอกจากศึกษานี้ ก็ยังมีรายงานจากการประชุมทางยุโรปและญี่ปุ่น ที่กล่าวถึงผลการรักษาด้วย Hyperthermia และบทความที่เกี่ยวข้อง ที่ท่านอาจจะอ่านได้ใน blog นี้  จาก Link ด้านล่างนี้ได้ครับ

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ของท่านโดยละเอียดอีกครั้งครับ

บทความเกี่ยวกับการรักษามะเร็งด้วย Hyperthermia (การรักษามะเร็งด้วยความร้อน)























วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แสงสว่างปลายอุโมงค์ ของ มะเร็งตับ

เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศชาย และเป็นมะเร็งร้ายที่น่ากลัว ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น หลังการวินิจฉัย

มะเร็งตับ  ในที่นี้ หมายถึง มะเร็ง ที่เกิดขึ้นในตับเอง  ไม่รวมกลุ่มที่เกิดจากการกระจายจากมะเร็งส่วนอื่นๆ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือมะเร็งเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยธรรมชาติของมะเร็งตับที่มีโอกาสเกิดหลายก้อนในเวลาเดียวกัน หรือเกิดก้อนใหม่ในตำแหน่งอื่นของตับในเวลาต่อมา   และด้วยอาการที่ไม่ชัดเจนของมะเร็งตับในระยะเริ่มแรก เพราะเวลาที่ก้อนเล็กๆ ตับยังสามารถทำงานได้เกือบปกติ จะปรากฏอาการที่ชัดเจนขึ้น   ก็เมื่อก้อนมะเร็งได้ขยายขนาดที่ใหญ่มากแล้ว  หรือใน กลุ่มที่มีอาการอุดตันของทางเดินน้ำดี  จึงเป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับมักมีอัตราการอยู่รอดเพียงไม่กี่เดือน เพราะเมื่อพบก็สายเกินไปแล้ว



แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ 1
ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเราพบว่ามะเร็งตับมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นมะเร็งตับ

จึงอาจจะเป็นความหวังของคนในอนาคตที่จะปลอดภัยจากโรคมะเร็งนี้ หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีมาร่วม 20 ปี แล้ว จึงมีความหวังว่าในอนาคตโรคนี้จะลดลง

นอกจากนั้น เชื่อว่า  การดื่มแอลกอฮอล์ หรือตับแข็ง  หรือ  สารอะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin)   ซึ่งพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ก็เป็นสารก่อมะเร็ง จะเป็นตัวเสริม เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับ  หากเราสามารถหลีกเลี่ยงทั้งในฐานะผู้บริโภค หรือ ผู้จำหน่าย เราคงจะลดโอกาสการเกิดมะเร็งของลูกหลานเราในอนาคตครับ

แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ 2        
เป็นการโชคดีที่โรคมะเร็งตับ สามารถที่จะตรวจคัดกรองได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี อายุเกิน 40 ปีขึ้นไปและมีอาการตับแข็งร่วมด้วย ควรจะต้องตรวจร่างกาย อย่างน้อยทุก 6 เดือน  พร้อมกับการ ตรวจเลือดหาระดับ อัลฟา ฟิโตโปรตีน (Alfafeto-Protein) ซึ่งเป็น Tumor Marker ที่มักพบในผู้ป่วยมะเร็งตับ แต่ก็มีประมาณ 30% ของผู้ป่วยมะเร็งตับพบว่ามีค่าอัลฟาฟิโตโปรตีนปกติ  ซึ่งต้องอาศัยการตรวจทางเอกซเรย์ร่วมด้วย

การทำอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจหาก้อนมะเร็งในตับที่ง่ายสะดวก สามารถพบก้อนมะเร็งระยะเริ่มแรกที่มีขนาดเล็ก ๆได้

ปัจจุบัน การตรวจโดยใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า CT Scan จะเป็นเครื่องมือที่สามารถเห็นมะเร็งที่มีขนาด 1 ซ.ม.ได้  โดยเฉพาะการใช้เทคนิคจำเพาะ ในการดูการไหลเวียนเข้าออกของเลือดในก้อนเนื้องอก จะช่วยวินิจฉัยแยกโรคได้ชัดเจน

เมื่อใช้ ผลเลือด ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก็จะมีความแม่นยำมากขึ้น
และวันนี้ หากท่านเป็นไวรัสตับอักเสบบี ท่านก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ หากพบในระยะเริ่มแรก ก็ยังมีโอกาสหายครับ

แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ 3 
เมื่อถึงขั้นตอนการรักษา ปัจจุบันการรักษามีความก้าวหน้ามากมาย ทั้งด้านการผ่าตัด  การฉายรังสี  การใช้คลื่นความร้อน RF  การอุดเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงมะเร็งร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือ การใช้ยามุ่งเป้า ที่เพิ่มความหวังให้กับผู้ป่วย แต่ข่าวที่เราได้รับมักจะเป็นการสูญเสียมากกว่า   เมื่อใดที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งตับ มักจะรู้สึกหมดหวังทันที  วันนี้ เราจึงจะนำตัวอย่างของ ความหวังในความหมดหวัง  เหมือนเวลาเดินหลงทางในอุโมงค์ที่มืดสนิทและเห็นแสงสว่างร่ำไรอยู่ไกลๆ

ดอน จมูกบาน" เผยชีวิตเฉียดตาย สู้มะเร็งระยะสุดท้าย 5 ปี ผ่าตัดตับออกจากร่างกายร่วมกิโล เรียกได้ว่ามีชีวิตรอดตายราวกับปาฏิหาริย์ สำหรับนักแสดงตลกรุ่นใหญ่  หลังตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย มานานกว่า 5 ปี  และได้เข้ารับการผ่าตัดจนหายและกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติดีราวกับคนไม่เคยป่วยมาก่อน (ข่าวจากมติชน และ ผู้จัดการ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558  )   
         
คุณดอน จมูกบาน ผู้ซึ่งเคยสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกับพวกเรามายาวนาน วันนี้ ข่าวคุณดอน คงสร้างรอยยิ้ม ความหวัง และ กำลังใจให้ผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วยด้วยมะเร็งตับได้บ้างนะครับ
อาจจะกล่าวได้ว่านี่ คือ ความหวังในความหมดหวัง  เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่จะนำทางให้เราเดินต่อไปครับ สู้ๆครับ