วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง ตอน การปฏิบัติตัวอย่างง่ายๆเพื่อความสุขของผู้ป่วยมะเร็ง


บทความที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงความเครียดที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเกิดโรคมะเร็ง วันนี้เราจะมาพูดถึงการปฎิบัติตัวอย่างง่ายๆ เพื่อความสุขของผู้ป่วยมะเร็งนะครับ

ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
ผู้ป่วยบางรายที่เริ่มเครียดตั้งแต่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง แล้วขจัดความเครียดโดยไม่ถูกวิธี จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อโรคและการรักษา  เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า   รวมทั้งการไปในสถานที่แออัด    ในที่ชุมชนต่างๆ  เช่นตลาด หรือ โรงภาพยนตร์  

บางรายเครียดที่ต้องนอนอยู่กับเตียง ไม่ได้ทำกิจกรรมซึ่งเคยทำตามปกติ  มีความเบื่อหน่ายไม่อยากรับประทานอาหาร บางรายเรียกหาแต่ของกินเล่นที่ชอบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

ผู้ป่วยที่เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล กลัวจนสู่ภาวะสิ้นหวังถึงกับไม่ตั้งใจรับการรักษาไม่ยอมดูแล สุขภาพ ไม่สนใจในเรื่องการรับประทานอาหารที่มีผลดีต่อโรคตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อความแข็งแรง ของร่างกาย อาจจะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้สูญเสียก่อนเวลาอันควร  

การบริหารจัดการที่ดีในการรับมือกับความเครียด จะลดความเสี่ยงเหล่านี้ลง การดูแลทางจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดด้วยวิธีการที่ไม่ยากต่อการปฏิบัตินัก ดังนี้

การฝึกการผ่อนคลายและการฝึกสมาธิ (Training in relaxation,meditation)
การผ่อนคลายความเครียดนั้น   หมายรวมถึงภาวะกายและใจ  ทางกายนั้นให้พยายามฝึกกล้ามเนื้อให้มีการหย่อนคลาย    วิธีการปฎิบัติที่ง่ายๆ  คือ การพยายามให้ตนเองอยู่ในลักษณะที่สบาย ปลอดโปร่ง  ใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ แต่หากยังคงใส่ชุดทำงานปกติ   อาจคลายปมที่รัดตัวเองอยู่ เช่น เสื้อนอก เนคไท ผ้าพันคอ เพื่อไม่ให้อึดอัด

ในเวลาที่ทุกอย่างดูวุ่นวายรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน หรือไม่ว่าภาวะใด ที่ทำให้เราต้องเครียดจากสิ่งเร้าต่างๆ ให้เราฝึกใจให้ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบตาม ได้แก่ การหายใจให้ช้าลง หายใจเข้าช้าๆลึกๆ กลั้นใจนิดหนึ่ง  หายใจออกอย่างช้าๆให้สุด เหมือนเวลาทำสมาธิ  ภาวะเหนื่อยหายใจไม่ออก มึนศีรษะ     จะดีขึ้นอย่างทันตาเห็น

การทำสมาธิมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบ ปล่อยวาง หากผู้ป่วยไม่ทราบจะทำแบบไหน ไม่เคยศึกษามาก่อน ก็ขอความช่วยเหลือจากญาติเพื่อนฝูงหรือสถานปฏิบัติธรรมที่น่าเชื่อถือ เพื่อศึกษาแนวทางปฎิบัติ อย่างไรก็ตาม ในการทำสมาธินั้น ไม่ได้หมายถึงการที่ต้องเดินทางไปวัดหรือ สำนักวิปัสสนาเท่านั้น แม้แต่ผู้ป่วยต้องอยู่คนเดียวนานๆ   เราก็สามารถทำได้ โดยเลือกทำอะไรที่ชอบ ให้เกิดความเพลิดเพลิน เช่น การเล่นเกมส์ ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง

ผมมีผู้ป่วยอยู่คนหนึ่งที่ชอบเล่นเกมส์มาก  เป็นผู้ใหญ่แล้ว พี่สาวที่ดูแล  จะแสวงหาเกมส์ใหม่ๆ ที่สนุกมาให้เล่น  ซึ่งจะช่วยให้เพลิดเพลิน ส่งผลให้ลดอาการปวดทั้งความถี่ และความรุนแรง  โดยเฉพาะช่วงที่เล่นเกมส์ ผู้ป่วยจะสดชื่นขึ้น และลืมอาการปวดนั้น การใช้ยาก็จะห่างและปริมาณน้อยลง

ให้เวลากับตัวเอง ได้คิดได้ตั้งสติ ทำใจให้ช้าลง ปล่อยวางงานต่างๆ คลายความกังวลลง   ลองทำไปเรื่อยๆจนกลายเป็นธรรมชาติ  แต่เมื่อไรที่รู้สึกว่าเริ่มเศร้า เหงาท้อแท้หดหู่  ให้ติดต่อใครสักคนที่คิดว่าช่วยเราได้   อย่าพยายามจมดิ่งกับแนวคิดในทางลบ ก็จะเป็นผู้ป่วยที่สามารถรับมือกับผลกระทบต่างๆได้ดีขึ้น

การออกกำลังกาย  ( Exercise )
การออกกำลังกาย ที่ปลอดภัย เหมาะสม ไม่หักโหม ตามอายุและสภาพของโรค จะทำให้เกิดการผ่อนคลายความเครียดได้    ที่ง่ายที่สุด คือ การเดินหรือวิ่งช้าๆ นอกจากจะกระตุ้น ให้ร่างกายมีการหลั่งของเอ็นดอร์ฟินแล้ว  ซึ่งจะมีผลทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน ลองลุกออกจากที่นอน เดินรอบห้อง เหมือนเดินจงกรม ผ่อนการหายใจ จนกระทั่งการออกนอกห้องที่อุดอู้ไปสู่ภายนอก จะเป็นสวน หรือ อีกห้องที่มีบรรยากาศที่แตกต่างจากห้องนอน ก็จะรู้สึกมีความสุขมากขึ้น
ขอเน้นอีกครั้งว้า การออกกำลังกายต้องเหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลว่าทำได้หรือไม่  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือมะเร็งที่กระจายหรือมีโอกาสกระจายไปที่กระดูก จะต้องไม่หักโหม จนเสี่ยงต่อการหักได้

ดนตรีบำบัด (Musical Therapy)
ดนตรีบำบัด  เป็นศาตร์หนึ่งที่น่าสนใจ  จะ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส และสมองเรา หลายคนผ่อนคลายด้วยการฟังเพลง  แต่ระวังในการเลือกเพลงด้วยโดยเฉพาะเพลงเศร้าๆ ควรเป็นเพลงที่ฟังแล้วสนุก ครึกครื้น  แต่บางครั้งที่ต้องการความสงบหรือการพักผ่อน ก็อาจจะใช้เพลงบรรเลง ที่ฟังได้อย่างไม่มีขอบเขต ที่สามารถปล่อยอารมณ์ไปเรื่อยๆ ที่ไม่ได้ให้ความใส่ใจในความหมายของเพลง เชื่อว่าการผ่อนคลายนี้ จะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น

ยังมีอีก 2 วิธีที่ต้องอาศัยบุคลากรของโรงพยาบาลในการจัดให้เกิดขึ้น คือ การเรียนรู้ทางด้านโรคมะเร็ง (Cancer Education) เพื่อให้เข้าใจ ให้มีความหวัง รู้ทิศทางและโอกาสความเป็นไป เพื่อการรับมือที่ถูกต้อง  อีกวิธี คือ การจัดกลุ่มสนทนา (Group Therapy) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน   ซึ่งบางโรงพยาบาลได้มีการดำเนินการอย่างน่าชื่นใจยู่แล้ว
หวังว่าท่านผู้อ่านในทีมสู้มะเร็งของเรา ไม่ว่าผู้ป่วย ญาติ บุคลากรทางการแพทย์ คงจะให้ความสำคัญเรื่อง ความเครียดของผู้ป่วยมะเร็ง  ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างง่ายๆ ควบคู่ไปกับการรักษาหลัก เพื่อความสุขของผู้ป่วยนะครับ



1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยกับการจัดให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดห็นเพื่อผ่อนคลายและนำข้อ

    ตอบลบ