วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การตรวจร่างกายด้วยตนเอง ตอนที่ 5: การตรวจช่องปากและภายในลำคอ



ภายในช่องปาก ประกอบด้วยส่วนต่างๆ นับตั้งแต่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือกและฟัน ลิ้น เพดานปากและลิ้นไก่ ทอนซิล ผนังลำคอด้านหลัง รวมทั้งบริเวณใต้ลิ้น ซึ่งอาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ในทุกตำแหน่ง
อาการที่อาจพบ คือ
1. เจ็บในคอ หรือเจ็บเวลากลืน โดยทั่วไปแล้ว ในระยะเริ่มแรกของมะเร็ง มักไม่มีอาการเจ็บ นอกจากมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย แต่มะเร็งของลิ้น หรือลำคอในบางตำแหน่งอาจทำให้เกิดการเจ็บในหูขณะกลืนอาหารได้ เพราะมีเส้นประสาทร่วมกัน บางครั้งจึงไม่ได้รับการใส่ใจกับการตรวจในช่องปากและลำคอโดยตรง
2. เป็นแผล หรือก้อนที่ตำแหน่งต่างๆ เช่น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลิ้นไก่ ลิ้นและใต้ลิ้น
3. มะเร็งของลิ้นและพื้นปากใต้ลิ้น อาจมีอาการแลบลิ้นไม่ออก พูดไม่ชัด กลืนอาหารไม่สะดวก เพราะการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่เป็นปกติ
4. ในรายที่รอยโรคอยู่ใกล้ขากรรไกร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ที่เหงือกในตำแหน่งหลังต่อฟันกราม ซึ่งถ้ามีการลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อที่ใช้ในการอ้าปาก หรือข้อขากรรไกร  จะทำให้อ้าปากลำบาก
การตรวจช่องปากอย่างง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยการอ้าปากให้กว้าง ใช้นิ้วเกี่ยวดึงมุมปากออกจากบริเวณเหงือกและฟัน เพื่อตรวจดูบริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม และร่องระหว่างกระพุ้งแก้มกับเหงือก ทีละด้าน จากนั้นใช้มือจับริมฝีปากดึงออก เพื่อตรวจดูทางด้านในของริมฝีปากและเหงือกด้านหน้าทั้งข้างบนและล่าง
ส่วนเหงือกด้านใน เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล รวมทั้งสิ้น สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยการอ้าปากกว้างๆ และแลบลิ้นออกมาตรงๆ จะเห็นอวัยวะดังกล่าวได้ชัดเจน หลังจากนั้น ให้แลบลิ้นเฉียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อดูทางด้านข้างของลิ้น ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบความผิดปกติได้บ่อย แล้วจึงกระดกลิ้นขึ้นเพื่อตรวจดูบริเวณใต้ลิ้น และเหงือกด้านล่าง
ในการตรวจนั้น ควรใช้มือคลำด้วย โดยเฉพาะบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้มและใต้ลิ้น จะช่วยให้ตรวจได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะในบางครั้ง ก้อนมะเร็งอาจเริ่มที่ตำแหน่งใต้ต่อผิวเยื่อบุ จึงไม่อาจมองเห็นได้จนกว่าจะแตกออกเป็นแผล
ในผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอมที่มีแผ่นพลาสติกครอบเหงือก ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อบริเวณที่แผ่นพลาสติกครอบทับอยู่ เพราะฟันปลอมที่ไม่แน่นพอดี จะทำให้เกิดการระคายเรื้อรังและเกิดเป็นมะเร็งของเหงือก หรือใต้ลิ้นได้

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ4 ตุลาคม 2557 เวลา 02:42

    คุณแม่ใส่ฟันปลอมมานานมาก ปัจจุบันท่านไม่อาจไปหาหมอปรับความพอดี ฟันหลวมจึงใส่เฉพาะตอนเคี้ยวอาหาร จะเป็นไรไหมครับ

    ตอบลบ