วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

ข่าวดี สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม Triple Neg ปี 2017


ภาพประกอบจาก: http://www.joanlunden.com
มะเร็งเต้านมชนิด Triple Neg  คืออะไร

คำนี้มักจะใช้สื่อกันในหมู่แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ในการจำแนกผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยอาศัยตัวรับฮอร์โมน และความผิดปกติของยีนส์ ซึ่งจะเป็นรายละเอียดที่มากกว่า การบอกชนิดของมะเร็งเต้านม และ การบอกความรุนแรงตามขนาดก้อนและการลุกลาม ซึ่งเป็นมาตรฐานในการกำหนดการรักษา
                   
โดยทั่วไป มาตรฐานการรักษาจะถูกกำหนดตามระยะโรค ซึ่งอาศัยขนาดก้อน การลุกลามในต่อมน้ำเหลือง และการกระจายของโรค และด้วยธรรมชาติของมะเร็งเต้านม ที่มักจะมีการแพร่กระจายสูง การรักษาเสริม จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งการรักษาในเวลาที่มีการกระจายแล้ว
                    
สิ่งที่บ่งบอกความรุนแรงและพยากรณ์โรค ที่ถูกนำมารวมในการกำหนดแนวทางการรักษา คือ ตัวรับฮอร์โมนในเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีทั้งชนิด เอสโตรเจน, โปรเจสโตโรน (Estrogen, Protesterone Receptors) รวมทั้งการมียีนส์ ชนิด HER-2/neu  

การที่มีตัวรับทั้ง 3 ชนิดนี้ จะเป็นตัวแสดงถึงการตอบสนองต่อฮอร์โมน และยามุ่งเป้าในกลุ่ม Her-2 ที่รู้จักกันดีในชื่อ Herceptin                        
                   
ผู้ป่วยมะเร็ง Triple Neg ที่ใช้เรียกกันย่อๆ จึงหมายถึงกลุ่มที่ไม่มีตัวรับทั้งสามชนิดอยู่ ทำให้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนและยา Herceptine จึงจัดเป็นกลุ่มโรคที่รุนแรงและมีปัญหาในการรักษา รวมทั้งพยากรณ์โรคไม่ดี
                     
หลายปีที่ผ่านมา มีการศึกษามากมาย เพื่อเอาชนะมะเร็งในกลุ่มนี้ ที่ฝากความหวังไว้แต่เพียงยาเคมีบำบัด ซึ่งมีผลดีในระดับหนึ่ง แต่ภาวะแทรกซ้อนนั้นมากมายในปัจจุบัน มีการค้นพบยาในกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า CDK Inhibitor และถูกนำมาศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มนี้                      
                      
CDK หรือ Cyclin-Dependent Kinase นั้นมีหลายชนิด มีบทบาทหลายอย่างรวมถึงการควบคุมวงจรเซลล์ ในระยะต่างๆกัน จึงเป็นเป้าหมายใหม่ในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง ดังตัวอย่างเช่น ยาในกลุ่ม CDK Ihibitors ที่วางจำหน่ายแล้วได้แก่ Palbociclib (ยับยั้ง CDK4 และ CDK6) ที่นำมาใช้เป็นยารักษามะเร็งเต้านม
                        
ในต้นเดือนมกราคม  2017  มีข้อมูลจาก
www.medicaldaily.com/breast-cancer-treatment-2017 โดย Kelsey Drain Close และอีกหลายรายงาน เช่น Science ที่ได้กล่าวถึงความหวังของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน คือ Drug May Halt Metastasis-Triple-Negative-Tumors ยาที่อาจจะหยุดยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก U.S. FDA
                       
โดยอ้างอิงการศึกษา จากเมโยคลินิค (Mayo Clinic)  ของ Zhenkun Lou, Ph.D ว่ายาที่หยุดยั้งในการแพร่กระจาย ของมะเร็งหลายชนิด ก็สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายในมะเร็งเต้านมกลุ่มนี้ ซึ่งมี CDK 4/6 ที่เป็นตัวควบคุมโปรตีน ที่รู้จักกันดี เรียกว่า SNAIL ที่เชื่อมโยงกับการแพร่กระจายของโรค   
                        
แม้ว่ายานี้จะไม่ลดการโตของเซลล์มะเร็ง แต่การลดอัตราการแพร่กระจายได้ ย่อมทำให้อัตราการอยู่รอดสูงขึ้น 
                      
พร้อมกันนี้ Matthew Goetz, M.D., จากสถาบันเดียวกัน ก็ได้ศึกษาบทบาทของ CDK 4/6 inhibitors  และการลดการแพร่การกระจายในมะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-eNgative Breast Cancer ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจาย
                   
นับว่าเป็นความหวังหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม Triple Neg ที่แม้จะมีพยากรณ์โรคที่ไม่ดี แต่เชื่อว่าในไม่ช้า เราก็คงจะสามารถเอาชนะโรคในกลุ่มนี้ ด้วยการค้นพบใหม่ๆและรายงานที่ชัดเจนมากขึ้น และที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือกำลังใจที่เข้มแข็งของทีมสู้มะเร็งนะครับ
                  
ส่วนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจะเป็นอย่างไร อยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา ที่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเสี่ยง รวมทั้งความคุ้มค่าในการใช้ยาตัวนี้ ร่วมด้วยหรือไม่ครับ

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

ข่าวดี เรื่องมะเร็งเต้านม ในประเทศไทย

ภาพประกอบจาก: http://thelibertarianrepublic.com/facebook-censors-breast-cancer/

วันนี้ผมขอนำเรื่องดีๆสำหรับคนไทย และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทย จาก 2 สถาบันใหญ่ของประเทศในด้านสาธารณสุข ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งของท่านผู้อ่าน อาจจะทราบข่าวอยู่แล้ว
              
ข่าวแรก จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 10 มกราคม 2560 ในหัวข้อข่าว 
"ศิริราช" ตั้งเป้า รอด 100% ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1
          
เป็นการแถลงข่าวของ นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลศิริราช ประสบผลสำเร็จ เทียบเท่ามาตรฐานโลกโดยที่ผู้ป่วยระยะที่ 1     มีโอกาสรอดที่ 10 ปี เท่ากับ 95% โรงพยาบาลศิริราชได้พัฒนาการรักษามะเร็งเต้านมครบวงจรอย่างต่อเนื่อง และวางเป้าหมายไว้ว่าในระยะ 5 ปี ข้างหน้า จะต้องเอาชนะมะเร็งเต้านมให้ได้ โดยผู้ป่วยในระยะ 0-1 ต้องมีอัตราการรอดชีวิตเท่ากับ 100% และ เกินกว่า 90%และ 80% ในระยะที่ 2,3 ตามลำดับ
                    
พร้อมกันนี้ นพ. พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชา ศัลยศาสตร์ศีรษะคอและเต้านมกล่าวว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 1 ล้านรายต่อปี ในประเทศไทย คาดว่าในปี 2560 จะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 20,000 ราย โดยมีอุบัติการณ์เพิ่มมากที่สุดในภาคกลาง อาจเนื่องจากมลภาวะและแนวทางการดำเนินชีวิต
                  
ทั้งนี้ผลการรักษามะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลศิริราช มีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี เท่ากับ 92.1% ซึ่งไม่ต่างจากของสหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ที่ 89.6% และอัตราการรอดชีวิตที่ 10 ปีของศิริราชอยู่ที่ 85.6% เมื่อเทียบกับของสหราชอาณาจักรที่ 79% ซึ่งเป็นผลที่แสดงให้เห็นว่าผลสำเร็จในการรักษามะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลศิริราช เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลอย่างประเทศสหราชอาณาจักร
                    
ส่วนอีกข่าวถัดมา เกี่ยวกับบ้านพักผู้ป่วย ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 11 มกราคม 2560  
                    
ด้วยแรงบันดาลใจจากการได้พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไร้ที่พึ่ง ทำให้ นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิศูนย์ มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีแนวคิดในการจัดสร้าง บ้านพิงพัก (Pink Park Village) เป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้งในระยะสุดท้ายและผู้ป่วยที่กำลังรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาส ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นศูนย์วิจัยและวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม บนพื้นที่ย่านมีนบุรี กรุงเทพฯ
                   
ขอให้พวกเราช่วยกัน บอกกล่าวประชาสัมพันธ์การระดมทุน โดยดูคอนเสิร์ตการกุศล Pink Park Charity Concert น้ำเอยน้ำใจ อัสนี-วสันต์ & The Divas’ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ณ รอยัลพารากอน จองบัตรที่ Thai Ticket Major 

นอกจากนี้ ก็ยังสามารถสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งได้ที่ศิริราชมูลนิธิ หรือผ่านโรงพยาบาล และศูนย์มะเร็งของมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ที่ยังต้องการทุนทรัพย์ในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยมะเร็งนะครับ
                         
เรามีความหวัง และจะช่วยกันและกันต่อไป วันนี้ เป็นมะเร็งเต้านม วันต่อๆปก็จะเป็นมะเร็งอื่นๆ จนกระทั่ง ทีมสู้มะเร็งของเราจะประสพความสำเร็จในทุกชนิดของมะเร็งครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

แนวทางหนึ่งในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง (CA Rectum)


การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงที่อยู่ในระยะโรค T2-3N0-2M0 (ระยะที่โรคลุกลามเกินกว่าชั้นเยื่อบุ   โดยอาจจะมีต่อมน้ำเหลืองโต หรือไม่ก็ได้ และยังไม่มีการแพร่กระจายของโรคไปที่อื่น) จะเป็นการผ่าตัด ร่วมกับการใช้ยาและรังสี โดยจะเป็นการให้ก่อน หรือ หลังการผ่าตัด ทั้งนี้กลุ่มที่ให้ก่อนการผ่าตัดนั้น  ยังมีความมุ่งหวังที่จะรักษาหูรูดไว้ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ถุงอุจจาระที่หน้าท้อง
                    
วันนี้ผมจะกล่าวถึงแผนการรักษา อันเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกแก่ผู้ป่วยซึ่งอาจจะเป็นแนวทางมาตรฐานในอนาคต
                    
จากรายงานการศึกษาของ Rasulov AO สถาบันวิจัย N.N. Blokhin Russian Cancer Research Center ประเทศรัสเซีย โดยการให้ความร้อนเสริมในการการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนตรงที่มีการฉายรังสีร่วมกับยาก่อนการผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง T2-3N0-2M0 Primary Rectal Cancer
                   
ผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีระยะเวลาสั้น คือการให้ปริมาณรังสี 25 Gy ในปริมาณ 5 Gy ต่อครั้ง ร่วมกับยา Capecitabine ซึ่งโดยทั่วไปการฉายรังสี มักจะใช้ 2 Gy ต่อครั้ง เป็นจำนวน 25 ครั้ง หรือ 5 สัปดาห์   
                   
ยา Capecitabine จะให้วันละ 2 ครั้ง 1000 mg/m2 ในวันที่ 1-14
                   
การให้ความร้อน หรือ Local Hyperthermia 41-45°C  60นาที ในวันที่ 3 ถึง 5 และยา Metronidazole 10 g/m2 เข้าทางทวารหนัก วันที่ 3 และ 5 

หลังจากนั้น ก็ตามด้วยการผ่าตัดแบบมาตรฐานในระยะเวลา 4 สัปดาห์
                
ผลการศึกษาในผู้ป่วย 81 ราย มีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด 11 ราย (13.8%) แบ่งภาวะแทรกซ้อน  ระดับ 3 จำนวน 10 ราย (12.3%) และระดับ 4 อีก 1 ราย
                  
การผ่าตัดแบบเก็บรักษาหูรูด (Sphincter-Sparing Surgery) ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องมีถุงอุจจาระหน้าท้อง สามารถทำได้ 78 ราย (96.3%)
                    
16 ราย หรือ (20%) มีการหายไปของผลทางพยาธิวิทยา Pathological Complete Response (pCR)
                    
การติดตามการรักษาที่ระยะเฉลี่ย 40.9 เดือน ไม่มีการกลับเป็นใหม่ แต่ 9 ราย (11.1%) มีการกระจายของโรค
                
อัตราการอยู่รอดที่ระยะ 3 ปี เท่ากับ 97% โดยปราศจากโรค 85%
                   
โดยสรุป การให้รังสีในระยะสั้น ร่วมกับยาและความร้อน เป็นการรักษาที่ปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่ดีไม่แตกต่างจากการให้รังสีระยะยาว
                 
จากวิธีการดังกล่าวข้างต้น เราจะเห็นผลค่อนข้างชัดเจนว่า การเสริมฤทธิ์ของการรักษาซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นยาต่อรังสี หรือ ความร้อนต่อยาและรังสี ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
                  
พร้อมกันนี้ เรายังสามารถนำหลักการนี้ที่เป็นลักษณะของ Trimodal Therapy ไปใช้รักษา ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือ ในกรณีที่โรคมีการกลับเป็นใหม่ โดยไม่ว่าจะเป็นการมุ่งหวังให้หายขาดหรือบรรเทาอาการ จะได้ผลการควบคุมโรค หรือ pathological CR ถึง 20%
                  
จึงนับได้ว่า การนำความร้อนมาร่วมรักษากับการฉายรังสีระยะเวลาสั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่เพิ่มผลการรักษา  ทำให้มีความสะดวก เพราะการรักษาใช้ระยะเวลาสั้น และยังใช้เป็นทางเลือกที่ดีมากในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

แหล่งข้อมูล  :  Int J Hyperthermia. 2016 Dec 15:1-19.


Short-course preoperative radiotherapy combined with chemotherapy, delayed surgery and local hyperthermia for rectal cancer: a phase II study.