วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สวัสดีปีใหม่


ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

สวัสดีปีใหม่ 2558 ครับ

คำอวยพรมากมายจากงานเลี้ยง
คำอวยพรนับร้อย นับพันจาก สคส ที่ส่งออกหรือได้รับ
ล้วนแล้วแต่มีความหมายคล้ายคลึงกันว่า ขอให้สุข สมหวัง และมีพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง

วันนี้เราจะมาเริ่มต้นปีพศ. 2558 ด้วยการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือให้กับตัวเราเองและส่งพรนี้ แก่เพื่อนร่วมโลก

ขอให้เราและทุกๆคนมีความสุข แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หากเจ็บมาก่อนแล้วก็ขอให้ทุเลาและหายดี มีชีวิตที่ดี  และสมปรารถนาทุกประการ

Blog หมอมะเร็งขอส่งความปรารถนาดีแด่ทุกท่านครับ
เราจะทำหน้าที่เขียนบทความ ส่งข่าวสารที่มีประโยชน์
ส่วนท่านช่วยกันอ่าน ทำความเข้าใจ และ เผยแพร่ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ เป็นการสร้างบุญ สร้างกุศล

เมื่อทุกคนเริ่มต้นด้วยการใฝ่รู้ สู้กับโรค โรคจะหาย กายจะแข็งแรงเมื่อนั้นใจจะสบาย แล้วทุกข์จะคลาย มีแต่ความสุข ที่มีสติ และมีสตางค์ ตลอดไป


โชคดีปีใหม่ครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แป้งและมะเร็ง - หอม เนียน สวย แต่มีปัญหา


หอม เนียน สวย  สบาย ไม่อับชื้น เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ ทุกเพศ ทุกวัย ต้องการ โดยเฉพาะในเมืองร้อนแบบประเทศไทย

คงไม่ต้องสงสัย  แป้ง คือสิ่งที่เรานำมาใช้ตั้งแต่ทารกแบเบาะ  เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
แป้งมีส่วนผสมของ Talc ซึ่งจัดเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีชื่อทางเคมี คือ Magnesium Silicate Hydroxide  

คุณสมบัติหนึ่ง  คือ สามารถดูดซับความชื้น ทำให้พื้นผิวที่มันเคลือบอยู่แห้ง เนียนลื่น ให้ความรู้สึกเรียบ แห้ง สะอาด มีการนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น การทำสี เซรามิค การทำเครื่องสำอาง เช่น บลัชออน อายชาโดว์ และแป้ง โดยจะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของแป้งฝุ่นเกือบทุกชนิด รวมทั้งแป้งเด็กด้วย

การที่ Talc มีสีขาวและโปร่งแสง ทำให้กลมกลืนไปกับผิว โดยจะเอามาบดจนละเอียด และผสมวิตามิน น้ำหอม และสารอื่นๆลงไป ทำให้ได้แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีกลิ่นหอม

ทำไมมีปัญหา ต่อวงการโรคมะเร็ง

อันดับแรก ที่รู้กันมานานในผู้ป่วยและญาติ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ว่าจะต้องไม่ใช้แป้งในบริเวณที่ฉายรังสี เพราะจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อผิวหนังได้มากขึ้น เมื่อรังสีกระทบกับแป้งทำให้เกิดรังสีกระเจิง

สิ่งที่จะพูดในวันนี้ คือ คำถามที่มีมายาวนานว่า แป้งที่มีส่วนประกอบ Talc เป็นสารที่อาจจะก่อเกิด มะเร็ง รังไข่  หรือไม่

จากการศึกษาวิจัย พบว่า การใช้แป้งบริเวณเชิงกราน จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ มากถึง 2 เท่า และมีรายงานสนับสนุนพบว่า คนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 3 ของรังไข่แบบ Papillary Serous จะมีแป้งอยู่ในต่อมน้ำเหลืองที่อุ้งเชิงกราน นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า การใช้แป้งบริเวณอวัยวะเพศ อาจจะมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งของรังไข่แบบเซลล์บุพื้นผิว (Epithelial cancer) โดยเชื่อว่า แป้งที่หลงเข้าไปในร่างกาย จะผ่านไปยังช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่และเข้าสู่ช่องท้อง เนื่องจาก Talc เป็นสารอนินทรีย์ ไม่สามารถย่อยสลายได้ในคน ทำให้เกิดการสะสม และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

ปัจจุบัน บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการเปลี่ยนจาก Talc มาเป็นแป้งข้าวโพด ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ในคน โดยคาดว่าน่าจะปลอดภัยกว่า       
         
นอกจากนี้เมื่อมีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า ถ้าหนูทดลองสูดดมสาร Talc เข้าไปภายในระยะเวลา 1-2 ปี จะก่อให้เกิดเนื้องอกของปอด ทรวงอก และระบบทางเดินหายใจ

มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ภาวะการอักเสบมีส่วนสำคัญในการเกิดมะเร็งรังไข่

แต่ในอีกความเชื่อหนึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องเกิดการอักเสบจากการสัมผัสโดยตรง แต่ผ่านกระบวนการลด Anti-MUC1 antibodies   ซึ่งปกติจะเป็นตัวที่ลดอัตราความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่    
       
ด้วยรายงานที่มีความแตกต่างกัน จึงมีการศึกษาทบทวน แต่ก็เป็นการยากที่จะสรุปได้ชัดเจนว่าแป้งทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ แม้แต่รายงานที่พบความสัมพันธ์ว่าผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มีการใช้แป้ง แต่ก็ไม่มีการศึกษาว่า จำนวนที่ใช้จะมีความสัมพันธ์หรือไม่  ที่สำคัญที่สุด คือ แป้งแต่ละชนิด ก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกัน  ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการเปรียบเทียบทางระบาดวิทยาของการใช้แป้ง   

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลต่างๆ ในปี  2006 The  International Agency for Research on Cancer (IARC)  ได้จัดระดับความน่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง  โดยการใช้แป้งในบริเวณเชิงกราน อยู่ในระดับ2 B   (ถ้าสารใดเป็นสารก่อมะเร็ง เราจะให้ระดับที่ 1 และระดับที่ไม่ใช่สารก่อมะเร็งจะเป็นระดับ 4)                  
สิ่งที่น่าสนใจ คือ จากการศึกษาแป้งในท้องตลาดประเทศไทย  จำนวน 24   ชนิด ของ คุณ กมลรัตน์ ลีดี    พยาบาลหน่วยรังสีมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ พบว่า มี  Talc ผสมอยู่ถึง 23 ชนิด

ดังนั้นเราควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะบนพื้นฐานที่ไม่สามารถชี้ชัดทางระบาดวิทยาที่จะแสดงความสัมพันธ์ได้ชัดเจน การใช้แป้งทาหน้า ทาตัว หรือที่ต่างๆ ในร่างกาย ต้องใช้เมื่อจำเป็น ในปริมาณที่น้อยๆ และต้องระวังอย่าให้ฟุ้งในอากาศ เพราะจะทำให้ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และไม่ควรใช้ใช้แป้งกับอวัยวะเพศ เนื่องจากเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา ขาว เนียน สวย ต้องปลอดภัยด้วยนะครับ
แหล่งข้อมูล  JNCI Vol. 106 September 10, 2014




วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การหาความเห็นที่สองทางการแพทย์ ( SECOND MEDICAL OPINION) ตอนที่ 2

อย่างที่กล่าวถึงในการหาความเห็นที่สองในตอนที่แล้ว มาดูข้อควรคิดเมื่อต้องการหาความเห็นที่สองกันครับ

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

ข้อควรพิจารณาในเวลาที่คิดว่าเราจำเป็นต้องไปขอความเห็นที่สอง คือ

1. เรายังคงเป็นผู้ป่วยของแพทย์ท่านเดิม
2. ต้องแน่ใจว่า โรคไม่ได้อยู่ในสภาวะเร่งด่วน
3. การขอความเห็นที่สอง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ หรือเพิ่มโอกาสการรักษาที่อาจจะมี แม้แต่การรักษาเชิงวิจัย ก็ตาม
4. ควรขอ ความคิดเห็นที่สอง จากแพทย์ที่เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ และมีประสบการณ์มากเพียงพอ
5. ควรเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ให้พร้อม เช่น แฟ้มประวัติ ผลการตรวจทุกชนิด  และจะดีที่สุด ถ้าได้บทสรุปหรือจดหมายจากแพทย์คนแรกไปด้วย
6.  ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการรักษา เพื่อความรวดเร็วและถูกต้องในประเด็นการปรึกษา
7. ถ้าญาติเป็นผู้ดำเนินการ ควรจะนำผู้ป่วยไปด้วย เพราะการให้ความเห็นของแพทย์จะสมบูรณ์ เมื่อแพทย์ได้มีโอกาสตรวจผู้ป่วย
8. อย่าตั้งธงในคำตอบ เพราะเราจะพยายามถามให้ได้ข้อมูลที่เราเลือกเข้าข้างตัวเราเอง เช่น ไม่อยากผ่าตัด ไม่อยาก ฉายรังสีเป็นต้น
9. ควรตั้งประเด็นการถามเปรียบเทียบผลการรักษา ภาวะแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายและอื่นๆที่สงสัย
10. สถานพยาบาลที่มีแพทย์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษา โดยเฉพาะในโรงเรียนแพทย์ ที่มีการประชุมร่วมสหสาขา หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการวางแผนการรักษา Tumor Board หรือ Tumor Clinic  มีโอกาสได้รับความเห็นที่มั่นใจได้มากที่สุด                   

การขอ Second Opinion ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งในสมัยนี้
เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่ยังมีการพัฒนาการรักษาอย่างมาก ทั้งต่างวิธีการรักษา เช่น การการฉายรังสีแทนการผ่าตัด หรือในวิธีเดียวกัน เช่นการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมโดยการตัดทั้งเต้าหรือบางส่วน หรือ เทคนิคการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องในมะเร็งทางสตรี เป็นต้น บางวิธีก็ยังม่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน (ดูบท การรักษาเชิงวิจัย)

แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันยังเป็นเรื่องยากในระบบการแพทย์ไทยที่ต้องมีองค์ประกอบของความเข้าใจ ความกล้าของผู้ป่วย ความใจกว้าง และความเข้าใจของแพทย์ ประกอบกับใจของผู้ให้ความเห็นที่สอง

สิ่งที่เป็นแก่นของเรื่องนี้ คือ การเอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ทุกคนทำเพื่อผู้ป่วย ความเห็นยอมมีเหมือนและมีต่าง  การตัดสินใจใดๆไม่มีเส้นกั้น ถูกและผิด เพราะทางการแพทย์ไม่มีคำว่าร้อยเปอร์เซนต์ แต่เจตนารมย์ คือ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยครับ


วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การหาความเห็นที่สองทางการแพทย์ (SECOND MEDICAL OPINION) ตอนที่ 1


บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อสร้างมิติใหม่ ในการช่วยผู้ป่วยและญาติ ในกรณีที่มีความสับสนในเรื่องโรค ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยหรือแผนการรักษา เพราะเรื่อง ความเห็นที่สองทางการแพทย์   เป็นสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย  แต่จะมีบริการเช่นนี้ในต่างประเทศ เพื่อให้ความคิดเห็น แต่ไม่ใช่การตัดสินใจ

วัฒนธรรมไทย ให้ความนับถือและเชื่อถือหมอ หมอว่ายังไงก็มักจะเชื่อตามนั้น ความสัมพันธ์แบบนี้ จริง ๆ แล้วก็มีข้อดี  เป็นความเข้าใจและผูกพันระหว่างหมอกับคนไข้ 

ถ้าเป็นทางธุรกิจ เราจะไม่แปลกใจ ที่จะเห็นบริษัทที่ปรึกษา ในรูปแบบของ Consultation   ช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อเอาชนะคู่แข่งขัน แต่ของเราเป็นการเอาชนะโรคนะครับ

เรื่องความเห็นที่สอง มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ โรคนั้นเป็นโรคที่วินิจฉัยและรักษายาก มีวิธีการรักษาสลับซับซ้อน เช่น โรคมะเร็ง หรือ เกิดจากความวิตกกังวลต่อวิธีการรักษา เช่น การผ่าตัดใหญ่ๆ   หากมีญาติหรือคนรู้จักเป็นหมอ ก็จะขอคำปรึกษากัน ลักษณะนี้จะคล้ายกับการขอความเห็นที่สอง แต่บางครั้งก็อาจจะไม่สมบูรณ์นักเพราะหมอ  ที่เรารู้จัก มีข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หรือไม่ มีความเอนเอียงในการตัดสินใจ โดยใช้ความรู่สึกของญาติมาเกี่ยวข้องหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการให้ความเห็นทั้งสิ้น
ความเห็นที่สองนี้ ไม่นับรวมการค้นหาข้อมูลทาง ไอที ด้วยตัวญาติหรือผู้ป่วยเอง ซึ่งยุคนี้ถึงกับเขียนกระทู้ถามเพื่อนๆชาวเน็ตก็มี

ขออนุญาตย้ำเตือนเรื่อง ข้อมูลทางไอที ไม่ว่าจะเป็น web หรือ blog ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง  เพราะแม้ข้อมูลจะถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า โรคของเราจะต้องรักษาแบบนั้นเสมอไปนะครับ ข้อจำกัดเพศ วัย สภาพร่างกาย ระยะโรค ล้วนเป็นปัจจัยในการตัดสินใจวางแผนการรักษา   

ในประสบการณ์ของผม ทุกครั้งที่ออกข่าวเทคนิคการรักษาใหม่ๆทางสื่อ ก็จะมีผู้ป่วยแห่มาจากทุกสารทิศ ซึ่งในจำนวนนั้น จะมีเพียงบางท่านเท่านั้นที่จะใช้เทคนิคนั้นได้

ดังนั้น การจะไปรักษาตามโรงพยาบาลที่มีการประชาสัมพันธ์วิธีการรักษาต่างๆ ที่อาจจะแตกต่างจากโรงพยาบาลที่เราตรวจรักษาอยู่   ควรอย่างยิ่งที่จะปรึกษาหมอของท่าน  ในการให้ความเห็นที่สองต่อ เทคโนโลยีนั้นๆ

จงเชื่อใจในจริยธรรมของแพทย์ แพทย์จะรักษาทุกคนเต็มสุดกำลังความสามารถในความรู้และเครื่องมือที่มีอยู่ แต่ถ้ามีสถาบันทางการแพทย์หรือในบริบทนั้น มีแพทย์ที่ทำได้ดีกว่า แพทย์จะแนะนำส่งต่อท่านไปเพื่อการรักษาที่ดีกว่า 

ข้อเสีย ที่เห็นได้บ่อยคือการแสวงหาความเห็นหลากหลายจนไม่ได้ข้อสรุป ความเห็นไม่ตรงกัน ระหว่าง ความเห็นที่หนึ่งและสอง หรือ 3,4 ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสในการรักษา โรคมะเร็งที่ลุกลามมากขึ้น  หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้การรักษาทำได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราต้องทำอย่างไร เพื่อได้ขอสรุปที่ถูกต้องที่สุด รวดเร็วที่สุด โปรดติดตามครั้งต่อไป


วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง ตอน เจ็บปวดกว่าเป็นมะเร็ง

เป็นความรู้สึกที่มาจากประสบการณ์ ของแพทย์ท่านหนึ่งที่แชร์มาให้ทีมสู้มะเร็ง ช่วยสื่อถึงผู้บริหาร แพทย์ผู้รักษา ช่วยกันเข้าใจความรู้สึก และหาทางช่วยให้เกิดเหตุการณ์นี้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้   
          
ครั้งหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจรักษาจำนวนมาก เนื่องด้วยความแตกต่างของเทคโนโลยีการบริการของรัฐกับเอกชน

แม่ลูกสอง มาตรวจที่ตึกผู้ป่วยนอก หลังจากการตรวจวินิจฉัย 3-4 ครั้งผ่านไป ก็ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจนว่า เป็นเนื้องอกในสมอง ในการรักษาให้ได้ผลดีและปลอดภัย มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาแพง

แพทย์ผู้รักษา จึงเชิญลูกสาวทั้ง  2 คน มาอธิบายฟิลม์ และวางแผนการรักษา ตลอดเวลา ทั้ง  2คนผลัดกันถาม เพื่อให้แน่ใจแนวทางในการรักษาแม่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่น่าแปลก ที่ยิ่งอธิบายถึงผลที่ดีชัดเจน สีหน้าของทั้ง 2 คน ก็เริ่มส่อแววกังวลมากขึ้น เมื่ออธิบายเสร็จ หมอ ก็รอคำตอบ คราวนี้ทั้ง 2 คน ก็เริ่มตาแดง จับมือกัน แล้ว ร้องไห้

หมออึ้ง สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะได้อธิบายแนวทางการรักษาที่ดีและมีความหวังให้แล้ว       หนึ่งในสองของลูกสาวผู้ป่วย  ส่งคำถามด้วยความท้อแท้ว่า

"หมอค่ะ มีวิธีอื่นหรือไม่ค่ะ เพราะก่อนหมอมา หนูได้คุยกับคุณพยาบาลและถามเจ้าหน้าที่เรื่องค่าใช้จ่ายแล้วค่ะ มันแพงเหลือเกิน”     

เราจะทำอย่างไร จึงจะช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง แม้เราจะยอมรับว่าโรงพยาบาลเอกชนมีความจำเป็นต้องมีการแข่งขันด้านการบริการ มีความสะดวกสบาย ราคาย่อมจะแพงกว่า
คนทั่วไปที่มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ  จำเป็นต้องอดทนไปรอคิวรับการตรวจรักษา ท่ามกลางความแออัด ของโรงพยาบาลรัฐ

เขาเหล่านั้น ยอมรับได้ในการตรวจ วินิจฉัยหรือรักษาที่อาจจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากกว่า
แต่เทคโนโลยีบางอย่างที่เป็นมาตรฐาน เราจะทำอย่างไร จึงจะเปิดบริการให้คุ้มค่า เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

ผู้กำหนดนโยบาย และผู้บริหารจะวางนโยบายอย่างไร จึงจะใช้งบประมาณที่มีอยู่ของประเทศให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

เราทราบดีว่า มะเร็งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง เป็นโรคที่ทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ  แต่ทุกข์ที่แฝงอยู่หลังตัวโรค มันเจ็บปวดยิ่งกว่ามะเร็ง เมื่อพบว่ามีโอกาสรักษาแต่เข้าไม่ถึงการรักษานั้น
เราไม่อยากให้เกิดคำพูด ความรู้สึก เหมือนลูกสาว 2 คน นี้  ที่ต้องก้องอยู่ในโสตประสาทตลอดเวลา

"หนูบาปหรือไม่ค่ะ หนูเป็นคนเลวหรือเปล่า ที่ไม่สามารถรักษาแม่ได้ เพราะมันแพงเหลือเกิน"


เรามาช่วยกันเยียวยาญาติกันเถอะครับ เพราะในชีวิตจริง ความเจ็บปวด ความกังวลของญาติ บางครั้งไม่น้อยกว่าคนที่ป่วยเป็นมะเร็งเลยครับ