วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การตรวจเพทสแกน (PET SCAN) กับโรคมะเร็ง

คำว่า เพทสแกน ที่เรียกกันสั้นๆนั้น ในปัจจุบัน หมายถึง  การตรวจด้วยเครื่อง PET/CT  ซึ่งเป็นการผสมผสานเอาเครื่อง  PET scan ที่สามารถบอกความผิดปกติ ความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี  ของระดับเซลล์ของร่างกายร่วมกับ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่เรารู้จักกันดีว่าการตรวจ CT ที่สามารถบอกความผิดปกติทางด้านกายวิภาคของร่างกายได้  เมื่อนำการตรวจทั้ง 2 มารวมกัน  ในเครื่องเดียว ใช้ดูตำแหน่งเดียวกัน เป็นการเพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โดยสามารถบอกตำแหน่งของรอยโรคควบคู่กับระดับการทำงานของเซลล์     

ด้วยเหตุที่ เพทสแกน   เป็นเทคโนโลยีใหม่ สำหรับคนไทย ซึ่งค่าตรวจแพง  ทำให้มีความเข้าใจผิดค่อนข้างมาก กับการตรวจเพทสแกน หรือ PET/CT ว่าเป็นเครื่องมือสุดวิเศษ ที่สามารถตรวจค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก รวมทั้งใช้ในการวินิจฉัยได้ ทำให้มีคำถามเสมอๆ ว่า ควรตรวจเพทสแกนหรือไม่ ด้วยความเชื่อที่แม้จะถูกต้องว่า โรคมะเร็ง เป็นโรคที่ยิ่งตรวจพบได้เร็วมากเท่าไร ก็จะเพิ่มโอกาสการรักษาให้ หายขาดได้   
แต่ในมุมมองของผมคิดว่าในปัจจุบัน เพทสแกน ไม่ใช่คำตอบสำหรับประชากรปกติครับ แต่ถ้าในอนาคต จะค้นพบสารที่จำเพาะ อาจจะเป็นการตรวจในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงได้

ปัจจุบันเพทสแกน  เป็นเพียงตัวช่วยวินิจฉัย เมื่อการตรวจมาตรฐานไม่สามารถบอกได้ เช่น  ผลเลือดผิดปกติ   ขณะที่การตรวจอื่นๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่สามารถยืนยันได้  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ถ้าผลตรวจ CEA สูง เอกซเรย์ ไม่พบรอยโรค หรือมีรอยโรคที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นมะเร็ง  ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยใหม่ หรือ กลุ่มที่ได้รับการรักษามาแล้ว เพราะการตรวจ CT และ MRI เป็นการตรวจที่บอกถึงโครงสร้างทางกายภาพ  ในกรณีเช่นนี้ การตรวจ เพทสแกนจะช่วยได้มาก  เพราะเครื่อง PET/CT เป็นการตรวจดูความผิดปกติของเซลล์ระดับเมตาบอลิซึม ซึ่งจะช่วยแยกก้อนมะเร็งจากพวกพังผืดได้

เพทสแกน จะเริ่มมีบทบาท ชัดเจนมากขึ้นในการกำหนดระยะโรค เพราะเป็นการตรวจได้ทั่วทั้งร่างกายพร้อมกันจากการตรวจเพียงครั้งเดียว จึงช่วย ให้ทราบได้ว่า มีโรคแพร่กระจายที่จุดใดของร่างกายบ้าง  ช่วยในการตัดสินใจวางแผนการรักษา เช่น การผ่าตัด  การฉายรังสี หรือ การให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น


ภาพตัวอย่าง แสดงการวางแผนการรักษาด้วยรังสี จากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จะเห็นภาพปอดด้านซ้ายทึบเป็นบริเวณกว้าง  เมื่อใช้ เพทสแกนร่วมด้วย จะได้บริเวณก้อนมะเร็งจริงเฉพาะบริเวณก้อนสีเหลืองเล็กๆ ทำให้เราสามารถให้รังสีพุ่งเป้าไปในส่วนก้อนที่แท้จริง   ทั้งนี้ส่วนทึบที่เหลือโดยรอบ คือ เนื้อปอดที่แฟบลงไปเท่านั้น เมื่อก้อนหายไป เนื้อปอด ก็จะขยายตัวได้ตามปกติ

อีกบทบาทสำคัญ คือ ใช้ในการติดตามดูโรค หรือ ประเมินผลการรักษา เช่น การตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด หรือ ยารักษามุ่งเป้า  ซึ่งมีราคาแพง และมีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก

นอกจากนี้อาจจะใช้ พยากรณ์โรคหลังการรักษา ตรวจการกลับเป็นซ้ำของโรค หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว โดยเป็นที่ยอมรับกันในมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งศีรษะ และลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร  ทั้งนี้ การยอมรับได้เพิ่มมากขึ้นในหลายโรค ด้วยสารเภสัชรังสีที่แตกต่างกัน

เพทสแกน มีประโยชน์มากในวงการมะเร็ง แต่ขอให้ใช้อย่างถูกต้อง หากใช้ไม่ถูกต้อง อาจจะเสียเงิน และเจ็บตัวฟรีได้ครับ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น