วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ข่าวที่น่าสนใจด้านโรคมะเร็ง

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2557 นี้ว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลกและไทย จากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขปี 2554 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละประมาณ 60,000 ราย หรือเฉลี่ย 7 รายต่อชั่วโมง และยังคงพบอัตราการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี ปอด ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ส่วนในเพศหญิง คือ มะเร็งเต้านม ปากมดลูก ตับและทางเดินน้ำดี ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่องและเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม    

ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. สิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส แบคทีเรียและพยาธิบางชนิด
2. พฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ที่พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ การดื่มสุรา รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและไหม้เกรียมเป็นประจำ และ
3. พันธุกรรม 

ปัจจุบันแพทย์สามารถรักษามะเร็งหลายชนิดให้หายได้หากพบในระยะแรก ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลยังพบด้วยว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก ที่พบว่าภายหลังจากมีบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงจากที่เคยพบอัตราการป่วยที่ 24 รายต่อแสนประชากร เหลือเพียง 16.7 รายต่อแสนประชากร

แหล่งข้อมูล  www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9570000133555

พร้อมกันนี้ในเดือนนี้ ก็ยังมีข่าวที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ ผู้มีชื่อเสียงในสังคมท่านหนึ่งเสียชีวิตจากมะเร็งปอด พร้อมกับข่าวการไม่ลดลงของปัญหาบุหรี่ในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังจากคณะผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกเข้ามาติดตามนโยบายการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการบริโภคยาสูบของคนไทยไม่ลดลง แต่เมื่อดูสถานการณ์โดยรวมแล้วพบว่าในพื้นการควบคุมยาสูบในเขตเมืองค่อนข้างได้ผลดี แต่พื้นที่ชนบทยังเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะขณะนี้พบว่าประชาชนหันมาสูบยาเส้น ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ซองเพิ่มมากขึ้น จนสัดส่วนแตะที่ 50% ของผู้สูบบุหรี่ทั้งประเทศ

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ปัญหามะเร็งยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่ต้องการความร่วมมือในการเผยแพร่ข่าวสาร เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันและตรวจคัดกรองอีกมาก ทั้งๆที่หน่วยงานของภาครัฐไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข หรือ สสส หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จะพยายามรณรงค์เรื่องบุหรี่มายาวนาน แต่สถิติที่ปรากฎก็ยังไม่ลดลง

เรามาช่วยกันสื่อปากต่อปากถึงทุกเรื่องของโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ การป้องกัน  การตรวจค้น การดูแล รักษา เพื่อคนที่ท่านรักและตัวท่านเองเถอะครับ


วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง ตอน เสียงหัวเราะที่หายไป...ขอเพียงเข้าใจ เสียงหัวเราะก็จะกลับคืนมา


 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
ช่วงเวลาในการรักษาโรคมะเร็งจะสั้นหรือยาวนาน ขึ้นอยู่กับอาการของโรคเป็นสำคัญ  สำหรับการดูแลทางกาย ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของแพทย์และทีมงาน อีกส่วนก็เป็นหน้าที่ของญาติและผู้ป่วย แต่ทั้งหมดค่อนข้างจะมีเหตุผลที่พอจะคาดเดาและวางแผนแก้ไขกันเป็นระยะๆ                     
             
แต่การดูแลทางด้านจิตใจนั้น  อาจจะยากกว่าเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีปัจจัยผันแปรที่ไม่สามารถคาดเดาได้แบบมีเหตุผล   ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตผู้ป่วยอาจจะชอบไปเที่ยว แต่เมื่อเกิดเป็นโรคขึ้นมาก็อาจจะชอบเก็บตัว ไม่อยากไปไหน พอญาติชวนไปเที่ยว ก็จะรู้สึกหงุดหงิด บ่นด้วยความไม่พอใจไม่รู้เหรอว่าไม่สบาย ชวนอยู่ได้ อยากไปก็ไปเองซิ รำคาญ  แต่ในบางอารมณ์ที่อยากไปเที่ยว ญาติกลับไม่ชวน ก็อาจจะรู้สึกน้อยใจ พูดตัดพ้อต่อว่า เราเป็นภาระใช่ไหม ไปกับเราไม่สนุกใช่ไหม เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนไม่ชวนกันแล้ว ไม่เป็นไร ไม่ไปก็ได้" แล้วก็เก็บตัวซึมเศร้า

อีกตัวอย่างของผู้ป่วย เมื่อก่อนเคยชอบขาหมูพะโล้ ตอนนี้พอซื้อมาให้ อาจจะบ่นว่า "รู้อยู่แล้ว ของมันไม่ควรกิน กินแล้ว เลี่ยน คลื่นไส้ แน่นท้อง" แต่พอไม่ซื้อ อาจรู้สึกเสียใจ "ตอนนี้ไม่สบาย ไม่สามารถไปซื้อของกินเองได้ ต้องรอของที่เขาเอามาให้ เหมือนใส่บาตร ตอนเป็นไม่ซื้อให้กิน ตอนตายจะซื้อมาไหว้ไหมรำพึงรำพันประชดประชันโดยไม่รู้ตัวว่าแต่ละคำที่พูดออกมามีผลกระทบต่อจิตใจตัวเองและผู้ดูแลแค่ไหน

....ไปกันใหญ่เลยครับ               

มาดูทางญาติที่ต้องรับผิดชอบคนเดียว ไม่มีผู้ดูแลอื่นช่วยเลย
เวลาสำหรับภารกิจส่วนตัวน้อยลงต้องจัดตารางวันพาผู้ป่วยไปหาหมอ  รักก็รัก ห่วงก็ห่วง แต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงเพิ่มขึ้น ภาระหน้าที่การงานเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน จะบอกว่าวันนี้เจ้านายเรียกประชุมด้วยก็ไม่ได้ กลัวผู้ป่วยน้อยใจ จะไม่ไป ก็จะมีปัญหาเรื่องงาน ทำอย่างไรดี  ตอนแรกใช้วันลาพักร้อน ลากิจ  นานเข้าวันลาก็หมด  ต่อมาตอนกลางวัน ก็ต้องทิ้งให้ผู้ป่วยอยู่บ้านคนเดียว จิตใจก็กังวล เป็นห่วงไปหมด ใครจะอุ่นอาหารให้กิน ใครจะเป็นเพื่อนดูแลตอนเข้าห้องน้ำ สารพัดกังวัล  ตอนกลางคืนนอนพักผ่อนได้น้อยลง พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็เริ่มเป็นคนขี้หงุดหงิด ขึ้นมาบ้างเหมือนกัน โรคกระเพาะถามหา ปวดศีรษะบ่อยๆ   ต้องพึ่งยารักษาตัวเอง    เวลาการคบหา สมาคมกับเพื่อนฝูงก็ไม่มี

ส่วนที่มีญาติเยอะก็แบ่งเวลากันดูแล ถ้าญาติสามัคคีกัน วางแผนที่ดี  ก็พอแก้ปัญหาได้   แต่ถ้าญาติมีความคิดต่าง อารมณ์ร้อน มองปัญหาของตนเองเป็นหลัก ผู้ป่วยและทุกคนคงจะทุกข์เพิ่มขึ้น

สุดท้ายเสียงหัวเราะก็ขาดหายไปทั้ง 2 ฝ่าย............ขาดทุนครับ

คนทุกคน มีชีวิตอยู่ด้วยเวลาที่กำหนด  เราจะใช้เวลานั้นแสวงหาความทุกข์มากกว่าความสุขกระนั้นหรือ             

คิดว่าทุกคนไม่อยากทุกข์   เราจึงไม่ควรเพิ่มปัญหา

การปล่อยวาง อาจจะดูคล้ายการละเลยใน สิ่งที่ควรทำ การพยายามแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด อาจจะซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้น

ความเข้าใจในความจำเป็นของแต่ละปัญหา  ให้ข้ามคำว่าขอโทษ ยกโทษ เพราะนั่นเป็นเพียงกระบวนการก้าวข้ามในสิ่งผิด ในความเป็นจริงหากเราเข้าใจในปัญหา  ก็จะไม่มีคำว่าผิดสำหรับใคร

การแก้ปัญหาจึงอยู่ที่ความเข้าใจในธรรมชาติ ของมนุษย์ เข้าใจในความรักที่แท้จริง. พยายาม เอาใจเขามาใส่ใจเรา  การดูแลผู้ป่วยจึงเป็นการดูแลด้วยรักและผูกพัน.  เห็นอกเห็นใจมากกว่าการดูแลแบบอดทน อดกลั้น        

ทั้งหลายทั้งปวง อาจจะแก้ไขได้บ้าง เมื่อเรามีความมั่นใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน จะเป็นยาสมานจิตใจที่ดีที่สุด อย่าให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แบกความทุกข์ไว้เพียงฝ่ายเดียว                

แม้จะอยู่ในภาวะเจ็บปวดของโรค แม้จะอยู่ท่ามกลางปัญหาของการดูแล   พยายามหาเรื่องขำ. คุยกันในสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ขันนำไปสู่อารมณ์ที่ดี และหรือนำหัวข้อคำสอนในศาสนาที่นับถือมาท่องมาปฏิบัติ    หากไม่เคยทำมาก่อนก็อาจจะค่อยๆแทรกในบทสนทนาโดยไม่เกิดความขุ่นเคืองหรือคิดมาก


ขอเสียงหัวเราะกลับคืนมาให้ได้บ้างนะครับ

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การใช้ความร้อนเสริมภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง (Hyperthermia and Immunotherapy for Cancer Treatment)

เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาส่วนใหญ่ของมะเร็ง มักจะเป็นแบบสหสาขาวิชาชีพ หรือการรักษาร่วมกันหลายวิธี เช่น การผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี การฉายรังสีร่วมกับยา หรือ ทั้ง 3 อย่างร่วมกัน ในปัจจุบันมีการใช้ Hyperthermia ร่วมในการรักษาด้วย ซึ่งมีรายงานเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาทั้งการตอบสนองและเพิ่มอัตราการอยู่รอด


การรักษาอีกวิธีที่มีการนำมาใช้มากขึ้น คือ ภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่ต่างๆกัน แต่ที่น่าสนใจ คือการนำเอาความร้อนมาช่วยเพิ่มประสิทธิผลของภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาในภูมิคุ้มกันวิทยาเรียกว่า Hyperthermic Immunology นับเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจ จากรายงานในการประชุม ครั้งที่ 28 ของ Japanese Society of Thermal Medicine  ซึ่งเป็นสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและรักษาโรคด้วยความร้อน ณ ประเทศญี่ปุ่น

ที่มา: Takeda T (2012),  Thermal Med 28(1) :11-16.

ในรายงานนี้ เป็นการรักษาผู้ป่วย 1,386 คน ที่เป็นโรคมะเร็งในระยะลุกลาม หรือ กลับเป็นใหม่ ระหว่าง ปี 2005-2011 โดยเป็นการให้ความร้อนจากเครื่อง Thermotron-RF8 ในผู้ป่วยที่ได้ Activated Lymphocyte หรือ Dendritic Cell พบว่าการใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia เพิ่มผลการรักษาจากภูมิคุ้มกันบำบัดจาก 8.1% เป็น 17.9 % โดยสูงถึง  20.5% ในกลุ่มที่มีการใช้ความร้อนร่วมกับ Activated Lymphocyte และ Dendritic Cell ในขณะที่การใช้ความร้อนอย่างเดียวจะได้ผลเพียง 4 %
มีรายงานผู้ป่วยที่เกิด Complete Response  หรือ รอยโรคหายหมด ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ แต่ไม่ได้ผลจากการใช้ยาเคมีบำบัด เมื่อได้รับการรักษาด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด ร่วมกับความร้อน  ปรากฏว่ารอยโรคหายหมด  จากการตรวจเปรียบเทียบผลการรักษาด้วยการตรวจ PET/CT

นอกจากนี้ยังรายงานการทดลองในหนูที่รับการฉีดเซลล์ มะเร็งปอด  แบ่งการรักษาเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ได้ Activated Lymphocyte , กลุ่มที่ได้ Hyperthermia และกลุ่มที่ได้  Hyperthermia ร่วมกับ Activated Lymphocyte ผลปรากฏว่า ขนาดก้อนมะเร็งและการกระจายของเซลล์ จะมีจำนวนน้อยเรียงตามลำดับโดยมากที่สุดในกลุ่มควบคุมและน้อยที่สุดในกลุ่มที่ใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia ร่วมกับ Activated Lymphocyte           
       
ผู้รายงานได้กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญของการใช้ความร้อนร่วมรักษา เนื่องจาก ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับในการใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia  รักษาร่วมกับการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด  แต่ในรายงานนี้ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และได้รับการรักษาเสริมของความร้อน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการรักษาและศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่จำเพาะมากขึ้น ในโอกาสต่อไป

แหล่งข้อมูล: Thermal Med 28(1) :11-16.
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเชิงลึกได้จากบทความต้นฉบับตาม Link ด้านล่างนี้ครับ
https://www.jstage.jst.go.jp/article/thermalmed/28/1/28_11/_pdf

หมายเหตุ: ผมขอย้ำนะครับว่า การนำความรู้ใหม่ๆมาให้ท่านได้อ่านนั้น ไม่ได้เป็นคำแนะนำให้ท่านรักษาด้วยวิธีนี้ เพราะ โรคแต่ละโรค แต่ละระยะมีการรักษาที่แตกต่างกันครับ  แต่ในบางครั้งที่การรักษามาตรฐานไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ว่ามีส่วนช่วยในกรณีโรคที่ท่านหรือญาติเป็นหรือไม่ก็ได้ครับ 



วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง ตอน ความสุขที่กลับมา

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
ไม่มีใครอยากมีทุกข์ แต่ชะตากรรม เหนือการควบคุม อุบัติเหตุ โรคร้าย โชคร้าย อาจเป็นฟ้ากำหนด   วันนี้ด้วยบังเอิญโชคร้ายที่เราเป็นมะเร็ง  ซึ่งไม่มีใครอยากได้ยิน ไม่มีใครอยากได้เห็น แต่ เราต้องพบและเห็นมันอยู่กับเรา จึงขึ้นอยู่กับเราจะกำหนดจัดการให้มันอยู่กับเราอย่างไร

ผมมีตัวอย่างที่น่าทึ่งของผู้หญิง ที่น่ารัก บอบบาง แต่แววตาและกำลังใจแกร่งยิ่งกว่าเพชร แม้บางครั้งจะมีน้ำตาคลอเบ้าอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงชั่วอึดใจ เธอก็เปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะได้ ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเธอ ว่าภายในหัวใจของเธอเป็นเช่นใด   แต่ทุกวันนี้ เธอเรียกความสุขของครอบครัวกลับมาอย่างน่ายินดียิ่ง

เธอมารักษาเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ด้วยเรื่องมะเร็งเยื่อบุผนังลำคอ (posterior pharyngeal wall tumor) เธอได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ตอนนั้นลูกยังเล็ก สิ่งที่เธอกังวลและกลัวมาก คือ ใครจะดูแลลูกของเธอ เธออดทนสู้กับการรักษาอย่างเข้มแข็ง ลำพังมะเร็งอย่างเดียวก็มีอาการเจ็บคอแล้ว ลองนึกถึงเมื่อเรามีแผลที่ปาก หรือ ลิ้น โคนลิ้น เวลากลืนอาหารจะเจ็บปวดขนาดไหน   เมื่อเพิ่มการอักเสบของเยื่อบุที่เกิดจากรังสี และยาเคมีบำบัดจะต้องปวดมากขึ้นเพียงใด เธอสู้ทั้งน้ำตา
เมื่อเสร็จสิ้นการรักษา เธออยู่ด้วยความกังวลว่า โรคจะกลับมาหรือไม่

โชคร้ายในความโชคดี แม้ว่าโรคเธอจะหายแล้ว  แต่เธอก็อยู่ในกลุ่ม 5 % ที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ของการเกิดพังผืดที่คอ  ถึงจะได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างดีก็ตาม เธอเริ่มมีปัญหาเรื่องการกลืน ซึ่งแพทย์ ก็พยายามที่จะขยายหลอดอาหารส่วนบนให้ แต่ท้ายที่สุด เธอต้องเจาะหน้าท้อง เพื่อใส่อาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพราะเธอกลืนลำบาก บางครั้งมีการสำลัก

ในช่วงปีแรกๆ ทั้งครอบครัวกอดคอกันร้องไห้ ชีวิตวัย 30 ต้นๆที่เคยมีความสุข ไปทานข้าวนอกบ้าน ทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุด การเข้าสังคมหายไปหมด ทุกวันต้องกินข้าวต้มเละๆ และใส่อาหารปั่นทางหน้าท้อง 

สามีและลูกเล็กที่น่ารักอยู่เคียงข้าง โดยไม่ยอมทิ้งเธอไปไหน แรกๆก็พอไหว แต่ต่อมาก็ติดขัดปัญหามากมาย ในที่สุดเธอก็คิดขึ้นได้ว่า ไม่ใช่แล้ว ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่แน่ๆ เธอจะไม่ยอมให้คนที่รักเธอและเธอรัก ต้องมาทุกข์ หรือ อดทน เพราะเธอ

วันหนึ่งเธอจึงชวนสามีและลูกออกไปทานข้าวนอกบ้าน ทุกคน ตื่นเต้น ดีใจ เธอแต่งตัวในชุดที่ไม่ได้ใส่มานาน ออกไปร้านอาหาร สั่งอาหารที่สามีและลูกชอบมากิน นาทีที่อาหารถูกเสิร์ฟ สามีและลูก รู้สึกแย่ที่เธอทานไม่ได้ แต่ด้วยความเข้มแข็ง เธอเปลี่ยนเรื่องและชวนคุยอย่างสนุกสนาน และจิบน้ำผลไม้ ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี สามีและลูกทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย เธอมีความสุขที่ครอบครัวมีความสุข เธออิ่มใจและกลับบ้านมาอิ่มท้องด้วยการใส่อาหารของเธอทางสายยาง แล้วเข้านอนด้วยความสุข

ต่อมาเธอเริ่มเข้าสังคมกับเพื่อนสนิทไม่กี่คน ที่รู้กันดีถึงปัญหาของเธอ ครั้งหนึ่งเธอร่วมเดินทางท่องเที่ยว เมื่อถึงเวลาพักทานอาหาร เธอก็นั่งคุยกับทุกคนอย่างสนุกสนาน  พอทุกคนทานอาหารเรียบร้อย เธอก็บอกกับทุกคนว่า ทุกคนอิ่มแล้วใช่ไหม ถึงตาฉันบ้าง ว่าแล้วเธอก็เข้าห้องน้ำใส่อาหารทางสายยาง และเดินทางต่อ วันต่อมาในตอนเช้า เธอก็ตื่นมาดูทะเลหมอกพร้อมเพื่อนๆ สดชื่นกับอากาศบริสุทธิ์  เธอพูดได้ประทับใจมาก

ทุกคนที่รักฉันอยากให้ฉันมีความสุข เมื่อฉันมีความสุข ทุกคนที่ฉันรักก็จะมีความสุขด้วย ”

ผมชื่นชมเธอจริงๆครับ

ผู้ป่วยทุกท่านโปรดเอาความสุขกลับมา  อย่าให้มันหายไป กับความท้อแท้และอ่อนแอ ลุกขึ้นสู้ชีวิตแม้กำไรไม่มาก ก็อย่าขาดทุน  จึงจะเป็นชีวิตที่มีความหมายนะครับ