วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

การใช้ Hyperthermia เพื่อเพิ่มผลการรักษาโรคมะเร็ง (ตอนที่ 1)

จากการประชุมวิชาการประจำปี 2558  ของ สมาคมรังสีมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญในทุกด้านเกี่ยวกับมะเร็ง ทั้งวิชาการที่ก้าวหน้า งานวิจัยใหม่ๆ การแสวงหาวิธีเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการรักษา การส่งเสริมสุขภาพ  แนะนำด้านโภชนาการ รวมทั้งการใส่ใจดูแลทางด้านจิตใจ ให้กำลังใจผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้น  จนกระทั่งระยะสุดท้าย

สองบทความที่ผ่านมาได้เขียนเกี่ยวกับภาวะโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง วันนี้ ผมขอนำเรื่องวิธี การรักษาโรคมะเร็งด้วย Hyperthermia จากการประชุมสัมมนา หัวข้อเรื่อง Hyperthermia, the adjunct modality to enhance effects of standard treatment and new trends of treatment modalities. โดยรองศาสตราจารย์พลตรีนายแพทย์ประมุข พรหมรัตนพงศ์ จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นผู้ดำเนินรายการ  Prof. Satoshi Kokura (Chairman of Asia Society of Hyperthermia Oncology)  และ นพ.ภูมิพิศ ภัทรนุธาพร จากคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี เป็นวิทยากรอาจารย์ประมุขได้ให้ข้อมูลการบำบัดรักษาด้วยกระบวนการ "Hyperthemia" หรือการบำบัดรักษาด้วยความร้อน สำหรับความร้อนที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ จะอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 43  องศาเซลเซียส โดยมีแหล่งความร้อนจาก คลื่นไมโครเวฟ  หรือคลื่นความถี่วิทยุ หรือจาก คลื่น อัลตราซาวด์ ก็ได้

ไม่ว่าความร้อนจะมาจากแหล่งไหนก็ตาม ถ้าสามารถสร้างความร้อนได้ 43 องศาเซลเซียส ได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ะส่งผลให้ตัวก้อนมะเร็งส่วนหนึ่งตายไปได้ และบางส่วนหยุดการทำงาน

แต่ต้องยอมรับว่าความร้อนอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เซลล์มะเร็งตาย 100 เปอร์เซนต์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้คู่กับวิธีการหลักที่ใช้ในการรักษามะเร็ง นั่นคือ  หรือ ยาเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสี
เวลาที่ฉายรังสีลงไปที่ก้อนมะเร็ง อาจจะมีส่วนซึ่งไม่สามารถทำลายเซลล์ได้หมด ได้แก่ ส่วนที่มีออกซิเจนในตัวก้อนมะเร็งน้อย หรือไม่เพียงพอที่จะทำให้รังสีทำงานได้ดี หรือก้อนมะเร็งที่ไม่ได้แบ่งตัวตลอดเวลา หรือหยุดการแบ่งตัวเป็นช่วงๆ  รังสีก็จะทำงานได้ไม่ดีนัก หรือในช่วงที่สารอาหารไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้วิธีการหลักคือการฉายรังสี ควบคู่กับการใช้ความร้อน ก็จะเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน เสมือนกับมีหมัดหนึ่งสองเอาไว้ฆ่าเซลล์มะเร็ง ผลที่ออกมาหนึ่งบวกหนึ่งจะไม่ใช่สอง แต่อาจเป็นสาม เป็นสี่ก็ได้ เพราะมันเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน ทำให้ควบคุมก้อนมะเร็งได้ดี และได้ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น

 วิธีการรักษาทางคลินิกในปัจจุบัน หากแพทย์ประเมินแล้วว่าก้อนมะเร็งมันอาจจะยุบไม่ดีนัก  ถ้าฉายรังสีเพียงอย่างเดียว ก็จะใช้ Hyperthermia มาเสริมด้วย ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน เช่น วันนี้ฉายรังสีเราก็ให้ความร้อนคู่กันไป ต่อเนื่องกันไปภายในระยะเวลาครึ่งชั่วโมง การฉายรังสีอาจจะทำทุกวัน แต่การให้ความร้อนจะไม่ทำทุกวัน อาจจะทำอาทิตย์ละหนึ่งถึงสองครั้ง เหตุผลคือถ้าให้ความร้อนมากเกินไปทุกวันจะทำให้เซลล์เกิดภาวะดื้อต่อความร้อน อาจทำให้การให้ความร้อนครั้งต่อๆไปไม่ได้ผล
การรักษานี้มีหลักฐานทางการวิจัยหลายสถาบันว่า มะเร็งเต้านม มะเร็งส่วนคอ  หรือมะเร็งในช่องท้อง หรืออุ้งเชิงกราน สามารถใช้รังสีร่วมกับความร้อนแล้วได้ผลดี ในประเทศไทย เคยมีเครื่องให้ความร้อนจากเครื่องไมโครเวฟ ใช้ในโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎและโรงพยาบาลศรีนครินทร์ แต่สามารถใช้ในอวัยวะตื้นๆ ไม่เกิน 3-5 เซนติเมตร เท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ ปัจจุบันได้เลิกใช้ ไปแล้ว  เพราะขาดการพัฒนาต่อเนื่อง

ปัจจุบันเริ่มมีเครื่องให้ความร้อนที่ใช้ความถี่วิทยุในระดับ 8 MHz ที่สามารถรักษามะเร็งที่อยู่ส่วนลึกของร่างกายได้ และยังมีการจำลองความร้อนในการวางแผนการรักษาด้วย  นับว่าเป็นความหวังที่จะช่วยผู้ป่วยคนไทยมากขึ้น


อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาและขอคำแนะนำของแพทย์ที่ท่านรักษาเสมอ หากมีความสงสัยอยากส่งคำถามหรือความคิดเห็นใดๆก็ยินดีนะครับ  เรามาช่วยกันสู้กับโรคร้ายนี้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น