วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง : การบอกข่าว ( ร้าย ) ที่ไม่มีใครอยากฟัง

เป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจมองข้าม

เป็นเรื่องสำคัญที่เราทีมสู้มะเร็งต้องใส่ใจ

ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องยากจากปัจจัยหลายอย่าง มีตัวแปรมากมาย ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม การเรียนรู้ในอดีต การศึกษา ความพร้อมทางครอบครัว สังคม อายุ การงาน อุปนิสัยส่วนตัว  จึงทำให้ยังไม่มีตำราเล่มไหนจะเป็นมาตรฐาน ที่ผู้บอกข่าวร้ายจะยึดถือปฎิบัติได้โดยครอบคลุมทุกปัญหาได้

เมื่อไม่มีใครอยากฟัง..ข่าวร้าย จึงไม่มีใครอยากเป็นผู้บอกข่าวร้าย เพราะรู้สึกเป็นการบอกเรื่องราวที่อาจะเป็นการทำร้ายจิตใจ ทำให้คนไข้กลัว  เป็นทุกข์  ส่งผลกระทบต่อร่างกายและอารมณ์  บางรายตั้งสติไม่ทันคิดจะจบชีวิตตัวเองก็มี  แต่บางครั้งเราก็เผลอบอกออกไปโดยไม่ตั้งใจ โดยไม่รู้ บทความนี้จึงตั้งใจเสริมทีมสู้มะเร็งให้รอบคอบระมัดระวังมากขึ้น

ในประสบการณ์ที่ขัดแย้งกัน คือ สิทธิการรับรู้คำวินิจฉัย การวางแผนการรักษาและพยากรณ์โรค ของตนเอง ตามมาตรฐานที่กำหนดในสิทธิผู้ป่วย  ซึ่งอาจจะใช้ได้ในโรคทั่วไป แต่อาจจะไม่ใช่เสียทีเดียวในโรคมะเร็ง ตัวเลขที่สำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นการบอกความจริงในผู้ป่วยโรคมะเร็งและครอบครัว 
พบว่าผู้ป่วยถึง 84% ต้องการทราบว่าตนเองอยู่ในระยะสุดท้าย, 60% ให้แจ้งพร้อมญาติ, 24% บอกเฉพาะตนเอง ทั้งนี้ที่น่าสนใจ คือ 70% ของญาติ ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยทราบความจริง เป็นสถิติที่น่าสนใจ ขาดแต่การศึกษาผลกระทบ ของการทราบความจริง เพราะประเด็นปัญหา คือ อยากรู้ แต่รับมือได้หรือไม่ รับมืออย่างไร

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
จากประสบการณ์ในอดีต ที่มีผู้ป่วยรายหนึ่งบอกว่า หมอ บอกได้เลยครับ ผมไม่กลัวหรอก ผมทำใจได้” เนื่องจากเขาเป็นคนมีการศึกษา มีหน้าที่การงานและความรับผิดชอบสูง แม้ภรรยาที่มาด้วยเป็นคนอ่อนแอ แต่ต่างยืนยันต้องการทราบคำวินิจฉัย ด้วยสิทธิของผู้ป่วย บวกกับการที่ต้องวางแผนการรักษากับเขา ผมจึงบอกเขาตรงๆ แต่พอผมพูดจบ ฟุบเลยครับ โชคดีที่ผมยั้งการกล่าวถึงเรื่องพยากรณ์โรค
บางครั้งคนเรา ต้องการรู้ความจริง แต่ยอมรับความจริงไม่ได้  จึงไม่ไปในทิศทางที่ควร  อย่างที่เราคาดก็ได้

วันนี้ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อการพิจารณาของท่าน เนื่องจากมีข่าวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฆ่าตัวตาย ด้วยไปตรวจร่างกายแล้ว แพทย์ บอก ปอดไม่ดี มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปอด ด้วยเหตุที่เป็นข่าว เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าคำพูดที่แท้จริง คืออะไร แต่ศัพท์หนึ่งที่ฮิตมากในปัจจุบัน คือ มโน เราไม่รู้ว่าท่านผู้ช่วยผูใหญ่บ้าน  มโน อะไรบ้าง  อาจเกิดความกลัวเพราะเคยเห็นผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจาก โรค หรือ ความวิตกกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ไม่สบายใจที่ต้องเป็นภาระให้ครอบครัว หวั่นเกรงอาการแทรกซ้อนซึ่งเคยเห็นหรือรู้มา สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุของกาจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายก็เป็นได้
น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านผู้ช่วยยังไม่ได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนเพราะในเนื้อข่าวได้แนะนำให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยต่อ  ข่าวที่ว่าจะร้ายหรือดี ยังไม่ทราบ มโน จากข้อมูลที่ไม่ชัดเจน  ก็อาจจะทำร้ายคนได้ ครับ

แล้วถ้าเป็นข่าวร้ายจริงๆ เราจะบอกอย่างไร       
   

ในหลายขั้นตอนของผู้ป่วยมะเร็งที่โชคร้าย ต้องเผชิญกับข่าวร้ายตั้งแต่ผลวินิจฉัย จนถึงวาระที่โรคไม่ตอบสนองต่อการรักษาอีกแล้ว  เมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องทำหน้าที่ในการบอกข่าว แพทย์ พยาบาล  บุคคลากรทางการแพทย์ และญาติ ควรจะมีศิลปในการพูดอย่างไร พูดมากน้อยแค่ไหน บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนเป็นอย่างไร ยากไม่น้อยครับ ผมจะนำเสนอข้อแนะนำที่เป็นแนวทางปฏิบัตของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสองท่าน ในบทความหน้านะครับ

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 ธันวาคม 2557 เวลา 06:46

    น่าสงสารท่านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมากค่ะแต่ก็เห็นใจหมอเหมือนกันจึงเป็นเร่ืองที่ดีมากที่หมอมะเร็งจนำเร่ืองนี้มาเขียน
    อย่างไรก็ต้องมีประโยชน์แก่ทุกคนชอบค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ6 ธันวาคม 2557 เวลา 20:27

    ผมก็คงบอกหมอว่าทำใจได้และคะยั้นคะยอให้หมอพูดออกมาโดยไวแน่ๆแต่ไม่มั่นใจตัวเองเหมือนกันครับว่าจะฟุบหรือไม่ขอบคุณที่ทำให้ได้ข้อคิดครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ7 ธันวาคม 2557 เวลา 13:16

    ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้คุณหมอบอกน้องสาวว่าเป็นมะเร็งโดยลืมไปว่าน้องก็มีการศึกษา
    สามารถทราบในเบื้องต้น แต่น้องสาวก็ไม่สนใจจะถามคุณหมอเพ่ือตัวดิฉันเองจะได้ไม่ต้องวิตก
    ไม่ถามกลับบอกหมอไม่ต้องพูดถึงไม่อยากรู่้มากให้คุณหมอรักษาตามที่เห็นสมควรค่ะ

    ตอบลบ