วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง ( ตอนที่ 1,2,3 )


ทีมสู้มะเร็ง ( ตอนที่ 1 )

การต่อสู้กับมะเร็งมีหลายระดับ หลายขั้นตอน เราจะเริ่มตั้งแต่ขึ้นตอนที่พบบ่อยและเป็นปัญหาที่พบอยู่ทุกวัน คือ การต่อสู้เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งแล้ว

ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

โรคมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน ต้องการทีมการต่อสู้ที่มากเป็นพิเศษ เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาโรคอื่นๆ  ที่แม้จะต้องการองค์ความรู้ความสามารถของผู้รักษา แต่จะมีแนวโน้วที่จะมีแนวทางที่ค่อนข้างชัดเจน ตรงไปตรงมา หรือคาดเดาได้ แต่การรักษามะเร็งซึ่งยังเป็นโรคที่ยังขาดความรู้ที่แท้จริงอีกมาก ทั้งการตรวจวินิจฉัย การรักษาที่แตกต่าง ความเหมาะสมในการรักษาแต่ละบุคคล ซึ่งถ้าวางแผนผิดพลาดจะมีความหมายต่อชีวิต ต่อครอบครัว และกระทบต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อมามองดูว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องในทีมสู้มะเร็งของเรา แน่นอนที่สุด คนแรกคือ ผู้ป่วย ถัดมาคือญาติ
ความตื่นตระหนก ความกลัว ความไม่รู้ หรือรู้ไม่จริงจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญกับการตัดสินใจ จนบางครั้งผู้ป่วยอาจจะตัดสินใจหนีการรักษาไปรักษาด้วยสมุนไพรเป็นต้น คำถามคือ ผิดหรือไม่ที่ผู้ป่วยจะไปรักษามะเร็งด้วยสมุนไพร คำตอบคือ ถูกในความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ เพราะเขาเป็นเจ้าของชีวิต เขาตดสินใจจากความรู้ที่มีอยู่ เช่น เพื่อนข้างบ้าน ไปผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งแล้วเสียชีวิต เพื่อร่วมงานที่ป่วยเป็นมะเร็งเมื่อได้รับเคมีบำบัดแล้วร่างกายทรุดโทรม และสุดท้ายทรมานจนเสียชีวิต เป็นต้น


ดังนั้น อาจจะพูดได้ว่า ทีมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอันดับต้นๆ ก่อนที่จะปล่อยให้โอกาสสำคัญในการรักษาหลุดลอยไปคือแพทย์ ที่จะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องแต่ผู้ป่วยมะเร็งและญาติ 


ทีมสู้มะเร็ง ( ตอนที่ 2 )


ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
เมื่อตั้งสติได้แล้ว การเข้าพบแพทย์จะต้องเข้าเป็นทีม เช่น สามี ภรรยา พี่ น้อง พ่อแม่ลูก เป็นต้น ทีมจะต้องร่วมกันปรึกษา พร้อมกับแพทย์ เพื่อการตัดสินใจในวางแผนการรักษา

โดยทั่วไป อาวุธชิ้นแรกในการต่อสู้โรคมะเร็ง คือ กำลังใจ

หยุดร้องไห้ หยุดกลัว เรายังมีสิทธิ์คิดรักษา เมื่อลองเปรียบเทียบโรคมะเร็งกับ อุบัติเหตุ, โรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งภัยธรรมชาติ ที่อาจจะมาแบบไม่รู้ตัว ยิ่งน่ากลัวกว่า เรายังมีวันนี้และวันพรุ่งนี้ ขอให้คิดว่าเรายังมีโชคอยู่บ้างในความโชคไม่ดี

คนเป็นมะเร็งแล้วหายมีมากมาย ในสังคมมีเยอะแยะ เพียงแต่ไม่ถูกนำมาเป็นข่าวหรือยกมาเป็นตัวอย่าง หลายคนที่หายแล้ว ก็เป็นการหายขาดที่ไม่ต้องกินยาต่อเนื่องเหมือนโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต หรือ โรคหัวใจที่เป็นโรคเรื้อรัง

วิทยาการ สมัยนี้ก้าวหน้ามาก มีเครื่องมือ ยา และความรู้ที่ลึกซึ้งในระดับรหัสพันธุกรรม ที่ทำให้เรารู้สาเหตุ หรือแม้แต่การตอบสนองต่อการรักษา การค้นพบยามุ่งเป้า (Targeted Medicine) ทำให้มีความจำเพาะในการรักษามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นมะเร็งเต้านม ที่สามารถรักษาให้หายได้เป็น 10 ปี ก็เป็นเรื่องปกติ พูดได้ว่ามะเร็งบางชนิด เมื่อรักษาแล้วหายเกือบ 100 % ก็ว่าได้


การช่วยกันเข้าไปเป็นทีม เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ไม่รู้ก็ถาม ข้องใจก็กลับมาถามใหม่ เหมือนลงเล่นเกมส์ ที่ต้องรู้กติกา การเล่น วิธีการเล่น ทักษะ ในการเล่น โดยมีกองเชียร์ให้กำลังใจอยู่ข้างๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีในการเร่มต้นต่อสู้กับมะเร็ง

ทีมสู้มะเร็ง ( ตอนที่ 3 )


  ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนก่อนหน้า หมอเป็นหนึ่งในทีมที่มีความสำคัญมาก เพราะทุกคำพูดล้วนมีความหมายที่ผู้ป่วยและญาติ ที่จะนำกลับไปวิเคราะห์ ทุกอย่างมีความหมายที่เป็นกำลังใจให้ต่อสู้ หรือยอมแพ้ หรือหนีการรักษา

เคยมีหมอคนหนึ่งอธิบายเรื่องภาวะแทรกซ้อนจนผู้ป่วยกลัว  โดยผู้ป่วยเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องมีเลือดกำเดาออกจากจมูก แต่เมื่อตรวจแล้วพบมะเร็งโพรงหลังจมูก ซึ่งต้องรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดกับรังสี ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรักษา มีผลการตอบสนองมากกว่า 80%   มีโอกาสหายขาดได้  ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่เป็นปัญหาคือการที่หมออาจจะอธิบายแล้วทำให้ผู้ป่วยและญาติตื่นตระหนกได้ ตัวอย่างเเช่น คุณมีโอกาสตาบอดได้  และหากภูมิต้านทานไม่ดี อาจจะติดเชื้อได้ ถ้ามีปัญหาการกินหรือการอักเสบของเยื่อบุ ร่างกายอ่อนแอ อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางกระแสโลหิตร่วมด้วย เป็นต้น

ถึงแม้จะการอธิบายรายละเอียดดังกล่าวจะเป็นมาตรฐานของการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับตัวโรคและการรักษาและเป็นสิทธิผู้ป่วยที่ควรทราบ แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทย ผู้ป่ยและญาติจะรับได้แค่ไหน เพราะการที่พวกเขามาด้วยเลือดกำเดาไหล แต่การรักษาเสี่ยงนี่ เสี่ยงนั่น ถ้าโชคร้าย ก็อาจจะถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนหนึ่งที่ตั้งตัวไม่ติด ก็จะหนีการรักษา ผลที่สุดคือ โรคลุกลามมากขึ้น   ทั้งๆที่ถ้ามีการอธิบายโดยละเอียด และมีการซักถามกันอย่างละเอียด จะรู้ว่าเป็นเพียงโอกาสที่จะเกิด และในปัจจุบัน เทคนิคการฉายรังสีและยาเสริมใหม่ ก็ไม่ได้จะเกิดอันตรายขนาดนั้นได้


ดังนั้นหมอที่เป็นหนึ่งในทีมก็ต้องระมัดระวัง  สังเกตผู้ป่วยนอกจาสภาพร่างกายให้มาก ว่าผู้ป่วยมีปัญหาหรือมีความกลัวอะไร การบอกวิธีการรักษา และภาวะแทรกซ้อน การป้องกันภาวะแทรกซ้อน เป็นเรื่องจำเป็น ควรบอกมากน้อยเพียงไร ต้องวิเคราะห์ให้ดี อย่าทำให้ผู้ป่วยตื่นตระหนก ต้องให้เวลา เตรียมตัว เตรียมใจ และปรับตัวด้วยเช่นกัน

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 กันยายน 2557 เวลา 20:00

    คุณหมอค่ะดูเหมือนเคมีบำบัดน่ากลัวมากเพื่อนต้องกร้อนผมจนล้านอาเจียนหนักท้อแท้หลีกเลี่ยงโดยผ่าตัดอย่างเดียวได้ไหมค่ะยินดีเสียเต้านมเพื่อไม่ทุกข์ทรมานดิฉันจะเตรียมตัวเตรียมใจเพราะโรคนี้เป็นกันมากจริๆ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. การจะให้ยาเคมีบำบัดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลพยาธิวิทยาหลังการผ่าตัด อาจจะเป็นฮอร์โมนหรือไม่ต้องให้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ ส่วนการเก็บรักษาเต้านมนั้นขึ้นอยู่กับขนาดก้อน ส่วนใหญ่ศัลยแพทย์ก็พยายามเก็บรักษาเต้านมให้อยู่แล้ว

      สรุปให้ผ่าตัดก่อนแล้วส่งผลการผ่าตัดมาอีกครั้ง จะให้คำแนะนำอีกครั้งครับ อีกประการหนึ่ง การให้ยาเคมีบำบัด ถึงแม้ผมจะร่วงแต่ก็จะกลับมาเหมือนเดิมครับ เรื่องอาเจียนปัจจุบันน้อยลงมากเพราะมียาแก้อาเจียนที่ดีมากครับ
      ไม่ต้องกังวลมากครับเราจะเป็นเพื่อนตลอดการรักษาและช่วยกันดูแลในทีมคุณครับ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ22 กันยายน 2557 เวลา 02:51

    ลักษณะการรักษาที่ต่างจังหวัดจะน้อยกว่ากรุงเทพด้วยเรื่องเคร่ืองมือ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ24 กันยายน 2557 เวลา 01:30

      ปัจจุบัน ในมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆทั้งในหรุงเทพและต่างจังหวัด ให้การรักษาในมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งศูนย์มะเร็งที่มีอยู่ ก็มีการประสานงานที่ดี หากต้องการรักษาที่จำเพาะ ก็สามารถส่งต่อได้ครับ

      ลบ
  3. ทศพร จิรสมประเสริฐ26 กันยายน 2557 เวลา 09:30

    จริงครับผมเป็นโรคภูมิแพ้หมอท่านจะให้ฉีดสารพัดตัวอย่างของการแพ้จนผมถอยห่างฟังเร่ืองโรคมะเร็งก็น่ากลัวมากผมพยายามหาอ่านบทความท่ีเป็นความรู้พบบล็อกหมอมะเร็งชอบมากครับ

    ตอบลบ