วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง (ตอนที่ 9): ข้อคิด การรักษาเชิงวิจัย

โดยทั่วไป เวลาที่เราจะรักษาโรค เรามักจะคำนึงถึงมาตรฐานการรักษา ว่าได้มาตรฐานหรือไม่
แน่นอนที่เราจะไม่เลือกการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน  โรงพยาบาลหรือสถาบันทางการแพทย์แต่ละแห่งควรมีสิ่งที่เรียกว่า Clinical Practice Guideline  หรือ CPG ซึ่งอาจจะเป็นของสถาบันเอง หรืออ้างอิงของต่างประเทศ เช่น NCCN Guideline

แต่ปัญหาในการรักษาโรคมะเร็งนั้น มีมาตรฐานมากมายที่จะอ้างอิง บางครั้งอาจจะทำให้ผู้ป่วยสับสน  มีตัวอย่างของแพทย์ท่านหนึ่งเป็นคนที่มีความรู้มาก อ่านรายงานการศึกษาวิจัยมากมาย สามารถวิเคราะห์สถิติความน่าเชื่อถือของรายงานต่างๆได้ดีเยี่ยม เป็นที่ศรัทธาของลูกศิษย์ที่เรียนกับท่าน   ท่านจะอธิบายแนวทางการรักษาพร้อมทั้งข้อดีข้อด้อย ของแต่ละรายงานให้ผู้ป่วยฟังอย่างละเอียด  มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อผู้ป่วยได้ฟังคำอธิบายจบ   คนไข้ ก็ถามแพทย์ท่านนั้นว่า ตกลง หมอจะรักษาผมอย่างไร เพราะดูเหมือนหมอยังไม่มีข้อสรุป  นี่คือความสับสนสำหรับคนไข้ที่รับฟังข้อมูลอ้างอิงมากๆ ทั้งที่เป็นเจตนาดีของแพทย์ผู้ซึ่งพร้อมจะสละเวลาให้ความรู้กับทุกคน

ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อฟังแพทย์หลายท่านที่เรียนมาจากสถาบันที่ต่างกัน หรือแม้แต่สถาบันเดียวกัน แต่ต่างเวลากัน ก็อาจจะมีแนวทางการรักษาที่ต่างกันก็ได้  เพราะการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีการพัฒนาตลอดเวลา  นอกจากนี้รายงานผลการรักษาของทุกวิธีการรักษานั้นจะบอกอัตราการตอบสนอง อัตราการอยู่รอด เช่น การรักษามะเร็งชนิดหนึ่งด้วยยา A ให้ผลตอบสนอง 80 % ไม่ได้หมายความว่าหายจากโรค เพราะเป็นเพียงการตอบสนองเท่านั้น แต่ถ้าจะมุ่งประเด็นการหายและสามารถมีชีวิตยืนยาว เราจะดูที่ตัวเลขอัตราการอยู่รอด  เช่น อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี เท่ากับ 70 %  หมายความว่าผู้ป่วย 100 คนจะอยู่รอดได้ถึง 5 ปี  70 คน แต่ก็ไม่แน่ว่าเราจะอยู่ใน  70 หรือ ใน 30 ที่เหลือ

ในทางกลับกัน ในกรณีที่โรคเราอยู่ในระยะที่ 4 ซึ่งมีอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี เพียง 10 % แต่บังเอิญเราอยู่ในกลุ่ม 10  % เราก็จะมีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดได้

ทำไมเป็นเช่นนั้น  คำตอบคือ เรายังไม่รู้เรื่องมะเร็งอีกมาก  แม้เป็นในตำแหน่งเดียวกัน ระยะเดียวกัน แต่ในรายละเอียดของเซลล์มะเร็งนั้น ยังมีสิ่งที่เราไม่ทราบอีกมาก โดยเฉพาะในระดับชีวโมเลกุลที่ผลต่อการตอบสนองต่อการรักษา


ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน จึงเกิดการรักษาที่เรียกว่าการรักษาเชิงวิจัย  ซึ่งคนไทยไม่นิยม ทั้งนี้ด้วยความรู้สึกที่ว่า วิจัย คือ การทดลอง และความรู้สึกของการทดลอง คล้ายกับหนูทดลองยา  จึงเกิดความกังวล

ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว ในสถาบันที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เช่น MD Anderson ในอเมริกาที่เรารู้จักกันดี ก็จะมีการรักษาเชิงวิจัยในแทบทุกโรค ผู้ป่วยของเขามีโอกาสได้รับการรักษาที่นำหน้าคนโดยทั่วไป โดยมีกฎหรือพื้นฐานที่จะควบคุมทุกการวิจัยว่าการรักษาทุกอย่างที่แพทย์จะใช้นั้น ต้องคาดว่าได้ผลการรักษาอย่างน้อยต้องไม่ด้อยกว่าการรักษาเดิม และการเติมการรักษาใด จะต้องไม่เพิ่มภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย  ทั้งนี้เพราะในกระบวนการรักษาในเชิงวิจัย จะมีลำดับการทดลองตั้งแต่ระดับความปลอดภัยของยาหรือวิธีการรักษา เป็นระดับที่ 1 ต่อด้วยระดับที่ 2 ซึ่งดูผลที่คาดว่าจะตอบสนองอย่างไร  ต่อมาจึงจะเป็นระดับของการเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐานในระดับที่ 3

แต่ในบางโรคที่พบจำนวนผู้ป่วยน้อย และไม่อาจจะรวบรวมผู้ป่วยจำนวนมากพอที่จะเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐานได้ ก็สามารถให้การรักษาไปเลย และเปรียบเทียบกับผลการรักษาในอดีต แต่ในกรณีที่ความน่าจะมีประโยชน์ค่อนข้างชัดเจนและการเปรียบเทียบที่ต้องใช้ผลการติดตามเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ก็จะอนุโลมเป็นมาตรฐานที่ควรใช้เลย เช่น เครื่องการฉายรังสี ที่มีความแม่นยำสูงในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับเครื่องมือในอดีต

การรักษาเสริมที่นำมาประกอบการรักษามาตรฐานที่มีอยู่ และมีรายงานการศึกษาในระดับที่ 1 และ 2 ที่แสดงถึงความปลอดภัยแล้ว   ก็สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ ให้กับผู้ป่วยได้ แน่นอนที่สุด สิ่งเหล่านี้จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์     

มีผู้ป่วยหลายท่าน ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า หากสิ่งที่นำมารักษาเสริมนั้นไม่เป็นอันตราย และมีความน่าจะเป็น แม้ยังไม่มีรายงานการศึกษาในระดับ  3 คือ การเปรียบเทียบกับการรักษาในอดีต  เขาก็ยินดีเลือกใช้ เพราะแม้แต่สมุนไพร ที่มีรายงานการศึกษาน้อยกว่า หรือบางอย่างไม่มีหลักการเลย เขาก็ยังเลือกทำทุกวิถีทาง และถ้ารอการศึกษาออกมาว่ามีประโยชน์ เขาอาจจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว          
             
ดังนั้นอย่ากลัวการรักษาเชิงวิจัย เพราะเราเชื่อว่า การรักษาเชิงวิจัย หรือ การเติมการตรวจวินิจฉัย การรักษาบางอย่าง น่าจะเป็นการรักษาที่เหนือมาตรฐาน และนำไปสู่การเป็นวิธีรักษามาตรฐานในอนาคต 

ที่สำคัญที่สุดของการรักษาเชิงวิจัยนี้ บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความชัดเจนถึงการรักษาผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ร่วมกับผู้ป่วยในการตัดสินใจ เปิดเผยข้อมูล และรายงานผลการรักษาอย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และผู้ป่วยในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น