วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

การตรวจร่างกายด้วยตนเอง ตอนที่ 3: การตรวจบริเวณศีรษะและลำคอ (1)

มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในอันดับต้นๆของคนไทย ได้แก่ มะเร็งโพรงหลังจมูก ทอนซิล เพดานปาก เหงือก กระพุ้งแก้ม  ไซนัส ต่อมน้ำลาย กล่องเสียง หลอดอาหาร ต่อมธัยรอยด์ รวมทั้งตา หู และจมูก
นอกจากนี้ ยังมีต่อมน้ำเหลืองมักจะเป็นบริเวณที่มีอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองโตนั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอง หรือเกิดจากการแพร่กระจายมาจากมะเร็งส่วนอื่นๆ   ซึ่งพบได้จากอวัยวะต่างๆดังนี้

รูปแสดงอวัยวะต่างๆบริเวณศีรษะและลำคอ

แม้ว่าจะมีอวัยวะต่างๆมากมาย แต่หากการตรวจเป็นไปตามขั้นตอนก็สามารถกระทำได้โดยง่ายและครบถ้วน  แต่ในบางตำแหน่งอาจจะต้องใช้การสังเกตอาการ   เพราะเป็นในตำแหน่งที่ลึกกว่าที่จะมองเป็นได้
เราจะเริ่มลำดับการตรวจตั้งแต่ส่วนบนที่สุดก่อน
1. ศีรษะ
ส่วนภายนอกของศีรษะ นอกเหนือจากผิวหนังบริเวณหน้า และอวัยวะต่างๆ ของใบหน้าแล้ว หนังศีรษะก็เป็นส่วนสำคัญที่มักไม่ได้รับการเอาใจใส่ ความผิดปกติที่อาจพบได้ คือ อาจมีแผล ตุ่ม หรือก้อน เกิดขึ้นที่บริเวณหนังศีรษะ หรือใต้ต่อหนังศีรษะ ซึ่งจะถูกปกคลุมด้วยเส้นผม โดยอาจจะไม่มีอาการใดๆ หากไม่ได้ใส่ใจที่จะตรวจดูก็อาจจะทำให้โรคลุกลามไปมากก่อนที่จะตรวจพบ มะเร็งของหนังศีรษะนั้น มักเป็นโรคของหนังศีรษะเอง หรือมะเร็งของเนื้เยื่อและกระดูกบริเวณนั้น แต่ก็มีอยู่บ่อยครั้ง ที่ตุ่มก้อนนั้น เกิดจากการแพร่กระจายจากมะเร็งในตำแหน่งอื่นมายังกะโหลกศีรษะ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ปรากฏอาการของรอยโรคปฐมภูมิ เช่น มะเร็งต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น
การตรวจที่ทำได้ง่าย คือการลูบคลำเวลาที่อาบน้ำ  สระผม หรือแม้แต่เวลาไปร้านทำผมก็อาจจะถามช่างได้ว่ามีตุ่ม หรืออะไรผิดปกติหรือไม่
แต่ถ้าหากเป็นเนื้องอกภายในกะโหลกศีรษะ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยอาการหรืออาการแสดง ซึ่งอาการแสดงที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจพบร่วมกับอาการตามัว อาเจียนโดยมักจะไม่มีอาการคลื่นไส้ เป็นผลมาจากการที่มีการเพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะ เช่น การเกิดเนื้องอกในสมอง การแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่นๆ ไปยังสมอง หรือกระดูกฐานกะโหลกศีรษะ
2. ตา
โรคมะเร็งที่ลูกตานั้น พบได้น้อย แต่ชนิดที่พบได้บ่อย และมักเป็นในเด็ก คือ มะเร็งของจอรับภาพ หรือเรติโนบลาสโตมา (retinoblastoma) ซึ่งจะพบลักษณะตาวาวคล้ายตาแมวเวลาต้องแสงไฟ โรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นหากมีประวัติในครอบครัว พี่น้องของผู้ป่วย จะต้องระวังโรคนี้ และควรพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจโดยละเอียดเป็นครั้งคราว
ในผู้ใหญ่ มักพบอาการผิดปกติทางตาที่เกิดจากมะเร็งในตำแหน่งอื่นๆ มากกว่าที่จะเป็นโรคของลูกตาเอง อาการแสดงออกทางตาที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง ได้แก่
2.1 ตามัว มองไม่ชัด หากเป็นกับตาทั้งสองข้าง มีสาเหตุมาจากการเพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งมักเป็นอาการเริ่มแรกอย่างหนึ่งของการเกิดเนื้องอกในสมอง หรือการกระจายของมะเร็งจากตำแหน่งอื่นๆ มายังสมอง มักเกิดร่วมกับการปวดศีรษะและอาเจียนโดยไม่คลื่นไส้หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรง เดินเซ แต่ถ้าเป็นความผิดปกติของตาข้างเดียว มักเป็นโรคของตาโดยตรง
2.2 การมองเห็นภาพซ้อน เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตามัดใดมัดหนึ่ง ซึ่งในมะเร็งโพรงหลังจมูก มักจะเป็นกล้ามเนื้อที่ดึงให้ตากลอกไปทางหางตา และเป็นกับตาข้างเดียว ทำให้เกิดอาการตาเหล่เข้าทางหัวตา ซึ่งไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่ถ้ากล้ามเนื้อยังไม่อ่อนแรงมาก อาจสังเกตไม่เห็นในท่ามองตรง แต่เมื่อเหลือบตาข้างนั้นไปทางหางตา ตาจะไม่สามารถเคลื่อนไปได้จนสุด การที่ลูกตาทั้งสองข้างไม่สามารถเคลื่อนที่ได้สัมพันธ์กัน ทำให้เห็นภาพเป็นสองภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะร่วมด้วย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคมะเร็งของโพรงหลังจมูกที่ลุกลามเข้าสู่ฐานกะโหลกศีรษะ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 6 ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อตาทอดอยู่  อย่างไรก็ตาม หากท่านพบความผิดปกติ ไม่ว่าจะเหล่ด้านหน้า หรือเหลือบตาขึ้นลงไม่ถนัด ถือเป็นความผิดปกติที่ต้องพบแพทย์
2.3 ลานสายตาแคบลง ในภาวะปกติ เมื่อตาอยู่ในตำแหน่งกลาง มองตรงไม่เหลือบไปทางใด ลานสายตาทางด้านข้างจะกว้างออกไปประมาณ 100-110 องศาและด้านใกล้กลาง 50 องศา ลานสายตาที่แคบลงนี้มักเกิดทางด้านข้าง โดยมักเกิดจากการกดเบียดประสาทตาช่วงที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ มักพบในโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง (pituitary tumor) กลุ่มนี้บางครั้งจะมีประวัติเดินชนหรือสะดุดของบ่อยๆ 
2.4 มีก้อนเนื้อหรือตุ่มนูนในเยื่อบุตาหรือเปลือกตา อาจเป็นมะเร็งของเยื่อบุตา หรือเปลือกตา
2.5 ตาโปนข้างเดียว เกิดจากการมีเนื้องอกในกระบอกตา หลังต่อลูกตา เช่น มะเร็งของโพรงไซนัสที่ลุกลามทะลุเข้าสู่กระบอกตา หรือการแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่นมายังกระบอกตา แต่หากมีตาโปนทั้งสองข้างมักพบในโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ

จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจในส่วนอื่นๆในบริเวณศีรษะและลำคอต่อไปครับ


10 ความคิดเห็น:

  1. ทศพรจิรสมประเสริฐ19 กันยายน 2557 เวลา 04:55

    ไม่เคยคิดว่าจะมีโรคมะเร็งหนังศรีษะสถิติมากหรือเปล่ารักษาง่ายยากเพียงใดครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. มะเร็งหนังศีรษะ เหมือนมะเร็งผิวหนังทั่วไป แม้ในประเทศไทยเราจะพบน้อยกว่าประเทศทางยุโรปและอเมริกา แต่ก็ควรให้ความสนใจ เพราะเป็นมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ เนื่องจาก ตรวจพบได้ยาก เพราะเราไม่สามารถจะมองเห็นได้ง่าย จึงถือว่าเป็นแหล่งหลบซ่อนที่สำคัญ และเนื่องจากหนังศีรษะติดกับกะโหลก การรักษาจึงอาจจะยากหน่อย เพราะอาจจะลุกลามลงด้านลึกได้ง่าย การผ่าตัดออกอาจหมดได้ยาก หลายครั้งที่พบโดยช่างตัดผม โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ที่พ่อแม่ไม่ได้ดูแลสระผม หรือ ถักเปียให้แล้ว มักจะละเลย การพบสิ่งผิดปกติ ตั้งแต่ตุ่ม ไฝที่โตขึ้น รอยแดงนูน รอยนูน ควรจะปรึกษาแพทย์ครับ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ19 กันยายน 2557 เวลา 10:02

    คุณหมอครับเน้ืองอกภายในกระโหลกศรีษะ อาการที่แสดงจะลุกลามเร็วแค่ไหนครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เนื้องอกภายในกะโหลกศีรษะ อาจจะทำความเข้าใจง่ายๆว่า เป็นส่วนกะโหลกเอง และภายในคือสมอง ตัวกะโหลกศีรษะเอง มักจะแสดงอาการด้วย อาการปวด หรือ อาจจะสัมพันธ์กับเส้นประสาทต่างๆ ตามตำแหน่งที่เป็น เช่น หูอื้อ การได้ยินที่ผิดปกติ การกดเบียดทางสายตาเป็นต้น ส่วนภายในหรือสมอง มักจะเป็นอาการแสดงทางกล้ามเนื้อ คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตามัว แต่ถ้าเป็นต่อมใต้สมอง อาจจะแสดงอาการแตกต่างกันตามส่วนที่มีหน้าที่ต่างกัน เช่น ปัสสาวะมาก ที่เรียกว่า เบาจืด การเจริญเติบโตของร่างกายที่ผิดปกติ หรืออาการทางเส้นประสาทตา ที่ลานสาตาแคบลงครับ
      ส่วนการลุกลามขึ้นอยู่ชนิดของมะเร็งครับ แต่เนื่องจากมะเร็งหรือเนื้องอกในส่วนนี้ อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ และระบบประสาท
      ที่เมื่อถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นโรค หรือ จากการรักษา ก็อาจทำให้ความพิการได้ จึงนับเป็นเนื้องอกและมะเร็งที่มีผลต่อสุขภาพมากครับ

      ลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ20 กันยายน 2557 เวลา 08:14

    ขอบคุณครับมีประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ23 กันยายน 2557 เวลา 22:05

    อยากมราบว่ามะเร็งหนังศรีษะรักษายากหรือง่ายกว่ามะเร็งอื่นๆหรือไม่ถ้าเป็นคนจะรังเกียจมั้ยครับเพราะเป็นคนเตี้ยคนยืนสูงกว่าอาจมองเห็นขอบคุณล่วงหน้าครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

      ลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ24 กันยายน 2557 เวลา 07:57

    ได้รายละเอียดดีมากๆค่ะชอบค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ24 กันยายน 2557 เวลา 21:28

    โอพระเจ้าใครบอกว่าเอดส์น่ากลัวมะเร็งนี่เป็นได้ทุกส่วนของร่างกายเลยคงต้องให้ความใส่ใจดูแลร่างกายมากๆขอบคุณมากที่สุดสำหรับบทความเยี่ยมเช่นนี้

    ตอบลบ
  7. ถ้าคลำบนหัวด้านหลัง แล้วไปเจอก้อนนูนๆ พอกดลงไปจะรู้สึกเจ็บ เป็นอาการของโรคอะไรคะ

    ตอบลบ