วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

การตรวจร่างกายด้วยตนเอง ตอนที่ 1: การตรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานของร่างกาย


เป็นความโชคดีของคนยุคนี้ ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก จึงไม่เป็นการยากที่จะค้นคว้าหาความรู้จาก Internet หรือ Social Media ทุกชนิดที่มีอยู่ได้แค่ปลายนิ้ว ก็จะได้ความรู้ที่หลากหลาย นึกถึงสมัยก่อน  อยากรู้อะไรต้องค้นหาจากห้องสมุด ใช้เวลาครึ่งค่อนวัน จึงจะได้ความรู้ที่ต้องการ บางครั้งต้องไปหลายๆห้องสมุด
เรื่องมะเร็งก็เช่นเดียวกัน อยากรู้สาเหตุ วิธีการรักษา ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หรือแม้แต่การตรวจวินิจฉัยมะเร็งก็มีให้ค้นหาได้อย่างง่ายดาย  
บังเอิญได้เห็นบทความการตรวจร่างกายในการหาโรคมะเร็งอย่างง่าย เป็นพื้นฐานความรู้ที่เก็บไว้ปฏิบัติหรือสังเกตตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ไม่น้อย จึงนำมาให้ท่านได้อ่านกันวันละนิด อ่านไปเรื่อยๆ แนะนำคนอื่นด้วยก็จะดีครับ
 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
การตรวจร่างกายด้วยตนเอง
ตอนที่ 1: การตรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานของร่างกาย

การตรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานนี้ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคมะเร็งหรือป่วยเป็นโรคอะไร หากเป็นแต่เพียงการสำรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานของร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ
อย่างไรก็ดีการตรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานของร่างกายอาจจะช่วยให้เห็นอาการเบื้องต้นของโรคมะเร็งได้ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งอาจจะมีความผิดปกติที่แสดงออกมาในลักษณะของอาการซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หรือตาเหลืองตัวเหลือง เป็นต้น ซึ่งวิธีการตรวจง่ายๆ สามารถกระทำได้ดังนี้

1. ดูความสดชื่นหรือความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้ป่วยมะเร็งมักจะรู้สึกว่า ร่างกายของตนเองไม่แข็งแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไม่มีแรงหรือเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
2. ชั่งน้ำหนักตัวเป็นประจำ หากน้ำหนักตัวลดลงมากผิดปกติ โดยไม่ได้ทำการลดน้ำหนัก มักจะเป็นลักษณะของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น วัณโรค มะเร็ง หรือต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)  เป็นต้น จะต้องรีบค้นหาสาเหตุ

3. ตรวจดูอาการซีด โดยยืนหน้ากระจก และดึงหนังตาล่างลง เพื่อดูบริเวณเปลือกตาด้านใน  โดยปกติ เยื่อบุบริเวณนี้จะมีสีชมพูออกแดง ความซีดจางของบริเวณนี้ อาจบอกได้ถึงภาวะซีด หรือ โลหิตจาง  ทั้งนี้เราอาจอาศัยการเปรียบเทียบกันในหมู่เพื่อนๆ ก็จะสามารถบอกได้คร่าวๆ ถึงภาวะโลหิตจาง ซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติในการสร้าง หรือมีการทำลายเม็ดโลหิตแดง ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเล็กๆที่มีไข้เรื้อรัง ถ้าด้านโรคมะเร็งก็ต้องนึกถึงโรคเลือด ที่พบบ่อยและที่รู้จักกันดี คือ ลิวคิเมีย (Leukemia) หรือมะเร็งเม็ดโลหิตขาว แต่อาการซีดนี้ ไม่ใช่อาการเฉพาะของโรคมะเร็ง เพราะในผู้ป่วยที่มีการเสียเลือดอย่างเรื้อรัง เช่น มีพยาธิในลำไส้ โดยเฉพาะพยาธิปากขอ   หรือในผู้ใหญ่ ที่พบบ่อย คือ การเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ก็อาจมีอาการซีดได้  แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ อาจต้องระวังเรื่องการเสียเลือดเรื้อรังจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นต้น

4. ตรวจดูตาขาว ว่ามีสีเหลืองหรือไม่ แต่การมองดูตาขาวด้วยตนเองในกระจก อาจจะบอกถึงความผิดปกติได้ยาก   โดยเฉพาะในผู้ที่กระทบแดด ลม หรือฝุ่นละอองอยู่เสมอ เพราะเยื่อบุตาขาวจะมีลักษณะขุ่น สกปรก จะต้องตรวจดูตาขาวในส่วนที่ไม่ได้รับการระคายเคืองมาก คือ ส่วนที่อยู่ใต้เปลือกตา โดยดึงหนังตาบนขึ้นพร้อมกับเหลือบตาลงล่าง ท่าตรวจนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้อื่น เพราะเมื่อเหลือบตาลงล่าง ก็ย่อมไม่สามารถมองเห็นได้เองในกระจก อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าเหลือง ควรดูสีปัสสาวะด้วย หากปัสสาวะสีเข้ม โดยที่ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ก็แสดงว่า อาจมีอาการดีซ่านจากสาเหตุใดๆ เช่น โรคตับ โรคเลือดชนิดต่างๆ รวมทั้งมะเร็งของตับด้วย ควรพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจต่อไป

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ21 กันยายน 2557 เวลา 07:21

    ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำดีๆแบบนี้ครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ22 กันยายน 2557 เวลา 02:41

    ได้ยินว่าคคนที่เป็นมะเร็งจจะมีอุจจาระเหมือนเม็ดสีดดำใช่หรือเปล่าครับ จะต้องเป็นทุกครั้งใช่มั้ยครับต้องรีบพบแพทย์ทันที?

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนนะครับ ถ่ายดำ ท้องผูก เป็นอาการที่ต้องสนใจครับ โดยเฉพาะมะเร็งทางเดินอาหารที่อาจจะมีความสัมพันธ์กัน แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่อื่นๆ เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง จะไม่มีอาการที่ว่าครับ

      ลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ27 กันยายน 2557 เวลา 07:49

    มะเร็งทางเดินอาหารกับมะเร็งลำไส้ใหญ่สัมพันธ์กันรึเปล่าครับปัจจัยเสี่ยงแบบเดียวกัน?

    ตอบลบ