วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การตรวจร่างกายด้วยตนเอง ตอนที่ 9: การตรวจบริเวณเชิงกรานในเพศหญิง


ในบริเวณช่องเชิงกรานจะมีความแตกต่างในเพศชายและหญิงเล็กน้อย โดยมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอาการที่ผิดปกติ นำไปสู่การตรวจค้นทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจพิเศษอื่นๆ
อาการผิดปกติ ได้แก่
1. อาการของทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ปวดเบ่ง หรือปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจมีสีแดงจางเป็นสีน้ำล้างปลา หรือสีน้ำล้างเนื้อ จนถึงการมีลิ่มเลือดปนออกมาในปัสสาวะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการมีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ
2. ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ได้แก่ อาการท้องผูกสลับท้องเสีย อาการปวดเบ่งบริเวณทวารหนัก ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือเลือด
การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องอาศัยการตรวจทางเอกซเรย์ และการส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ หรือทางทวารหนัก มีเพียงบางรายเท่านั้นที่จะมาด้วยเรื่องก้อนในช่องเชิงกราน หรือบริเวณท้องช่วงล่าง เช่น มะเร็งของลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะสามารถตรวจได้โดยการคลำพบก้อน แต่แสดงว่าก้อนจะต้องมีขนาดใหญ่มากพอควรแล้ว
  ภาพประกอบจาก : http://http://www.uchospitals.edu/online-library


วิธีเฝ้าระวังด้วยตนเองในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่สำคัญมาก คือ การสังเกตความผิดปกติ ของประจำเดือน และตกขาว ซึ่งอาการผิดปกติที่อาจพบได้อันเนื่องมาจากโรคมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ได้แก่

1. การมีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรได้รับการตรวจภายในจากแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคมะเร็งปากมดลูก
2. ความผิดปกติของประจำเดือน เช่น มีประจำเดือนมาก หรือนานกว่าปกติ มีเลือดออกในช่วงที่ไม่ใช่กำหนดประจำเดือนปกติ และการมีเลือดออกในสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว
3. มีตกขาวออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆ เป็นหนอง หรือปนเลือด และในบางครั้งอาจพบชิ้นเนื้อหลุดปนออกมาด้วย


การที่จะสามารถให้การวินิจฉัยได้แน่นอนที่สุดก็คือ การตรวจภายในเพื่อนำเซลล์ในช่องคลอดและบริเวณปากมดลูกมาตรวจ และยังสามารถตรวจลักษณะปากมดลูก มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ และช่องคลอดได้อีกด้วย ได้มีการใช้เครื่องมือตรวจเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองในต่างประเทศแต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งมีข้อดีในแง่ของความสะดวกแต่อาจผิดพลาดได้ง่ายและเป็นเพียงการตรวจเฉพาะตำแหน่งปากมดลูก ในขณะที่การตรวจโดยแพทย์ จะตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรีได้ครบถ้วน และสามารถทำได้สะดวกตามโรงพยาบาลและคลินิกทั่วไป ดังนั้นจึงควรได้รับการตรวจภายในเพื่อตรวจเซลล์มะเร็งปีละครั้ง

ส่วนการตรวจที่อาจจะตรวจได้ด้วยตนเอง ได้แก่
1. การคลำต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบ ซึ่งต้องคลำทั้ง 2 ข้าง 
2.การตรวจดูอวัยวะเพศภายนอก ซึ่งอาจพบลักษณะผิวด่างขาวหรือมีสีแดงเข้มเป็นบางส่วนร่วมกับอาการคัน อันเป็นลักษณะผิดปกติที่พบในโรคมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของสตรี
3. การคลำบริเวณเชิงกรานจากทางหน้าท้อง
ช่องเชิงกรานเป็นส่วนล่างต่อช่องท้องและหลังต่อกระดูกหัวเหน่า ล้อมด้วยกระดูกเชิงกราน เป็นที่อยู่ของกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะภายในของสตรี เนื่องจากเป็นแอ่งที่อยู่ลึกในส่วนล่างของลำตัว ในภาวะปกติจะคลำไม่พบก้อนใดๆ ยกเว้น
3.1 ในช่องท้องทางด้านซ้ายตอนล่าง อาจพบลักษณะแข็งเป็นลำต่อเลยลงไปในช่องเชิงกราน      ในคนที่ท้องผูกบ่อย ท้องผูกนาน ก็อาจะเป็นลำอุจจาระที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะหายไปเมื่อได้รับยาระบาย หรือถ่ายอุจจาระออกไป
3.2 ผู้ที่กลั้นปัสสาวะนานๆ อาจคลำได้ก้อนในส่วนกลางของลำตัวบริเวณเหนือหัวเหน่า ซึ่งเป็นกระเพาะปัสสาวะที่ขยายตัวขึ้น จะมีลักษณะนิ่ม  และจะรู้สึกปวดปัสสาวะเมื่อกดลงไป หากปัสสาวะออกไปแล้ว ก้อนนี้ก็จะหายไป
3.3   ในสตรีมีครรภ์  จะคลำพบก้อนที่ค่อยๆโตขึ้นตามแนวกลางลำตัว โดยเริ่มจากตำแหน่งหัวเหน่า
3.4  การคลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยหรือหัวเหน่า   ถ้าคงอยู่และไม่ใช่ลักษณะในข้อ 3.1 ,3.2  คงต้องไปตรวจโดยแพทย์

ถ้าท่านสังเกตพบความผิดปกติหรือข้อสงสัยใดๆ อย่านิ่งนอนใจ รีบปรึกษาแพทย์เพื่อการป้องกันรักษาแต่เนิ่นๆ นะครับ





1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 ตุลาคม 2557 เวลา 07:53

    ขอบพระคุณค่ะได้ความรู้เพิ่มเติมเสมอ

    ตอบลบ