วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โรคจิสท์ (GIST) ไม่ใช่ ตัวจิ๊ด (ตอนที่ 1)

วันนี้ได้รับคำถามจากญาติผู้ป่วยรายหนึ่งว่า ป่วยเป็นจิสท์ (GIST) ตอนแรกฟังแล้วคิดว่าเป็นพยาธิตัวจิ๊ด แต่พอหมอบอกเป็นมะเร็งก็ตกใจ อยากรู้ว่าคือ มะเร็งอะไร รักษาอย่างไร   

ผมต้องยอมรับว่าอธิบายยากพอสมควร แม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้น แต่ก็นับว่ายังน้อย โดยสถิติพบเพีย 1.5 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี และเท่ากับ 0.5% ของมะเร็งทางเดินอาหาร พบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป หลายครั้งในอดีตมักจะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ในระบบทางเดินอาหาร หรือ เรียกว่า มะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร  

แพทย์มักเรียกสั้นๆว่าเป็น GIST เพราะแม้แต่คำเต็ม Gastrointestinal Stromal Tumor ก็ยังฟังแล้วไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะไม่เหมือนกับมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ซึ่งฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย เอาเป็นว่า GIST เป็นชื่อเรียกเนื้องอกชนิดหนึ่ง เป็น Mesenchymal Tumor ที่พบบ่อยที่สุดในทางเดินอาหาร เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ Interstitial Cell of Cajal (ICC) ที่ผนังของทางเดินอาหาร โดยอาจจะเป็นเนื้องอกปกติ หรือ เนื้อร้ายที่อาจมีการกระจายไปตับหรือเยื่อบุช่องท้องได้ พบบ่อยที่สุดบริเวณกระเพาะอาหาร 60 -65 % รองลงมาพบที่ลำไส้เล็ก 20-25%,ในลำไส้ใหญ่ 5-10%, และหลอดอาหาร 5% อาจจะพบได้ที่อวัยวะอื่น เช่น ตับ รังไข่ และมดลูก    

การตรวจวินิจฉัย
บางครั้งผู้ป่วยอาจจะตรวจพบโดยบังเอิญ ทั้งๆที่ไม่มีอาการก็ได้ เพราะอาการมักจะมาจากการกดเบียด หรือการมีเลือดออกตามตำแหน่งที่เกิดโรค ส่วนใหญ่จะมีอาการเมื่อก้อนโตแล้ว เช่น ปวดท้อง ปวดจุกแน่น เสียดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แต่อาจมีอาการ เช่น ถ่ายเป็นเลือด  ซีดลงผิดปกติ  หรือ จะมาด้วยการคลำได้ก้อนในท้อง
                      
การตรวจร่างกายอาจจะคลำพบก้อน หรือ ตรวจพบจากการตรวจทางรังสีบริเวณช่องท้อง เช่น อัลตร้าซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องเป็นการตรวจพิสูจน์ ด้วยการตรวจทางวิธี Immunohistochemistry ที่เรียกว่า C-kit หรือ CD117 ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของ GIST ที่ช่วยแยกจาก Leiomyosarcomas, Leiomyomas and Schwannomas จึงจะเป็นการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายว่าเป็น GIST  

แนวทางการรักษาโดยทั่วไป (Cancer.Net 12/2014 )
การรักษา GIST เหมือนกับมะเร็งโดยทั่วไป ที่ต้องมีการปรึกษาวางแผนร่วมกันของ สหสาขาวิชาชีพ  โดยคำนึงถึงระยะโรค และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย รวมทั้งเป้าประสงค์การรักษา แต่แนวทางหลักในการรักษา คือ การผ่าตัด และการให้ยา

การผ่าตัด  จะเป็นการรักษาหลัก โดยเฉพาะในกรณีที่รอยโรคอยู่เฉพาะที่ และสามารถผ่าตัดได้ โดยควรผ่าทันทีเมื่อพร้อม การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษา วิธีเดียว ที่ทำให้หายขาดได้ในกรณีที่โรคยังอยู่เฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายที่สามารถผ่าตัดได้ โดยทั่วไปจะไม่มีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง เพราะธรรมชาติของโรค ไม่ค่อยไปต่อมน้ำเหลือง 
                   
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่รอยโรคมีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม. แม้จะผ่าตัดหมดแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับเป็นใหม่ อาจพิจารณารักษาต่อด้วยากลุ่ม Imatinib เป็นเวลา 3 ปี
              
การรักษาด้วยยา
ด้วยเหตุที่ยาเคมีบำบัด ไม่ค่อยได้ผลในการรักษาและมีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก จึงมักจะไม่ใช้ในการรักษา GIST แต่ยาที่ได้ผลมาก คือ ยามุ่งเป้า กลุ่ม Kinase inhibitors ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีความจำเพาะต่อเนื้องอก มีผลข้างเคียงน้อยและเพิ่มอัตราการอยู่รอดอย่างชัดเจน โดยในปี 2002 FDA อเมริกา ได้อนุมัติการใช้ Imatinib  ซึ่งเป็น Kinase Inhibitor ตัวแรก สำหรับการรักษา GIST ซึ่งผมจำได้ว่าในปีนั้นเป็นการประกาศที่ยิ่งใหญ่และสร้างความหวังให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมากที่จะมีอัตราการอยู่รอดมากกว่า  5 ปี     
                    
วิธีการให้ยานั้น มีทั้งการใช้ยาอย่างเดียว หรือจะเป็นการให้ก่อนผ่าตัดในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่ หรือ อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ หรือ หลังการผ่าตัดในปริมาณ 400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยบางคนอาจจะได้สูงถึง 800 มิลลิกรัม ถ้ามี Exon 9 Genetic Mutation ซึ่งพบในกลุ่มที่เริ่มจากลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความ GIST ทุกชนิดจะตอบสนองต่อยากลุ่มนี้  ภาวะแทรกซ้อนที่ของยาที่อาจพบได้ เช่น บวม ผื่น คลื่นไส้ หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่รุนแรง จะเป็นเลือดออก หรือ การอักเสบของตับ  ภาวะแทรกซ้อนนี้ บางครั้งจะดีขึ้นเอง แต่ในบางราย ต้องลดขนาดยาลง

Sunitinib (Sutent) เป็น Kinase Inhibitor ที่หยุดภาวะการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Angiogenesis) ซึ่งจะส่งอาหารไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้มีการเจริญเติบโตและการแพร่กระจาย  การใช้ยานี้ จึงเป็นการหยุดการส่งอาหารและเลือดไปสู่เนื้องอก Sunitinib ได้รับการอนุมัติในปี 2006 โดย FDA สำหรับการรักษา GIST เมื่อก้อนเนื้องอก ยังโตหลังการได้รับการรักษา ด้วย Imatinib หรือเมื่อภาวะแทรกซ้อน ของ Imatinib ไม่ลดลง แม้จะลดยาแล้ว

Regorafenib (Stivarga) เป็น Tyrosine Kinase Inhibitor ได้รับการอนุมัติ ในปี 2013 สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัด และไม่ได้ผลจาก Imatinib และ Sunitinib

ในหลายกรณีที่ไม่ได้ผลจากการรักษาหลัก อาจจะต้องใช้วิธีการรักษาอื่น ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ฟังในตอนที่ 2 ครับ

  

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กลยุทธ์ใหม่ของการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงในระยะลุกลาม ด้วย Hyperthermia


ภาพประกอบจาก: http://healthcare.utah.edu/huntsmancancerinstitute/cancer-information/cancer-types-and-topics/colorectal-cancer.php

การรักษามะเร็งเร็คตัม หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง จะแตกต่างจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนอื่น ที่มักจะมีปัญหาเรื่องการกลับเป็นใหม่เฉพาะที่ ดังนั้น การรักษามาตรฐาน โดย National Comprehensive Cancer Network Practice Guidelines ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงระยะที่ 2,3 คือ Neoadjuvant Chemoradiotherapy (CRT) หรือ การฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ก่อนการผ่าตัด

กลยุทธ์ใหม่ที่มีการศึกษานั้น มีรายงานการใช้ตั้งแต่ปี คศ. 2000 และมีรายงานในวารสารทางการแพทย์มาแล้วโดย SERGIO MALUTA  จาก University Hospital, Verona, Italy เรื่อง Regional Hyperthermia Added to Intensified Preoperative Chemo-Radiation in Locally Advanced Adenocarcinoma of Middle and Lower Rectum  ด้วยการนำความร้อนมาร่วมรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธผลของการฉายรังสีและยาเคมีบำบัด อีกทั้งได้ศึกษาความปลอดภัยของการใช้ร่วมกันทั้ง 3 วิธี ก่อนผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงในระยะลุกลาม (Locally Advanced <cT3-4 N0/þ> Rectal Adenocarcinoma) โดยเริ่มในปี 2000 ถึงปี  2006 ในจำนวนผู้ป่วย 76  ราย  

ความร้อน หรือ Hyperthermia จะถูกใช้ในการรักษาร่วมหลังการฉายรังสี 1-4 ชั่วโมง โดยให้สัปดาห์ละ ครั้งเป็นเวลา 5 สัปดาห์ พร้อมกับ การฉายรังสี 50 Gy ใน 5สัปดาห์ พร้อมทั้งเพิ่มเติมอีก 10 Gy ในตำแหน่งรอยโรคโดยให้ 5FU 200 mg/m2 และ Oxaliplatin 45 mg/m2 ทุกสัปดาห์

ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดภายใน 4 - 6 สัปดาห์ หลังการรักษาครบด้วยความร้อน รังสี และยาเคมีบำบัด ผลการรักษาพบว่า  ผู้ปวยทนต่อการรักษาได้ดี โดยมีผลการตอบสนองที่ดูจากพยาธิวิทยาหลังผ่าตัด พบว่า  pCR  หรือ ผลพยาธิวิทยา ไม่พบเซลล์มะเร็ง 18 ใน 76 ราย คิดเป็น  23.6% ส่วนที่ตอบสนองแต่ยังพบเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ (Partial Response หรือ PR) พบถึง 34ใน 76 รายหรือเท่ากับ 44.7 % ทั้งนี้ กลุ่มที่ตอบสนอง โดยรอยโรคหายหมดทางพยาธิวิทยา จะมีอัตราการอยู่รอด ที่ดีแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

แนวทางการรักษานี้เป็นที่น่าสนใจ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องมือ แนวทางการรักษามาตรฐาน จึงยังเป็นการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ในปีนี้ มีรายงานที่น่าสนใจโดย Hisanori Shoji และคณะ ที่ลงในวารสาร Cancer Medicine หน้า 834–843 เมื่อเดือน มิถุนายน  ปี2015  เรื่อง A novel Strategy of Radiofrequency Hyperthermia (Neothermia) in Combination with Preoperative Chemoradiotherapy for the Treatment of Advanced Rectal Cancer ซึ่งรายงานการศึกษาความปลอดภัยในการใช้ความร้อน (Hyperthermia) ร่วมรักษากับยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี โดยให้ความร้อนสัปดาห์ละครั้ง ด้วยเครื่องคลื่นวิทยุ (Radiofrequency หรือ  RF) ความถี่  8 MHz ในผู้ป่วย 49 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง (Rectal  Adenocarcinoma) การรรักษาประกอบด้วยการฉายรังสี  ด้วยเทคนิค Intensity-Modulated Radiation Therapy (IMRT) 5 วันต่อสัปดาห์ ในปริมาณรังสีรวม 50 Gy ร่วมกับยาเคมีบำบัด  Capecitabine (1700 mg/m2 per day) 5 วันต่อสัปดาห์ และ ความร้อน สัปดาห์ละครั้ง รวม 5 ครั้ง ใน 5 สัปดาห์   

ผู้ป่วย 33 ราย จาก 49 รายได้รับการผ่าตัดภายใน 8 สัปดาห์ พบว่า 8 ราย หรือ 16.3% ผลพยาธิวิทยา ไม่พบเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ผ่าตัดนั้น พบว่า 3 ราย ไม่ได้รับการผ่าตัด เนื่องจากการลุกลามของโรค ส่วน 13 รายปฏิเสธการผ่าตัด ซึ่งกลุ่มนี้ พบว่ารอยโรคทางคลินิค (Clinical Complete Response หรือ CR) หายหมด 3 ราย (6.1%)  และอีก 3 ราย(6.1%) ที่รอยโรคเฉพาะที่หายหมด แต่มีการกะจายของโรคไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ

จากทั้ง 2 รายงาน แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัย และผลการรักษาที่ดีจากการให้ความร้อน ร่วมกับยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ทดแทนการผ่าตัด ดังนั้นในการรักษาที่มุ่งหวังให้หายขาด การรักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับการฉายรังสีและยาเคมีบำบัด จะเป็นมาตรฐาน แต่ การศึกษาเปรียบเทียบ โดยการเพิ่มความร้อน หรือ Hyperthermia จะเป็นที่น่าสนใจ ในการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่มีรอยโรคหายหมด จากผลทางพยาธิวิทยา ซึ่งน่าจะส่งผลต่ออัตราการอยู่รอด และการควบคุมโรคเฉพาะที่

ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ด้วยข้อจำกัดใด หรือ ผู้ป่วยที่มีการกระจายไปตับ หรือ ปอด และไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว การใช้ความร้อน ก็อาจจะช่วยเพิ่มอัตราการควบคุมโรคได้ ซึ่งน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิผลรักษาในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง  การศึกษาต่อเนื่องน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เมื่อมีการพัฒนาของเครื่องมือมากขึ้น






วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง ตอน น้ำดื่มช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

ภาพประกอบจาก: http://www.newhealthadvisor.com

วันนี้ผมจะนำเรื่องเบาๆ ที่น่าจะเข้าใจง่าย แต่ก็เป็นประเด็นขึ้นมาได้

เหตุเพราะวันนี้ หมอรุ่นน้องคนหนึ่ง มาหาผม พร้อมรูปถ่ายในมือถือ บอกว่า มีคนมาถามเรื่องน้ำในรูปที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าดื่มน้ำชนิดแล้ว ช่วยป้องกันมะเร็ง ด้วยเหตุผลมากมาย พร้อมทั้งมีการอ้างอิงชื่อแพทย์ด้วย เขาควรจะตอบผู้ป่วยอย่างไรดี น่าเชื่อถือหรือไม่และจะช่วยรักษาได้ด้วยหรือไม่  

ก่อนอื่น ผมต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมรู้เรื่องน้ำดังกล่าวน้อยมาก ผมเพียงอ่านตามและคิดตามเหมือนคนทั่วไป และไม่ทราบเจตนาการอ้างอิงแพทย์ เพราะไม่รู้ข้อความไหนเป็นของท่าน เพราะในหลายๆประโยค ก็มีเหตุผลแต่การร้อยเรียงเพื่อให้น่าเชื่อถือและน่าอ่าน คงเป็นศิลปการสื่อความหมาย

ในความเห็นของผม อาจจะเป็นเพราะความกลัวครับ ทุกอย่างที่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าดี จึงล้วนแล้วแต่เป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็งและญาติ แน่นอนที่สุด คำแนะนำส่วนใหญ่มีความปราถนาดี แต่ในมุมกลับของทุกวงการ ย่อมมีผู้ที่ฉกฉวยประโยชน์ จากความทุกข์ทรมาน ความกลัวของผู้ป่วย การเสนอขายในสิ่งที่เป็น ความหวัง ที่เป็นความเชื่อและศรัทธา จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ผมนึกถึงครั้งหนึ่งในอดีต ในวงสนทนาหนึ่ง ที่พวกเราเคยพูดคลายเครียดว่า ประกอบอาชีพอะไรกันดี จึงจะรวย บ้างว่าอสังหาริมทรัพย์ บ้างว่าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วจบลงที่ผลิตน้ำเพื่อขายผู้ป่วยมะเร็ง  เพราะในยุคนั้นสมัยนั้น นิยมสารพัดน้ำศักด์สิทธิ์ ที่มีการจำหน่ายกันทั้งกินทั้งอาบ นึกไม่ถึงว่าวันนี้จะมีคนผลิตน้ำมาขายจริงๆ น้ำของเขาไม่ใช่น้ำเปล่า ก็เหมือนๆกับน้ำเกลือแร่ ในโรงแรมที่มีราคาแพง  จนบางครั้งเราไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าราคาหรือไม่ มีประโยชน์อะไรจริงหรือไม่

ผมจึงตอบหมอรุ่นน้องนั้นไปว่า เมื่อเป็นความคิด ความเชื่อและความพอใจของผู้ขายหรือผู้ซื้อ ก็ต้องแล้วแต่ผู้ซื้อ ผู้ขาย รวมไปถึงผู้ให้ใบอนุญาต ผลิตและจำหน่าย หากทว่าถ้ามีการปรึกษาหารือ เราคง บอกว่ายัง ไม่มีหลักฐานใด หรือ ข้อพิสูจน์ใดว่า น้ำดังกล่าวนั้นป้องกัน หรือ รักษามะเร็งได้
แน่นอนที่สุด  การดื่มน้ำมากๆ มีประโยชน์ ดีกว่าการขาดน้ำ  โดยเฉพาะเวลาที่เราได้รับการฉายรังสี หรือ ได้ยาเคมีบำบัด  เพราะเป็นการรักษาความสมดุลย์ของร่างกาย ช่วยขับถ่ายของเสีย รักษาการทำงานของไต

อย่างไรก็ดี แน่นอนที่สุด น้ำสะอาดบริสุทธิ์ ย่อมดีแน่นอน ดื่มมากๆก็ยิ่งดี หากไม่มีข้อจำกัดปริมาณน้ำ  แต่การยับยั้งอนุมูลอิสระ เพื่อจะไม่เกิดเซลล์มะเร็งที่เขียนนั้น โดยมีทฤษฎีที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ก็ยังไม่เห็นเกี่ยวกับน้ำที่ประชาสัมพันธ์นั้น รวมทั้งบอกว่าน้ำนี้ปลอดสารก่อกลายพันธ์ ก็ยิ่งอธิบายยาก หมอผู้น้องบอกว่าน้ำบริสุทธ์ทั่วไป หรือ น้ำฝนในบรรยากาศที่สะอาดก็บริสุทธิ์ ดังนั้นถ้าจะให้ผมเทียบกับน้ำผลไม้คั้น ผมคงให้คะแนนน้ำผลไม้มากกว่าครับ แม้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นจะไม่เกิดในผู้ป่วยที่ร่ำรวย แต่ห่วงการเกิดกระแสความเชื่อ กระจายไปสู่ท่านซึ่งมีข้อจำกัดในทุนทรัพย์ ที่ต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น และข้อสำคัญ เมื่อความเชื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ดื่ม ก็จะเกิดสภาวะทางจิตที่ต้องหาดื่มน้ำนี้เท่านั้น เรียกว่าจะเดินทางไปไหน ต้องพกพาน้ำนี้ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ ขอเพียงให้ทีมสู้มะเร็งเราเข้าใจ กระแสก็คงค่อยๆหายไป หากท่านผู้ใดสงสัยมากกว่านี้ อาจส่งคำถามไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับผมคงตอบอีกครั้งว่า ไม่เข้าใจในรายละเอียด ที่เขียนประชาสัมพันธ์ ประโยชน์ไม่น่าจะมีมากตามที่ผู้บริโภคหวังครับ
                                       

                 

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แพทย์แผนจีน รักษามะเร็งได้จริงหรือ

ที่มาภาพประกอบ: http://www.howtobecome.com/how-to-become-an-acupuncturist

จากบทความก่อนหน้านี้ ได้มีการกล่าวถึงแพทย์แผนจีน จึงมีคำถามมาว่า ผมคิดว่าแพทย์แผนจีนรักษามะเร็งได้จริงหรือ

ผมต้องขอให้แยกชัดเจนนะครับว่า แพทย์จีน ซึ่งจบการศึกษาแพทยศาสตร์ตามแนวตะวันตก หรือ ที่เรียกว่าแพทย์ปัจจุบัน ก็สามารถรักษาได้อย่างแน่นอน เหมือนกับแพทย์ไทย มีการศึกษาวิจัยเหมือนทางด้านตะวันตก เครื่องมือการรักษาก็คล้ายกัน เช่น ผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสี

ส่วนแพทย์แผนจีน จะคล้ายกับแพทย์แผนไทยครับ เท่าที่มีรายงาน ยังไม่มีการศึกษาที่มากพอในการจะทดแทนการรักษาโรคมะเร็งจากแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนที่มีการประชาสัมพันธ์กันทั่วไปนั้น เป็นการรักษาตามแนวแผนปัจจุบัน และมีการเสริมด้วยแนวทางการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

วันนี้ ผมจะนำข้อมูลแพทย์แผนจีน ที่ได้เรียนรู้จากแพทย์แผนจีนในเมืองไทย ซึ่งผมมีความเชื่อว่า จะเป็น ส่วนในการรักษาเสริม สำหรับโรคมะเร็งในบางด้าน ด้วยเหตุด้วยผลที่พอจะมีหลักฐาน นำไปสู่ความจริงบ้าง

คลินิกแพทย์แผนจีน มีการรักษาหลัก 3 วิธีหลัก คือ
1. การฝังเข็ม
2. ใช้สมุนไพรหรือยาจีน
3. การนวดทุยหน่า 

สิ่งที่เราค่อนข้างจะคุ้นเคย คือ การฝังเข็มเพื่อรักษาอาการเจ็บปวด หรือลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ผมได้เรียนถามว่าการฝังเข็ม ช่วยเรื่องคลื่นไส้ได้อย่างไร

แพทย์แผนจีน กล่าวว่า เวลากระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ จะมีแก๊ส หรือ ลม (ชี่) ในกระเพาะอาหารย้อนขึ้น ไม่ไหลลงตามปกติ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ การฝังเข็มจะฝังตามจุดเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร เพื่อให้ทำงานเป็นเป็นปกติ ลม (ชี่) จะไหลลงและหมุนเวียนตามปกติ
                
เรื่องยาจีนที่ใช้  ซึ่งคล้ายกับสมุนไพรไทยนั้น ก็จะมีชื่อสากลกำกับ เช่น Baishao จะมีชื่อสากลว่า White Peony Root หรือ Radix Paeoniae Alba เป็นต้น

ส่วนการนวดที่เรียกว่า ทุยหน่า ซึ่งมีหลักการคล้ายกับ การฝังเข็ม โดยอยู่บนพื้นฐานของลมปราณ เป็นการรักษาความสมดุลย์ ที่เรียกว่า หยิน-หยาง/ ร้อน-เย็น /มืด-สว่าง   ตามปรัชญาแพทย์แผนจีนของลัทธิเต๋า

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงผลต่อร่างกายต่อการฝังเข็ม จะมีรายงานอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น รายงานของ Jeong HJ และคณะในวารสาร Am J Clin Med  ซึ่งเป็นการรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งเมื่อได้รับการฝังเข็ม แล้วอาการปวดดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ผลการตรวจเลือด ได้แสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกัน

การฝังเข็มคืออะไร          
การฝังเข็ม คือ การแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกาย ซึ่งมีตำแหน่งอยู่บนเส้นลมปราณ ตามทฤษฎีและหลักการรักษาแพทย์แผนจีน เพื่อปรับดุลยภาพร่างกาย และการไหลเวียนของเลือด และลมปราณให้กลับมาไหลเวียนปกติ

ซึ่งว่ากันว่า ในร่างกายของคนมีเส้นลมปราณ 14 เส้น ทุกเส้นเกี่ยวข้องกับอวัยวะในร่างกาย ซึ่งเมื่อผมฟังแพทย์จีนอธิบายแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ดีเพียงพอ เพราะไม่ได้เป็นไปตามกายวิภาคที่เรียนตามแพทย์ตะวันตก แต่ก็น่าประหลาดใจ ที่สามารถรักษาได้หลายโรค แม้แต่การลดน้ำหนัก เป็นต้น 

ความเป็นมาตรฐาน ของการฝังเข็มที่ผมคิดระวังในแนวแพทย์ปัจจุบัน คือ อาการเจ็บปวด ซึ่งไม่มาก แต่ที่ต้องระวัง คือ การติดเชื้อในกรณีที่ผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ รวมทั้งบางรายที่มีจุดเลือดออกง่าย ที่น่าสนใจ อีกอย่างคือ การครอบแก้ว ที่เราเคยเห็นทั่วไป ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการรักษา ที่มีพื้นฐานของเรื่องลมปราณ เช่นกัน

ทั้งหมดเป็นความรู้ที่ผมมีโอกาสไปนั่งสนทนากับแพทย์แผนจีน พร้อมทั้งดูเอกสารอ้างอิงและตัวอย่างผู้ป่วย ซึ่งหายจากอากรปวด อาการไอ เป็นต้น ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์ แต่ผมไม่สามารถถ่ายทอด หรือยืนยันได้ว่า ควรเชื่อเพราะเหตุผลอะไร  ซึ่งไม่แตกต่างจากบทความของศาสตราจารย์ Tony Mox ที่ลงในบทความที่แล้วเกี่ยวกับการรักษาทางเลือก และการรักษาเสริม

อย่างไรก็ตาม ผมยังคงให้บทบาทเป็นการแพทย์ทางเลือก เมื่อหลักการรักษามาตรฐานไม่ได้ผลกับผู้ป่วยแล้ว หรือ เป็นการช่วยรักษาเสริม เช่นอาการปวด ที่ต้องใช้ยาระงับปวด ระดับมอร์ฟีนเป็นต้น เพราะ จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้น การเลือกใช้อย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ ด้วยหลักฐานในปัจจุบัน  ยังไม่สามารถใช้เป็นการรักษาเป็นการรักษาหลักครับ