วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

น้ำมันมะพร้าว กับ เยื่อบุช่องปากอักเสบ จากการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด


ปัญหาเรื่องเยื่อบุช่องปากอักเสบ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี บริเวณศีรษะและลำคอ  และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด นอกจากความเจ็บปวดแล้ว ยังนำไปสู่ ภาวะทุโภชนาการจากการกินไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด คือ การติดเชื้อ ทั้งเฉพาะที่ในช่องปากจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่กระจายในกระแสโลหิต

จึงมีความพยายาม ที่จะลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนนี้ ในรูปแบบต่างๆกัน โดยเฉพาะในรูปแบบของยาอมบ้วนปาก                     

ในระยะนี้ มียาตัวหนึ่งที่ถูกนำเข้ามาใช้เป็นยาอมบ้วนปากที่มีราคาแพงมาก ซึ่งก็มีรายงานการศึกษาทางด้านที่ได้ผล  แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า ยา นี้ไม่ได้ผลเหมาะสมกับที่คาดหวัง 

จากรายงานการใช้ยาอม A เพื่อลดอาการอักเสบของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะ ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี ทั้งในผู้ป่วยที่ได้หรือไม่ได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เป็นการศึกษาร่วมกันของหลายสถาบันที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Department of Radiation Oncology, Moffitt Cancer Center,    University of Florida,  Duke University Cancer Center, MD Anderson Cancer Center ซึ่งลงพิมพ์ในวารสาร Oral Oncol. 2014; 50(8): 765769

โดยการให้ยา A อย่างน้อย 4 ครั้ง ถึง 10 ครั้งต่อวันทั้งนี้มีความมุ่งหวังที่จะลดภาวะแทรกซ้อนที่มีการอักเสบของเยื่อบุในระดับ 2 ลงจาก ร้อยละ 90 เหลือ น้อยกว่า <75%   

ผลจากการศึกษาในผู้ป่วย 98 ราย ประเมินผลได้  59/98 ราย (60%) ปรากฎว่าไม่ได้ผลตามที่คาด ซึ่งรายงานนี้ตรงกับที่มีรายงานใน European J of Oncology Nursing  ซึ่งเปรียบเทียบยาอมบ้วนปาก A กับการอมน้ำแข็ง ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด เพื่อการปลูกถ่ายไขกระดูก  พบว่าไม่มีความแตกต่างในการเกิด ภาวะเยื่อบุอักเสบ
                      
จะเห็นได้ว่าแม้ยาราคาแพง ก็อาจจะไม่ได้ผลอย่างที่คาด

แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นรายงานวิจัยของคนไทย ที่ลงในวารสารโรคมะเร็ง เป็นการศึกษานำร่อง เรื่องการศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลช่องปากด้วยตนเองร่วมกับการอมกลั้วปากด้วยน้ำมันมะพร้าวต่ออาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ

ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยคุณเอมอร สุวรรณพิวัฒน์ จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (วารสารโรคมะเร็ง 2556;33:41-52.) โดยมีหลักการที่อ้างอิงในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวว่าน้ำมันมะพร้าวออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา แคนดิดาแอลบิแคน และเชื้อสเตร็พโตคอคคัสมิวแทนส์ ไปสู่การศึกษาการอมกลั้วปากด้วยน้ำมันพืช ที่อาจนำมาเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งมะพร้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในประเทศและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวบริสุทธ์ (Virgin Coconut Oil) นั้นมีรายงานการศึกษาในห้องทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธ์ต้านการอักเสบ ลดปวด และลดไข้ ช่วยลดระยะเวลาในการหายของแผลให้เร็วขึ้น
                  
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายงานการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ในการดูแลสุขภาพทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ป่วย เช่น ช่วยเพิ่มระดับไขมันที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยรักษาปัญหาผิวหนัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของหน้าที่ในการป้องกันผิวหนัง ผู้วิจัยจึงเลือกใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์อมกลั้วปากในการศึกษาครั้งนี้ เพราะมีกรดไขมันลอริคที่มีสารโมโนลอรินที่สามารถต้านจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในช่องปาก โดยมีผลต่อหน้าที่การทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเรียงตัวหรือสลายตัวของเซลล์จุลินทรีย์จึงอ่อนแอลงและตายในที่สุดพร้อมทั้งมีปริมาณวิตามินอีบริสุทธิ์สูงที่จะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระส่งเสริมการหายของแผลในช่องปาก
                    
การศึกษานี้ แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยเพียง  20 ราย แต่ก็แบ่งเปรียบเทียบเป็น สองกลุ่มๆละ 10 รายคือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลช่องปากด้วยตนเองร่วมกับการใช้น้ำมันมะพร้าวอมกลั้วปากทุกวันในช่วงเช้า โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ได้รับยาเคมีบำบัดต่อเนื่องไปจนครบ 4 วัน การอมกลั้วปากด้วยน้ำมันพืช จะใช้ประมาณ 15 ซีซี เทใส่ในปาก และเคลื่อนน้ำมันให้ทั่วช่องปาก โดยใช้การดึงดูดและดันน้ำมันที่มีอยู่ในช่องปากให้เคลื่อนที่ใช้เวลาประมาณ 15 นาที และบ้วนน้ำมันนั้นทิ้งไป ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติจากพยาบาล

ผลการศึกษาพบว่าหลังจากผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด กลุ่มทดลองมีระดับความรุนแรงของอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และไม่พบผลข้างเคียงใดๆจากการใช้น้ำมันมะพร้าวอมกลั้วปาก
                     
เห็นไหมครับ น้ำมันมะพร้าวที่เป็นสารธรรมชาติ ราคาไม่แพง ก็มีประโยชน์ ที่จะนำมาใช้และศึกษาอย่างจริงจัง  นะครับ


วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง: อย่าท้อ เพียงเพราะคำว่าไม่หาย

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

เป็นธรรมดาของโรคมะเร็ง ที่ผู้ป่วยหรือญาติมักจะตกใจ และรู้สึกแย่ขนาดที่ไม่อยากจะเอ่ย หรือ คิดถึง   ไม่ว่าจะเป็นตอนกำลังรักษา หรือ หายแล้วก็ตาม ผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะมีความมั่นใจว่าจะหาย ส่วนหนึ่งพร้อมสู้แม้จะมีความหวังอันน้อยนิด
                 
ด้วยเหตุที่การรักษามะเร็งนั้นยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ฉายรังสี และยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะ 2 วิธีหลังที่ผู้ป่วยจะกลัว เพราะเคยได้ฟังมาว่า ภาวะแทรกซ้อนมีมาก  บางครั้งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และบางครั้งถึงกับเสียชีวิต               

ดังนั้นเมื่อมีคำว่า "ไม่หาย" จึงเปรียบเสมือนคำตัดสินที่ผู้ป่วยจะยอมรับด้วยความท้อแท้ และหยุดการรักษา ยอมรับสิ่งที่จะตามมา โดยเฉพาะท่านที่มีปัญหาชีวิตอยู่แล้ว เช่นปัญหาครอบครัว ทางการเงินและหรือปัญหาอื่นๆ

เหตุที่ผมนำเรื่องนี้มากล่าวถึงในวันนี้ เพราะ มีญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง มาปรึกษาว่า อาของเขา ขายขนมในตลาด อยู่ๆก็รู้สึก แขน ขาข้างขวาอ่อนแรง ทั้งที่ปกติเป็นคนแข็งแรงดี ไปตรวจที่โรงพยาบาล พบว่าเป็นมะเร็งปอด และกระจายไปที่สมอง หมอบอกระยะที่ 4 แล้ว รักษาไม่หาย

อาของเขาไม่มีครอบครัว อยู่คนเดียว จึงยอมรับสภาพว่า แขนขา อ่อนแรง ก็เหมือนอัมพฤกษ์ ไม่ช้าหรือ เร็วก็ตายเหมือนกัน อยากใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายโดยไม่ต้องรบกวนใคร ญาติซึ่งเป็นหลานก็รู้สึกสงสาร อยากถามหาหนทางที่จะรักษา ก็เลยไปปรึกษาอีกโรงพยาบาล โดยไม่มีผู้ป่วยไปด้วย ก็ได้รับคำตอบที่เหมือนกัน แต่ครั้งนีดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม เพราะพอแพทย์อธิบายวิธีการรักษา ตัวหลานก็มึนไปด้วย เพราะมีทั้งการฉายรังสี ที่สมอง 2-4 สัปดาห์ ต้องเดินทางทุกวัน รวมกับการต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาเคมีบำบัด  เดือนละครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน เขาจะช่วยอาได้อย่างไรดี เพื่อช่วยมิให้อาท้อแท้จนสู่ภาวะจิตตก

ผมเข้าใจ ถึงความรู้สึกนี้ดี อยากที่จะบอกว่าขอให้สู้ และขอเสนอข้อคิดในมุมต่างๆ ดังนี้
                 
ตัวผู้ป่วย: คงต้องตระหนักว่าการป่วยถึงขั้นไม่หายนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณภาพชีวิตขณะยังมีลมหายใจ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ป่วยมะเร็งรายนี้ ถ้าไม่รับการรักษา สิ่งที่จะตามมา คือขณะยังมีชีวิตอยู่ อาจจะหอบเหนื่อย ไอเป็นเลือด ช่วยตัวเองไม่ได้นอนบนเตียงตลอดเวลา จริงอยู่ถึงรักษาก็ไม่อาจที่จะมีชีวิตยืนยาว แต่มีโอกาสลดความทรมานให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องแขนขาอ่อนแรง หรือไอเป็นเลือด ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ลำบาก และเป็นภาระทั้งตัวเอง และญาติ                                        

จึงขอแนะนำว่า อย่าท้อ สร้างพลังใจให้ตัวเอง แม้เป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็พยายามนะครับ ผมไม่ได้เปรียบเทียบระหว่างโรค เพราะทุกความสูญเสีย คือ ความทุกข์  แต่อยากจะยกตัวอย่างให้อย่าท้อในเรื่องมะเร็ง

ส่วนญาติผู้ป่วย: แม้ผู้ป่วยหมดทางรักษา แต่การได้รับกำลังใจ การดูแลที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขได้บ้างในบางเวลา  ถือเป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการให้แก่ผู้ป่วย อย่าตัดสินใจลดภาระในเบื้องต้น โดยการไม่ไปรักษา เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานในระยะยาว การปรึกษาและเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ร่วมกับแพทย์  จะเป็นสิ่งที่จะช่วยผู้ป่วยได้

ฝ่ายแพทย์: การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปกติหมอก็จะให้ความสำคัญในการรักษาเต็มที่ทุกระยะ จนกระทั่งถึงระยะสุดท้าย ไม่ได้ดูเฉพาะในกลุ่มที่รักษาได้ ศิลปะในการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยการสร้างความสมดุลทุกมิติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  เพราะจะมีความหลากหลายในปัญหา ที่ผนวกรวมของผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว และสังคม ที่ไม่มีในตำราเล่มไหน เขียนได้หมด 

ไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่า CPG ( แนวทางมาตรฐานการรักษา )

ไม่มี Evidence Level 1 หรือ หลักฐานการบ่งชี้ในระดับ 1 ซึ่งต้องปฏิบัติตาม ทุกอย่างเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่นำไปสู่บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ครับ ให้โอกาสและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ป่วย อย่าได้เกิดความท้อแท้ หดหู่ และซึมเศร้า เลยครับ

ผมก็คงได้แต่หวังว่าในอนาคตอันใกล้ กระทรวงสาธารณสุขคงเล็งเห็นความจำเป็นในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะไม่หาย โดยเฉพาะกลุ่มซึ่งไร้ญาติหรือ มีญาติ แต่ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะช่วยเกื้อกูลกันได้เต็มที่  รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณสร้างสถานพยาบาลกลางในทุกภูมิภาค เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้เท่าที่จะพึงทำได้ นอกเหนือจากเทคโนโลยีราคาแพง ในมหาวิทยาลัยแพทย์  ศูนย์มะเร็งต่างๆ ที่มีแต่ความแออัด เกินกว่าที่จะดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ เพื่อความสุข และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ท้อ แม้ไม่หายครับ
             

  

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โรคจิสท์ (GIST) ไม่ใช่ ตัวจิ๊ด (ตอนที่ 2)

จากตอนที่แล้ว การรักษา GIST ในตำแหน่งปฐมภูมิ จะใช้การผ่าตัด หรือ การใช้ยา แต่หากการรักษานั้นไม่ได้ผล หรือ เมื่อมีการกระจายไปตับ อาจจะใช้เทคนิคการรักษาอื่นที่เป็นการรักษาเฉพาะที่ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาอาการ แต่หากเป็นเพียงตำแหน่งเดียวก็อาจจะช่วยให้หายขาดหรือมีอัตราการอยู่รอดที่ยาวขึ้น

การจะเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งรอยโรค ที่ค่อนข้างจำเพาะ คือ ที่ตับ จะมีการใช้การจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง (Radio Frequency Ablation) หรือ การฉีดสารเข้าไปทำลายเนื้องอกโดยผ่านเส้นเลือดที่มาเลี้ยง (Hepatic Arterial Embolization) เหมือนกับการรักษามะเร็งตับ ดังเช่นตัวอย่างรายงาน เรื่อง Radiofrequency ablation for liver metastasis from gastrointestinal stromal tumor โดย  Yamanaka T และคณะ (J Vasc Interv Radiol. 2013)  ที่รายงานความปลอดภัย และผลการรักษา  21 รอยโรคที่เกิดจากการกระจายของ GIST  มาที่ตับ ในผู้ป่วย 7 ราย พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมากคือ รอยโรค หายไปหมด จากการตรวจด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จากระยะเวลาการติดตามผู้ป่วยเฉลี่ย  30.6 เดือน ในจำนวนนี้มีการกลับเป็นใหม่ 1 ตำแหน่ง คิดเป็น 4.8% และมีผู้ป่วยหนึ่งรายที่มีรอยโรคเกิดขึ้นใหม่ในตับและปอด นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นเทคนิคที่ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงจากการรักษา ซึ่งเทคนิค RF นี้ ได้เคยเขียนใน blog นี้ แล้ว เป็นเทคนิคที่ใช้ความร้อนในการทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ก็จะมีข้อจำกัดในกรณีที่รอยโรค อยู่ใกล้เส้นเลือดใหญ่ หรือ ติดอยู่กับกระบังลมของปอด พร้อมทั้งก็อาจจะมีภาวะแทรกซ้อน ที่มีในรายงานอื่นเกี่ยวกับติดเชื้อ หรือ อาการปวด เป็นต้น

ด้วยหลักการเดียวกัน ของการรักษารอยโรคในตับ ก็มีผู้ใช้เทคนิคอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก หรือ ที่เรียกว่า Embolization  แต่ก็ยังไม่ที่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย

รังสีรักษา บทบาทการใช้รังสีรักษา ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโรคที่พบในช่องท้อง  จึงมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติในช่องท้อง ซึ่งมีทั้ง ตับ ไต และลำไส้ ซึ่งไวต่อรังสี แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคนิคการฉายรังสี ที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยต่ออวัยวะโดยรอบ ได้แก่ 

IMRT IGRT ทำให้ความมุ่งหวังจากเดิมซึ่งเป็นเพียงการใช้รังสี เพื่อบรรเทาอาการปวด หรือ หยุดสภาวะการมีเลือดออก โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ผ่าตัดยากหรือไม่ตอบสนองต่อยาแล้ว มาเป็นการรักษาที่หวังเพิ่มอัตราการหายมากมากขึ้น

มีรายงานแสดงผลการใช้รังสีในก้อน GIST ใหญ่ ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้ ทั้งไม่ตอบสนองต่อ Imatinib   ขนาด 14.8×11.5×12.3 ซม. หลังการฉายรังสี 63.4 Gy ก้อนยุบลงพร้อมทั้งมีส่วนเน่าตายภายในก้อน (J Gastrointest Oncol. 2012 Jun; 3(2): 143146. Effectiveness of radiation therapy in GIST: A case report )  


จากรายงานนี้ จะเห็นได้ว่า GIST ซึ่งอดีต คิดว่าไม่ตอบสนองต่อรังสี ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณรังสีที่ให้จำกัด แต่ด้วยรังสีที่สูงขึ้นก็จะพบการตอบสนองที่ดี ทำให้เกิดความหวังมากขึ้น ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จะด้วยข้อห้าม ของตำแหน่ง หรือ ขนาดก้อนที่ใหญ่ หรือ ข้อห้ามจากอายุ และสุขภาพ สามารถได้รับการรักษา ด้วยรังสี ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ รวมทั้งยา ที่จะเพิ่มอัตราการควบคุมโรค และอัตราการอยู่รอดได้ครับ GIST  ที่รักษายาก ก็อาจจะกลายเป็นตัวจิ๊ด ที่ไม่เป็นปัญหาในอนาคตครับ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โรคจิสท์ (GIST) ไม่ใช่ ตัวจิ๊ด (ตอนที่ 1)

วันนี้ได้รับคำถามจากญาติผู้ป่วยรายหนึ่งว่า ป่วยเป็นจิสท์ (GIST) ตอนแรกฟังแล้วคิดว่าเป็นพยาธิตัวจิ๊ด แต่พอหมอบอกเป็นมะเร็งก็ตกใจ อยากรู้ว่าคือ มะเร็งอะไร รักษาอย่างไร   

ผมต้องยอมรับว่าอธิบายยากพอสมควร แม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้น แต่ก็นับว่ายังน้อย โดยสถิติพบเพีย 1.5 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี และเท่ากับ 0.5% ของมะเร็งทางเดินอาหาร พบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป หลายครั้งในอดีตมักจะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ในระบบทางเดินอาหาร หรือ เรียกว่า มะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร  

แพทย์มักเรียกสั้นๆว่าเป็น GIST เพราะแม้แต่คำเต็ม Gastrointestinal Stromal Tumor ก็ยังฟังแล้วไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะไม่เหมือนกับมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ซึ่งฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย เอาเป็นว่า GIST เป็นชื่อเรียกเนื้องอกชนิดหนึ่ง เป็น Mesenchymal Tumor ที่พบบ่อยที่สุดในทางเดินอาหาร เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ Interstitial Cell of Cajal (ICC) ที่ผนังของทางเดินอาหาร โดยอาจจะเป็นเนื้องอกปกติ หรือ เนื้อร้ายที่อาจมีการกระจายไปตับหรือเยื่อบุช่องท้องได้ พบบ่อยที่สุดบริเวณกระเพาะอาหาร 60 -65 % รองลงมาพบที่ลำไส้เล็ก 20-25%,ในลำไส้ใหญ่ 5-10%, และหลอดอาหาร 5% อาจจะพบได้ที่อวัยวะอื่น เช่น ตับ รังไข่ และมดลูก    

การตรวจวินิจฉัย
บางครั้งผู้ป่วยอาจจะตรวจพบโดยบังเอิญ ทั้งๆที่ไม่มีอาการก็ได้ เพราะอาการมักจะมาจากการกดเบียด หรือการมีเลือดออกตามตำแหน่งที่เกิดโรค ส่วนใหญ่จะมีอาการเมื่อก้อนโตแล้ว เช่น ปวดท้อง ปวดจุกแน่น เสียดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แต่อาจมีอาการ เช่น ถ่ายเป็นเลือด  ซีดลงผิดปกติ  หรือ จะมาด้วยการคลำได้ก้อนในท้อง
                      
การตรวจร่างกายอาจจะคลำพบก้อน หรือ ตรวจพบจากการตรวจทางรังสีบริเวณช่องท้อง เช่น อัลตร้าซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องเป็นการตรวจพิสูจน์ ด้วยการตรวจทางวิธี Immunohistochemistry ที่เรียกว่า C-kit หรือ CD117 ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของ GIST ที่ช่วยแยกจาก Leiomyosarcomas, Leiomyomas and Schwannomas จึงจะเป็นการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายว่าเป็น GIST  

แนวทางการรักษาโดยทั่วไป (Cancer.Net 12/2014 )
การรักษา GIST เหมือนกับมะเร็งโดยทั่วไป ที่ต้องมีการปรึกษาวางแผนร่วมกันของ สหสาขาวิชาชีพ  โดยคำนึงถึงระยะโรค และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย รวมทั้งเป้าประสงค์การรักษา แต่แนวทางหลักในการรักษา คือ การผ่าตัด และการให้ยา

การผ่าตัด  จะเป็นการรักษาหลัก โดยเฉพาะในกรณีที่รอยโรคอยู่เฉพาะที่ และสามารถผ่าตัดได้ โดยควรผ่าทันทีเมื่อพร้อม การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษา วิธีเดียว ที่ทำให้หายขาดได้ในกรณีที่โรคยังอยู่เฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายที่สามารถผ่าตัดได้ โดยทั่วไปจะไม่มีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง เพราะธรรมชาติของโรค ไม่ค่อยไปต่อมน้ำเหลือง 
                   
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่รอยโรคมีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม. แม้จะผ่าตัดหมดแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับเป็นใหม่ อาจพิจารณารักษาต่อด้วยากลุ่ม Imatinib เป็นเวลา 3 ปี
              
การรักษาด้วยยา
ด้วยเหตุที่ยาเคมีบำบัด ไม่ค่อยได้ผลในการรักษาและมีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก จึงมักจะไม่ใช้ในการรักษา GIST แต่ยาที่ได้ผลมาก คือ ยามุ่งเป้า กลุ่ม Kinase inhibitors ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีความจำเพาะต่อเนื้องอก มีผลข้างเคียงน้อยและเพิ่มอัตราการอยู่รอดอย่างชัดเจน โดยในปี 2002 FDA อเมริกา ได้อนุมัติการใช้ Imatinib  ซึ่งเป็น Kinase Inhibitor ตัวแรก สำหรับการรักษา GIST ซึ่งผมจำได้ว่าในปีนั้นเป็นการประกาศที่ยิ่งใหญ่และสร้างความหวังให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมากที่จะมีอัตราการอยู่รอดมากกว่า  5 ปี     
                    
วิธีการให้ยานั้น มีทั้งการใช้ยาอย่างเดียว หรือจะเป็นการให้ก่อนผ่าตัดในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่ หรือ อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ หรือ หลังการผ่าตัดในปริมาณ 400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยบางคนอาจจะได้สูงถึง 800 มิลลิกรัม ถ้ามี Exon 9 Genetic Mutation ซึ่งพบในกลุ่มที่เริ่มจากลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความ GIST ทุกชนิดจะตอบสนองต่อยากลุ่มนี้  ภาวะแทรกซ้อนที่ของยาที่อาจพบได้ เช่น บวม ผื่น คลื่นไส้ หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่รุนแรง จะเป็นเลือดออก หรือ การอักเสบของตับ  ภาวะแทรกซ้อนนี้ บางครั้งจะดีขึ้นเอง แต่ในบางราย ต้องลดขนาดยาลง

Sunitinib (Sutent) เป็น Kinase Inhibitor ที่หยุดภาวะการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Angiogenesis) ซึ่งจะส่งอาหารไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้มีการเจริญเติบโตและการแพร่กระจาย  การใช้ยานี้ จึงเป็นการหยุดการส่งอาหารและเลือดไปสู่เนื้องอก Sunitinib ได้รับการอนุมัติในปี 2006 โดย FDA สำหรับการรักษา GIST เมื่อก้อนเนื้องอก ยังโตหลังการได้รับการรักษา ด้วย Imatinib หรือเมื่อภาวะแทรกซ้อน ของ Imatinib ไม่ลดลง แม้จะลดยาแล้ว

Regorafenib (Stivarga) เป็น Tyrosine Kinase Inhibitor ได้รับการอนุมัติ ในปี 2013 สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัด และไม่ได้ผลจาก Imatinib และ Sunitinib

ในหลายกรณีที่ไม่ได้ผลจากการรักษาหลัก อาจจะต้องใช้วิธีการรักษาอื่น ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ฟังในตอนที่ 2 ครับ