วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กัญชากับโรคมะเร็ง (ตอนที่ 2)

ภาพประกอบจาก: http://naturalsociety.com/marijuana-kills-cancer-cells-admits-the-u-s-national-cancer-institute/


การใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง   

ต่อจากตอนที่แล้ว ซึ่งเป็นภาพรวมของกัญชา วันนี้ผมจะเข้าสู่ประเด็นสำคัญ คือการใช้กัญชารักษามะเร็ง ผมขออนุญาตแสดงความเห็นดังนี้
              
ผมเห็นด้วย กับการแถลงของคณะกรรมการและยา พร้อมทั้งข้อคิดเห็นจากผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มียาจากกัญชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อการรักษาโรคมะเร็งแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคนเพียงพอ ที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้รักษาโรคมะเร็ง
                   
แต่ ผมไม่คัดค้านในบางข้อมูลที่เกี่ยวกับการทดลอง เพื่อดูประสิทธิภาพของกัญชาเกี่ยวกับมะเร็ง ดังเช่นตัวอย่างรายงานการศึกษา ในหนูที่แสดงว่า Cannabinoids อาจจะมีผลป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด  พร้อมกันนี้ในการศึกษาต่อเนื่อง 2 ปี พบความสัมพันธ์ของปริมาณกัญชากับการลดลงของมะเร็งตับ รวมทั้งการลดลงของการเกิดเนื้องอกหรือติ่งเนื้อ (Polyps and Adenomas) ในอวัยวะต่างๆ เช่น เต้านม มดลูก ตับอ่อน เป็นต้น
                     
รวมทั้งมีรายงานการศึกษาอื่น ที่แสดงผลการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด ด้วยกระบวนการที่อาจจะเป็นได้ทั้งทำให้เซลล์ตาย (Induction of Cell Death) ยับยั้งการเจริญเติบโต (Inhibition of Cell Growth) หรือ ลดการสร้างเส้นเลือดในก้อนมะเร็ง (Tumor Angiogenesis) และการกระจายของโรค
                   
นำไปสู่ความเชื่อในการใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดหลายๆอย่าง โดยเฉพาะเนื้องอกชนิด Glioma ซึ่งเป็นเนื้องอกในสมอง ที่มีการศึกษาร่วมกับ Temozolomide
                    
อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานการใช้ทางคลินิคในวารสารทางแพทย์ ยกเว้น หนึ่งรายงานเล็กๆที่มีการฉีด Delta-9-THC เข้าในเนื้องอกที่กลับเป็นใหม่ในสมอง (Recurrent Glioblastoma Multiforme) ที่คล้ายกับว่าได้ผล แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการใช้                   
                
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แทบจะไม่มีการศึกษา เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือโอกาสที่จะได้ผลแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวอีกด้วย

กัญชากับการการเกิดมะเร็ง                    

มีได้ 2 ประเด็น คือ กัญชา เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งและกัญชาเป็นตัวลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง

ในเรื่องความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่เกิดจากกัญชานั้น มีรายงานการศึกษาหนึ่ง ที่มีประชากร 430  คน ที่เสพกัญชา เทียบกับกลุ่มควบคุม 778 คน พบว่ากลุ่มที่เสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอด คือสูบบุหรี่ร่วมกับเสพกัญชาจะสูงกว่ากลุ่มที่ไม่สูบกัญชาอย่างมีนัยสำคัญ
                    
ส่วนด้านตรงข้ามที่มีการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ แต่เป็นการศึกษาย้อนหลังในประชากรชาย  64,855 คน อายุ 15 -49 ปีในอเมริกา ผลการศึกษา ไม่พบความสัมพันธ์ในการเกิดของมะเร็งของผู้เสพกัญชากับกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ แต่ในผู้ไม่สูบบุหรี่กลับพบว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมลูกหมาก
                    
ยังมีอีกหลายรายงานที่แสดงถึงการไม่มีความสัมพันธ์ จึงสรุปได้ว่า มีการพบจริง เช่น มะเร็งศีรษะลำคอ แต่ก็ยังต้องศึกษาปัจจัยของการติดเชื้อไวรัส HPV ด้วยว่าเป็นปัจจัยหลักหรือไม่  
                    
ในทางตรงกันข้าม ก็มีรายงานการพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ลดลงในกลุ่มที่เสพกัญชา โดยศึกษาในผู้ชาย 84,170  คน ติดตามที่ 16 ปี พบการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ในผู้ที่เสพกัญชา 89 คน เทียบกับ 190 คน ที่ไม่เสพกัญชา ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ                    
                   
แต่สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชา ซึ่งพบว่าการสูบในลักษณะนี้เพียง 4 มวน จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวน หรือ 1 ซอง ซึ่งจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า อีกทั้งกัญชายังมีสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายที่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แม้จะมีผู้กล่าวอ้างว่า การสูบกัญชาจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันดิบที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด แต่ในกัญชานั้นมีสาร THC ที่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบที่เกิดจากน้ำมันดิบได้ จึงเป็นสาเหตุให้การสูบกัญชาไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดเหมือนการสูบบุหรี่ทั่วไป
                 
เห็นไหมครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ที่จะมากล่าวให้คนเชื่อจริงจังว่า ไม่ต้องกลัวมะเร็งอีกต่อไป เพราะมีกัญชาที่รักษาก็ได้ ป้องกันก็ดี  
                
โปรดใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้ดี และถ้าวงการแพทย์จะใช้ ก็คงจะมีการพิจารณาใช้อย่างเหมาะสมชัดเจนกว่านี้ ซึ่งผมจะนำเสนอในตอนต่อไป




วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กัญชากับโรคมะเร็ง (ตอนที่ 1)

ภาพประกอบจาก: http://blog.seedsman.com/breaking-cannabis-cancer/

เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มีกระแสเกี่ยวกับกัญชารักษาโรคมะเร็งได้ จนเป็นที่ฮือฮาและมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกมามากมาย

มีผู้ถามความเห็นกับผมว่า กัญชารักษามะเร็งได้จริงหรือไม่ และควรจะเปิดให้การใช้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ โดยความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้มีคนพูดกันเยอะมาก พูดกันมานาน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัญชา หรือการยืนยันข้อเท็จจริงจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมทั้งองค์การอาหารและยา  ที่กล่าวกันคนละมุม อ้างกันคนละแหล่งข้อมูล 

ผมเองคิดว่ากระแสจะจบไปเอง เหมือนเห็ดหลินจือ หรือ สมุนไพร หลายชนิด
                    
ปัจจุบัน กัญชาจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
                    
ผมเชื่อว่าคงมีขั้นตอนอีกยาวที่จะมีการพิจารณาให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และเชื่อว่ามีผู้รู้มากมายที่คงจะออกกฎหมายที่รัดกุม ไม่ให้เกิดผลเสียอย่างแน่นอน
                    
แต่เพื่อความรู้ ความเข้าใจของผู้ป่วยมะเร็ง และกระแสของสังคมในด้านโรคมะเร็ง ผมจึงขอนำข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการที่จะนำไปใช้ ทั้งนี้ ผมได้เรียบเรียง จากบทความของ NCI (National Cancer Institute) สหรัฐอเมริกาได้รับการตรวจสอบแก้ไขเมื่อ 05/27/2016 เกี่ยวกับกัญชา และส่วนประกอบที่ใช้ในการรักษาอาการที่มีความสัมพันธ์กับมะเร็ง ที่อาจจะเป็นจากตัวโรคเอง หรือ จากการรักษา เช่น การลดการอาเจียน การกระตุ้น การเจริญอาหาร 

ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับกัญชา    
กัญชา เป็นพืชล้มลุก จำพวกหญ้าชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Cannabis Indica หรือ Cannabis  หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Marijuana มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเซีย และกระจายไปทั่วโลก 
                  
รายงานพอจะเชื่อได้ว่ากัญชามีประโยชน์  คือ Delta-9-Tetrahydrocannabino l (THC) ของกัญชา จะคล้ายกับ Synthetic Delta-9-THC ในน้ำมันงา ที่ได้รับรองให้ใช้เป็นยาแก้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยมีชื่อทางการค้าว่า Dronabinol ซึ่งมีรายงานการศึกษาทางคลินิคว่าได้ผลดีเท่ายาแก้อาเจียนในยุคนั้น
                 
นอกจากนี้ ก็มีผู้นำไปใช้ เพิ่มน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเอดส์ ในปี 1980 อย่างไรก็ตาม แม้จะกระตุ้นการเจริญอาหาร แต่น้ำหนักตัวก็ไม่เพิ่ม   
                 
Cannabinoid ในกัญชา ซึ่งเป็น Nonpsychoactive Cannabinoid ซึ่งมีความสำคัญ จากการศึกษาในปี 1988 มีการพบ Cannabinoid Receptor ในสมอง และในปี 1993 พบใน B lymphocytes and Natural Killer Cells จากการศึกษาเหล่านี้ นำไปสู่คำอธิบายในเรื่องการควบคุมอาการปวด พฤติกรรมทาง อารมณ์ การควบคุมการอักเสบ และความน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็ง
                   
นอกจากนี้สารสกัดจากกัญชา ในชื่อยา Nabiximols (Sativex) ซึ่งใช้ใน แคนนาดา นิวซีแลนด์ และหลายประเทศในยุโรป ยังถูกใช้เพื่อลดอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งและโรค Multiple Sclerosis ที่มีปัญหากล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวอีกด้วย

ประวัติกัญชาในทางการแพทย์

กัญชา มีใช้ทางการแพทย์มากว่า 3,000 ปี ถูกนำมาใช้ในการแพทย์ตะวันตก เมื่อปี 1839 โดย W.B. O’Shaughnessy ศัลยแพทย์ที่ได้เรียนรู้คุณสมบัติทางยาจากอินเดียซึ่งขณะนั้นถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปวด  ยานอนหลับ ลดการอักเสบ ลดการหดเกร็ง และลดการชัก
                        
ในปี 1937 มีการนำเข้าในอเมริกา ต่อจากนั้นก็มีการใช้  เลิกใช้ ห้ามใช้ มีการนำออกจากรายการยา  และได้มีการบรรจุเข้าเป็นสารเสพติด จนกระทั่งในปัจจุบัน ยังเกิดความสับสนในกฎหมายต่างรัฐกัน   โดยสรุป  จากข้อมูล  
1. กัญชาถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ มานานหลายพันปี
2. การถือครองกัญชาถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอเมริกา ยกเว้นในการวิจัย และยกเว้นในบางรัฐ เช่น โคลัมเบีย ที่อนุญาติให้ใช้ในทางการแพทย์
3. The U.S. Food and Drug Administration หรือ FDA  ไม่ได้รับรองให้ใช้ในการรักษามะเร็ง
4. สารประกอบทางเคมี ของกัญชาที่เรียกว่า  Cannabinoids  มีส่วนกระตุ้นทางด้านระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีการนำมาใช้ทำยา เช่น Dronabinol และ Nabilone ที่ใช้ในการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็ง
5. ปัญหาอยู่ที่การทำวิจัย เพื่อขอนุมัติจาก FDA ในสหรัฐนั้นไม่ง่าย เพราะเป็นสารควบคุมที่ต้องขอนุญาตหน่วยงานที่ควบคุมสารเสพติด (National Institute on Drug Abuse) ก่อนการวิจัย
                  
บทต่อไป ผมจะเพิ่มข้อมูลที่ชัดเจน ในแต่ละส่วนที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัย ถึงข้อดีและข้อเสียเพื่อการพัฒนาต่อไป ซึ่งเราก็ทราบดีอยู่แล้วว่าก่อนที่จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น ยังจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆอีกมาก แต่การปิดกั้นทั้งหมด หรือ การหลงเชื่อนำมาใช้อย่างผิดๆจะเป็นอันตรายได้ครับ






















วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การรักษามะเร็งด้วยความร้อน เพิ่มผลมากน้อยแค่ไหน? รายงานใน Radiation Oncology ปี 2016

การรักษามะเร็งด้วยความร้อน สามารถเพิ่มผลมากน้อยแค่ไหน? เป็นคำถามที่มีความสำคัญมาก ทั้งในการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยหรือการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น    

แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่ามีรายงานมากมายที่แสดงการได้ผลดีจากการรักษามะเร็งด้วยการให้ความร้อนในการเสริมการรักษาด้วยรังสี  แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาที่แสดงแน่ชัดว่าจะเพิ่มผลมากน้อยเท่าไร
              
ดังเช่น มะเร็งปากมดลูก ในระยะ FIGO ที่ 2-4 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าการให้ได้ผลการรักษาทีดี และมีอัตราการควบคุมโรคที่ดี ต้องใช้การรรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิด Cisplatin เป็นมาตรฐาน โดยมีทางเลือกอื่น คือ การใช้รังสีร่วมกับความร้อน (Hyperthermia)  
               
Hyperthermia หมายถึง การใช้ความร้อนที่ระดับ 40–45 องศา เป็นตัวเสริมผลของรังสีและยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มผลการรักษาทางคลินิคอย่างชัดเจน โดยมีรายงานการศึกษาแบบสุ่มที่เปรียบเทียบการรักษาแบบ Thermoradiotherapy คือการให้ความร้อนร่วมกับรังสีรักษาที่ให้ผลการควบคุมโรคที่เท่ากับการใช้ยาและเคมีบำบัด และในรายงานที่ศึกษาเปรียบเทียบการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว จะได้ผลที่เหนือกว่าชัดเจน โดยในการศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์ (The Dutch Deep Hyperthermia Trialไม่เพียงแต่แสดงผลการควบคุมโรคที่สูงถึง 83% จากการฉายรังสีร่วมกับความร้อน  เมื่อเทียบกับการ 57% จากการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว
               
ในขณะเดียวกัน ก็ได้ผลที่ดีกว่าในเรื่องอัตราการอยู่รอดที่ระยะ 3 ปี ซึ่งได้ถึง 51% เมื่อเทียบกับ 27% ของการฉายรังสีอย่างเดียว เมื่อติดตามรายงานที่ระยะ 12 ปี อัตราการอยู่รอดก็ยังคงสูงถึง เท่า ในกลุ่มรักษาด้วยรังสีร่วมกับความร้อนเมื่อเทียบกับการฉายรังสีอย่างเดียว  (37% : 20%)

การรักษามะเร็งด้วยความร้อนร่วมกับรังสี เพิ่มผลมากน้อยแค่ไหน ?                   
                   
จากรายงานที่แสดงผลทางคลินิคว่า การใช้ความร้อน (Locoregional Hyperthermia) ร่วมกับรังสีรักษาในมะเร็งปากมดลูก เพิ่มทั้งอัตราการควบคุมโรคและเพิ่มอัตราการอยู่รอด เมื่อเทียบกับการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบคำถามที่ว่าได้เพิ่มผลของรังสีมากน้อยแค่ไหน ถ้าจะนำไปใช้ในโรคอื่นๆ ต้องวางแผนในการกำหนดปริมาณรังสี หรือ ความร้อนอย่างไร นำมาสู่การศึกษาที่สำคัญ เพื่อเป็นการแสดงประสิทธิภาพของความร้อน  ซึ่งในรายงานนี้ เป็นการใช้แบบจำลองทางชีววิทยา (Biological Modeling) ของการเพิ่มผลในเชิงปริมาณรังสีด้วยความร้อน ในการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยรังสี โดย J. Crezee และคณะ จากมหาวิทยาลัย อัมสเตอร์ดัม ประเทศ เนเธอแลนด์ (Biological modeling of the radiation dose escalation effect of regional hyperthermia in cervical cancerที่รายงานใน  Radiation Oncology (2016) 11:14
                
หรืออีกนัยหนึ่ง การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบจำลองทางชีววิทยา เพื่อเป็นแสดงการเพิ่มผลของรังสี (Radiosensitization) สำหรับการร่วมกันของการรักษาด้วยรังสี และความร้อน ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 3 ราย ในเชิงปริมาณรังสี เทียบกับการฉายรังสีอย่างเดียว
               
ในรายงานนี้ มีการกำหนดการฉายรังสีจากภายนอก ด้วยปริมาณรังสี 46 Gy ในการฉายรังสี 23 ครั้ง ครั้งละ 2Gy
                 
การรักษาด้วยความร้อน (Hyperthermia) ใช้การจำลองเสมือนจริงในระหว่างการรักษา
                 
ผลการศึกษา : การจำลองเหมือนจริง จากความร้อน  Simulated Hyperthermia สำหรับผู้ป่วย 3 ราย ที่ได้ความร้อนเฉลี่ย T50 เท่ากับ 40.1 °C, 40.5 °C, 41.1 °C และ T90 of 39.2 °C, 39.7 °C, 40.4 °C, ตามลำดับ

Credit: Crezee J., et al. Biological modelling of the radiation dose escalation effect of regional hyperthermia in cervical cancer. Radiat oncol. 2016 Feb 2; 11:14.

พบว่า ผลการใช้รังสีร่วมกับความร้อน ให้ผลของรังสี D95 ที่ระดับ 52.5Gy, 55.5Gy, 56.9 Gy หรือมีการเพิ่มของรังสี เท่ากับ 7.3–11.9 Gy เมื่อเทียบกับการฉายรังสีอย่างเดียว ซึ่ง D95 = 45.0–45.5Gy

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ผมต้องขออภัยเป็นอย่างสูง เพราะพยายามทำให้อ่านง่ายที่สุดแล้ว ทั้งนี้ผมได้ตัดสูตรที่ใช้ออกแล้ว อ่านทบทวนอีกครั้งก็ยังยากอยู่ เอาเป็นง่ายๆว่าฉายรังสีอย่างเดียวปริมาณรังสีเท่ากับ 45-45.5 หน่วย แต่เมื่อได้รับความร้อนเสริมจะได้ผลรังสีที่ 52-56.9 หน่วย
                     
สรุปการศึกษานี้ เป็นการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางชีววิทยาเพื่อประเมินผลการเพิ่มผลของรังสีด้วยความร้อน ในเชิงปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้น ของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกด้วยรังสี
                     
รูปแบบจำลองนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการการฉายรังสีร่วมกับ ความร้อน ที่มีตารางการรักษาที่แตกต่างกัน หรือในอวัยวะที่แตกต่าง
                   
บทความนี้จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจ สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถดูต่อได้ในเอกสารอ้างอิง เพื่อการวิเคราะห์ ที่ละเอียดมากกว่าที่ผมนำเสนอใน Blog นี้ เพราะมีเอกสารที่อ้างอิงต่อเนื่องอีกมาก
                 
สำหรับผู้ป่วย และญาติ ก็จะเป็นอีกหนึ่งความหวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ หรือ ผู้ที่ไม่สามารถทนต่อยาเคมีบำบัด หรือ มีข้อห้ามในการใช้ยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ท่านควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาท่าน หวังว่าข้อมูลนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อท่านบ้างนะครับ