วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

ลดความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยการกำจัดเชื้อ Helicobacter Pylori



ภาพประกอบจาก: http://primaldocs.com/members-blog/do-you-have-an-h-pylori-infection/#!lightbox[gallery]/0/

บทความนี้ผมอยากจะพูดถึงการการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยการกำจัดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร  (Helicobacter Pylori ) หรือ เอช.ไพโลไร  

ผมได้รับคำปรึกษาผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วยท่านหนึ่ง ในการตรวจกระเพาะอาหาร และพบเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงรวบรวมมาเล่าให้ฟังง่ายๆดังนี้ 

โรคกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกทั่วไปว่า โรคแผลเปปติค (Peptic Ulcer) เป็นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งในสังคมไทย หมายรวมถึงโรคที่มีแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ( Duodenal Ulcer) หรือ การอักเสบของ เยื่อกระเพาะอาหาร (Gastritis) โรคต่างๆเหล่านี้จะมีอาการที่คล้ายกันกับ โรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรก คือ ท้องอืด จุกเสียด รู้สึกอาหารไม่ย่อย ปวดและไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร 
  
ส่วนหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆโดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อยารับประทานเอง ในกลุ่มที่เป็นเรื้อรัง  ถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนโรคมะเร็งกระเพาะอาหารนั้น จะมีอาการกำเริบมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกินอาหารได้น้อย น้ำหนักลด หรือ อาเจียนเป็นเลือด

วันนี้ ผมจะไม่พูดถึงวิธีรักษาโรคกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่พบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เช่น เพศชาย มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มากกว่าเพศหญิง 2 เท่า การมีประวัติครอบครัว เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร  พฤติกรรม ชอบรับประทาน อาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควัน    เป็นต้น แต่ปัจจัยสำคัญที่จะพูดถึงคือ เชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งทีชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช.ไพโลไร (Helicobacter Pylori)  ซึ่งเป็นสาเหตุร่วมกันของการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น    

เชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ถูกพบมากว่าร้อยปีแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2526 แพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 ท่าน คือ Barry Marshall  และ Robin Warren ได้พบว่าเชื้อนี้มีความสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงการเกิดโรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น สูงถึง 6-40 เท่า และมีโอกาสเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร เพิ่มขึ้น 2-6 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติที่ไม่มีการติดเชื้อ     

การตรวจวินิจฉัย สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร การเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ เอช.ไพโลไร การตรวจทางลมหายใจ (Urea Breath Test) และการตรวจอุจจาระ เพื่อหาแอนติเจน ของ เอช.ไพโลไร ซึ่งแต่ละวิธี ก็จะมีข้อบ่งชี้และประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่การส่องกล้อง เพื่อตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ทำให้เห็นแผลได้ชัดเจน และสามารถตัดเนื้อเยื่อบริเวณกระเพาะ เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ในการแยกโรคมะเร็งและโรคกระเพาะอาหารอักเสบ  พร้อมทั้งหาเชื้อ เอช.ไพโลไรได้อีกด้วย

การรักษา สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือ ตรวจพบแผลในกระเพาะอาหารร่วมกับการตรวจพบเชื้อ H.pylori การกำจัดเชื้อ จะช่วยรักษาแผล และยังช่วยป้องกันการเกิดแผลซ้ำ อีกทั้งลดโอกาส การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผล  เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร และแน่นอนที่สุด ยังเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย การรักษาที่นิยมใช้กันมาก  และมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ การใช้ยาลดการหลั่งกรด ในกลุ่ม Proton Pump Inhibitor  หรือ PPI ซึ่งจะช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากการติดเชื้อหายเป็นปกติ เช่น  Lansoprazole, Omeprazole, Pantoprazole, Rabeprazole และ Esomeprazole  เป็นต้น โดยใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ พบว่าสามารถกำจัดเชื้อได้มากกว่า 90% และโอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำก็ลดลง จาก 80% เหลือ 10% ทำให้เพิ่มโอกาสหายขาด
   
ข้อบ่งชี้ในการดูผลการรักษา คือการตรวจไม่พบเชื้อ เอช.ไพโลไร หลังจากหยุดการรักษาแล้ว 4 สัปดาห์  หากยังพบเชื้ออยู่  จะต้องรักษาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชนิดยาปฏิชีวนะที่ให้ หลังจากนั้นก็จะตรวจซ้ำเช่นเดิม หากยังไม่หาย ต้องมีการนำเชื้อแบคทีเรียไปเพาะเชื้อ เพื่อทดสอบความไวของยาปฏิชีวนะต่อเชื้อ

ด้วยเหตุที่สูตรการรักษา ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง ผมจึงนำบทความ จาก UpToDate  ที่มีการทบทวนเมื่อ เดือนธันวาคม  2015  เรื่องสูตรการรักษาสำหรับ เชื้อ Helicobacter Pylori เรียบเรียงโดย Sheila E Crowe, MD, FRCPC, FACP, FACG, AGAF ในบทความนี้กล่าวว่า ไม่มีความชัดเจนของสูตรการรักษาที่ดีที่สุด โดยมีทั้งเรื่องราคา ผลข้างเคียง การดื้อยาที่เป็นปัจจัยสำคัญใน การเลือก   ดังนี้

"Triple therapy with a proton pump inhibitor (PPI) should be used in areas where clarithromycin resistance is low (<15 percent). In the United States, given the limited information on antimicrobial resistance rates, we generally begin treatment with triple therapy with a PPI. However, in patients with recent or repeated exposure to clarithromycin or metronidazole or when clarithromycin resistance is high (15 percent), quadruple therapy should be used to treat H. pylori  

Triple therapy — The regimen most commonly recommended for first line treatment of H. pylori is triple therapy with a PPI (Lansoprazole 30 mg twice daily, Omeprazole 20 mg twice daily, Pantoprazole 40 mg twice daily, Rabeprazole 20 mg twice daily, or esomeprazole 40 mg once daily), amoxicillin (1 g twice daily), and Clarithromycin (500 mg twice daily) for 7 to 14 days. We suggest treatment for 10 days to two weeks. A longer duration of treatment (14 versus 7 days) may be more effective in curing infection but this remains controversial. A meta-analysis suggested that extension of PPI-based triple therapy from 7 to 14 days was associated with a 5 percent increase in eradication rates . Most studies included were based upon amoxicillin-based triple therapy."
                     
นับเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร และลดความเสี่ยงจากมะเร็งกระเพะอาหาร โปรดปรึกษาแพทย์นะครับ ถ้าโรคกระเพาะท่านเป็นๆหาย ตรวจและกำจัดเชื้อ เอช ไพโรไล ก่อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเราครับ



วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

ยินดีกับอดีตประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ นักสู้ ใจเหนือมะเร็ง

เครดิตภาพประกอบ: http://www.theguardian.com/us-news/2015/dec/06/jimmy-carter-says-he-is-cancer-free

ตามที่ผมเคยลงเรื่อง อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ตอน ใจเหนือมะเร็ง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว  ตอนนั้น ท่านกล้าประกาศว่าท่านป่วยเป็นโรคมะเร็งในวัย 90 ย่างเข้า 91 ว่ามะเร็งในตัวท่าน ซึ่งเริ่มต้นที่ผิวหนัง ชนิด Melanoma หรือมะเร็งเม็ดสี กำลังลุกลามจากตับไปสู่สมองอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นเชื้อมะเร็งได้ลามขึ้นไปถึงสมอง 4 จุดเเล้ว ท่านได้กล่าวว่า อนาคตของท่านอยู่ในมือของพระเจ้าที่ท่านศรัทธา "It is in the hands of the god I worship" ท่านเดินหน้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสี และรับยาต่อเนื่องขณะนั้นท่านมีกำลังใจที่ดี เปี่ยมไปด้วยพลังของการต่อสู้
             
วันนี้ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ ทั้งที่มันเหมือนเป็นเช่นนั้น เพราะท่านประกาศว่าปัจจุบัน อาการแสดงและการตรวจด้วยเอกซเรย์สแกน ไม่พบรอยโรคมะเร็งแล้ว นับเป็นข่าวดีต่อท่านและผู้ป่วยในกลุ่มเดียวกัน
                  
เบื้องหลังการรักษานั้น หลังจากท่านได้รับการฉายรังสีแล้ว ท่านได้รับยา Pembrolizumab หนึ่งในยาใหม่ที่สร้างความหวังในการรักษามะเร็งด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immnunotherapy) ยา Pembrolizumab หรือที่รู้จักในชื่อการค้าว่า Keytruda ได้รับอนุมัติจาก FDA ในสหรัฐ เมื่อปี2011  
                         
ทฤษฎีการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยภูมิคุ้มกันนั้นมีมานับเป็นสิบสิบปี

จนกระทั่งบัดนี้พบว่าเป็นยาที่ประสบผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ทั้งยังมีผลดีอย่างไม่น่าเชื่อกับมะเร็งบางชนิดเช่น ปอด ศีรษะและลำคอ 
                 
แม้การใช้ยากลุ่มนี้ ซึ่งนอกจาก Keytruda แล้ว ยังมี Opdivo ต่างได้รับการอนุมัติใช้ในการรักษา  Advanced Melanoma หรือมะเร็งเม็ดสีในระยะลุกลาม ทั้ง ตัว มีคุณสมบัติเหมือนกัน คือขจัดโปรตีน Pd-1 ซึ่งเป็นตัวหยุดการต่อสู้เซลล์มะเร็งของระบบภูมิคุ้มกัน เพียงแต่อาจจะต่างเรื่องจำนวนและตารางการให้ยา  

หลังจากที่ท่านจิมมี่เล่าถึงอาการป่วยมะเร็งที่หายไป ผู้ป่วยบางคนพยายามเรียกร้องขอยาแบบเดียวกัน บางคนถึงกับเรียกว่า The President Drug  บ้างก็ขอเปลี่ยนยาที่ได้รับอยู่เดิม  จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในหลากหลายมุมมอง
                 
โดยทั่วไป เชื่อว่าเป็นไปได้ที่ยาตัวนี้ขจัดมะเร็งในสมองของท่านจิมมี่คาร์เตอร์ แต่ตัวยายังนับว่าใหม่เกินกว่าที่ใครจะทราบว่า  อาการจะกลับมาอีกหรือไม่และเมื่อไร
             
ขณะเดียวกัน แพทย์บางท่าน เช่น Dr. Atkins จาก ศูนย์มะเร็ง Georgetown กรุงวอชิงตัน ได้มีความเห็นว่ารังสีรักษาก็สามารถทำลายภาวะมะเร็งลุกลามไปยังสมองได้ดี ฉะนั้นตัวยาดังกล่าวอาจจะได้ผลเอง หรือ เป็นเพียงเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้นก็ได้
               
ทั้งนี้ใช่ว่ายาตัวนี้จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคทุกราย เพราะยากลุ่มนี้มักจะได้ผลประมาณ ใน ราย แต่ที่น่าสนใจ คือ หากได้ผล จะได้ผลที่ดีมาก สิ่งที่คนไม่เข้าใจและต้องการรู้ว่าทำไมบางคนไม่ตอบสนองต่อยา  ดังนั้นนักวิจัยก็ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อความก้าวหน้าของการรักษาอีกต่อไป
                       
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีของท่านได้สร้างความหวังแก่ผู้ป่วยมะเร็งอย่างมากหลายคนจะรู้สึกว่า ไม่ว่าโรคจะหายจริงหรือไม่ แต่ด้วยวัย 91 ปีของท่านอดีตประธานาธิบดี ท่านได้จากโรคมะเร็งไปมากกว่าจะจากไปเพราะโรคมะเร็ง เพราะโรคมะเร็งทำอะไรท่านไม่ได้ทั้งกายและใจ ท่านเป็นผู้ป่วยตัวอย่างที่น่ายกย่องที่สุดท่านหนึ่งครับ

ข้อมูลจาก   The Guardian, Statnew, USA today


วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวคิดหลักประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในมุมมองที่แตกต่าง สวัสดีปีใหม่ 2559 ครับ


ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่าน คงได้รับพรอันประเสริฐมากมาย ผมขอร่วมเติมเต็มความสุข โดยขอให้สิ่งดีๆที่ท่านจะได้รับ จงปรากฏตามความปรารถนาของท่านทุกประการครับ

1 ปี กว่าที่ผมเขียนเรื่องราวโรคมะเร็งและข่าวความก้าวหน้าทางวิชาการ  ร่วมกับการแสดงความคิดเห็นในบางหัวข้อที่เกี่ยวกับวงการสาธารณสุข

ผมรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมช่วยสังคมตามกำลังอันน้อยนิดของผม

ในวันนี้ ผมขอนำการร่วมจ่าย ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ ที่มีการแสดงความเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันมากมาย ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่เกี่ยว หรือเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าทบทวนดีๆ เป็นเรื่องใหญ่มากทั้งตัวงบประมาณ และสุขภาพของประชาชน ในฐานะที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งมายาวนาน ก็ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะทีมสู้มะเร็งนะครับ    

ผมไม่ปฏิเสธว่า หลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ดีจนทั่วโลกอิจฉาและสงสัยว่าเราทำได้อย่างไร   แต่ผมและพวกเราบางส่วน เคยแสดงความกังวลมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าอาจจะมีปัญหาในระยะยาว หากการควบคุมวินัยทางการบริการ และการบริหารทางการเงินไม่ดีพอ เราเคยเห็นการเบิกจ่ายยาของข้าราชการที่เกิดการโป่งของงบประมาณ บางครั้งเปิดช่องทางการทุจริตในรูปแบบต่างๆดังที่เคยเป็นข่าว    นอกจากนี้  ยังมีการขอตรวจขอยาที่ไม่จำเป็น ด้วยความรู้สึกว่า ฟรี เบิกได้ 

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินว่า รักษาเต็มที่เลยเพราะเบิกได้  จนเกิดคำถามว่าถ้าเบิกไม่ได้ จะไม่รักษาหรือไง   ผมชอบมากที่ระบบเอกชนบางแห่งจะแจ้งผู้ป่วยให้ทราบว่า ยา มี  2 ชนิด คือ ยาต้นตำรับราคาแพง กับยาที่เหมือนกัน แต่ต่างในแหล่งผลิตที่ราคาถูกกว่า บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเลือกยาที่เหมือนแทนยาต้นตำรับ  ในขณะที่ส่วนราชการมักจะเลือกยาต้นตำรับ นั่นเป็นที่มาของบัญชียาหลักแห่งชาติ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ ก็มีส่วนลดงบประมาณของประเทศได้เป็นอย่างดี

การร่วมจ่ายในการรักษาบางรายการที่เกินกว่าข้อบ่งชี้ทั่วไป หรือมีค่าใช้จ่ายสูง หรือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบาย  ก็จะมีการร่วมจ่าย ที่เรียกว่าส่วนเบิกได้และเบิกไม่ได้     

ด้วยสังคมปัจจุบัน การฟ้องร้องเกิดขึ้นบ่อย  หลายครั้งเกิดจากเรื่องที่คาดคิดไม่ถึง เช่นการเจาะเลือด หรือ การเอ็กซเรย์ ในขณะที่อาการยังไม่ชัดเจน ในอดีตเรามักจะอธิบายว่ายังไม่จำเป็น และเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็จะยอมรับกัน ทั้งหมอและผู้ป่วย แต่ในปัจจุบันจะมีข้อกล่าวหาว่า ไม่ตรวจเพราะเป็น 30 บาท ทำให้แพทย์ป้องกันตัวด้วยการตรวจไว้ก่อน ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการบริการที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น  จึงเกิดปัญหาค่าตรวจรักษาที่ไม่เพียงพอ และพอกพูนขึ้นทุกวัน       

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยินดีด้วย ในสวัสดิการที่คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับความทัดเทียมกันในเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลประเทศของเราด้วย หากมีก็ช่วยกันจ่าย  ไม่ว่าจ่ายก่อน ผ่านระบบภาษี หรือร่วมจ่ายในขณะที่ต้องต้องทำการรักษา แน่นอนที่สุด หากมีความชัดเจนว่าไม่สามารถจ่ายได้ ก็พึงที่รัฐจะเป็นผู้จ่าย

ผมไม่มีตัวเลขในการยืนยันความเหมาะสมว่าจะต้องใช้งบเท่าไรในส่วนนี้ แต่ผมอยากให้ผู้บริหารคิดคำนึงบนพื้นฐานความเป็นจริงมากกว่าประชานิยม หรือแม้แต่คำว่าประชารัฐที่เริ่มใช้กันมากขึ้น ว่าควรจะเป็นเท่าไร และควรบริหารอย่างไร

ผมไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เงินทั้งหมดควรจะไปอยู่ส่วนใดบ้าง นโยบายที่ทุ่มเงินรักษาจนลืมเรื่องวัคซีนป้องกันโรค  เช่น วัคซีนป้องการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือการตรวจคัดกรองโรคต่างๆนั้น ถูกกว่าค่ารักษามากมาย ดูจากในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กว่าเราจะได้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี มะเร็งตับจึงครองอันดับสาเหตุการตายของผู้ชายไทย ซึ่งผลจากวัคซีนนี้ เชื่อว่าจะเห็นผลในเร็วๆนี้
                    
งบประมาณที่ส่งลงไปในเชิงบริการทางด้านอื่นที่ไม่ตรงกับเชิงสุขภาพโดยตรง หรือแม้แต่ข้อกล่าวหาที่ไม่จบในเรื่องการบริหารจัดการ ตลอดจนค่าตอบแทนที่นัยว่าสูง ซึ่งต้องการการตรวจสอบความเหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการที่ดี ไม่ให้มีการจ่ายซ้ำซ้อน หรือ ไม่มีจนขาดขวัญกำลังใจ หรือขาดเจ้าหน้าที่ที่อยู่เวรเพื่อดูแลประชาชน ในประเด็นนี้ อย่าว่าแต่ประชาชนที่ไม่เข้าใจ แม้แต่ในวงการชาวสาธารณสุขทีก็เกิดความขัดแย้งกันอยู่เป็นประจำ
                      
ผมอยากเสนอมุมมองเล็กๆในฐานะผู้ปฎิบัติงานในเรื่อง การร่วมจ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ในมุมมองที่ดี  เช่น

1. การเปิดโอกาสให้ข้าราชการร่วมจ่ายในโรงพยาบาลเอกชนในหัตถการ หรือการผ่าตัดที่กำหนด  ทำให้การรักษามะเร็งบางอย่างสะดวกขึ้น

1.1  ข้าราชการที่พอจะร่วมจ่ายได้ ก็จะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว
1.2 เปิดช่องว่างในโรงพยาบาลของรัฐสำหรับข้าราชการที่มีข้อจำกัดในการร่วมจ่าย
1.3 การร่วมมือร่วมใช้เทคโนโลยีทันสมัย เครื่องมืออุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนให้คุ้มค่า นำไปสู่ต้นทุนในการรักษาลดลง และเป็นผลต่อค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่จะไม่สูงมากนัก  เช่นเครื่องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ค่าห้องผ่าตัด เป็นต้น

ดังนั้นโรคมะเร็งซึ่งต้องการการวินิจฉัยและการรักษาที่เร่งด่วน จะได้ไม่ต้องรอคิวที่ยาวเหยียดในโรงพยาบาลของรัฐได้   
                 
2. โรคมะเร็งที่ต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด

2.1 หลายครั้งที่สร้างความลำบากใจให้ญาติที่ต้องการเฝ้าผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ติดขัดอยู่ที่ระเบียบการเยี่ยมหรือการเฝ้าไข้ ในห้องรวม  หากผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพจะอยู่ห้องแยกก็จะมีปัญหา เพราะด้วยกฎที่ไม่มีการเก็บเงินเพิ่ม
2.2 หลายครั้งที่ยาบางอย่าง หรือการรักษาบางอย่างซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่ยังมีข้อจำกัดที่ยังไม่อยู่ในขอบข่ายการเบิกจ่าย
                    
สิ่งเหล่านี้ ทำให้ผลการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ขาดความสมบูรณ์ไป   บ่อยครั้งที่ต้องกัดฟัน ยกเลิกสิทธิประกันสุขภาพไปเลยก็มี
                   
ผมไม่เป็นห่วง ผู้ที่มีกำลังจ่ายในโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ ซึ่งในนั้นมีทั้งข้าราชการที่ร่ำรวย สิทธิประกันสุภาพ สิทธิประกันสังคม    

แต่ผมเป็นห่วงคนจนจริง และประเทศชาติ

ผมไม่เรียกร้องให้กลุ่ม NGO หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือนักวิชาการที่เห็นต่าง หันมาสนับสนุนในแนวคิดร่วมจ่าย

ผมไม่ยืนยันว่า ระบบหลักประกันของเราจะล้มเหลวเหมือนญี่ปุ่น หรืออังกฤษ

ผมไม่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขต้องฝืนใจประชาชนให้เข้าใจว่า การร่วมจ่ายเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

แต่ผมอยากขอร้อง ให้ทุกกลุ่มพินิจพิเคราะห์  หาทางปรับปรุงให้เหมาะสมกับประชาชน ตามกำลังความสามารถของประเทศ ที่ไม่ถูกใครฉกฉวยประโยชน์ นำไปเป็นผลงาน ประกอบชื่อเสียงเกียรติประวัติ หรือ ผลประโยชน์ส่วนตัว ในจังหวะโอกาสหรืออำนาจที่มีอยู่    
                   
ผมเชื่อมั่นในกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ ที่มีโอกาสอันดีที่จะทำให้ทุกเรื่องให้กระจ่างด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและไม่บิดเบือนตามความคิดของตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นของขวัญที่จับต้องได้ทั้งกายและใจอย่างแท้จริงในปี 2559 นะครับ