วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง (ตอนที่ 11): เหตุผลของผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์


 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
เหตุผลเป็นคำอธิบายการกระทำหรือผลที่เกิดขึ้น ทีมสู้มะเร็งต้องพยายามทำความเข้าใจให้มาก  เราได้อธิบายเรื่องผู้ป่วยและญาติไว้มากพอสมควรในหลายตอนก่อนหน้านี้ วันนี้จะเน้นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้อุทิศตนอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งร่างกายและจิตใจ   หลายครั้งการอุทิศตนด้วยความตั้งใจดี อาจจะทำให้มีการมองข้ามความสำคัญของทีมไป 

ด้วยเหตุที่กลุ่มอาชีพทางด้านการแพทย์ มีแนวคิดแบบนักวิทยาศาสตร์   เรียนรู้และสอบมาอย่างหนัก ด้วยหลักการและเหตุผล มักจะคุยกันด้วยเหตุผล เมื่อใดที่มีปัญหาที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ก็จะถูกมองข้ามไป  แม้แต่การรักษาก็ต้องอาศัยข้อมูลที่มีขั้นตอนพิสูจน์ทางสถิติ และถ้าจะให้ดีเยี่ยมต้องเป็น Evidence Level 1

ในความเป็นจริง  การกระทำทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีเหตุผล ไม่ว่าการกระทำนั้นจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ตาม เช่น เด็กร้องอย่างไร้เหตุผล จริงๆแล้ว คำว่าไร้เหตุผลเป็นการแปลของผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถสื่อสารได้กับเด็ก เด็กย่อมมีเหตุผลของเด็ก เช่น หิว ปวดท้อง  หนาว คัน กลัว หรือ สารพัดอย่างที่เด็กอธิบายไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ทำอะไร ที่ไม่สมเหตุผล เขาก็อาจมีเหตุผลของการกระทำนั้น

สำหรับผู้ป่วยและญาติแล้ว  เกือบทุกอย่างของการกระทำล้วนมีเหตุผลเดียว  คือขอให้ผู้ป่วยสุขสบายหายเจ็บหายไข้  เพียงแต่แพทย์ หรือ บุคลากรพร้อมเปิดใจในการฟัง และเข้าใจในเหตุผลของเขาหรือไม่ 

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
เรื่องที่พบบ่อย คือ เรื่องการลังเลในการรักษา บ่อยครั้งที่แพทย์จะอธิบายอย่างดีด้วยเหตุด้วยผล ให้เวลากับผู้ป่วยเป็นชั่วโมง ก็ยินดีที่จะนั่งอธิบาย อ้างอิงการศึกษาต่างๆ  แต่จะยอมเสียเวลาฟังผู้ป่วยสัก 10 นาที กลับทำไม่ได้ มักจะจบด้วยคำว่า คงเข้าใจที่หมออธิบายแล้วนะ เชิญติดต่อกับพยาบาลได้  หรือถ้าผู้ป่วยลังเล ก็จะจบลงด้วย ถ้าไม่เข้าใจ ยังไม่อยากรักษาก็กลับไปคิดดูก่อน แล้วนัดกันใหม่ ระยะเวลาที่ได้มาตรวจอีกครั้งอาจมีผลใหญ่หลวงต่อชีวิตของเขา ทุกคนทราบดีว่าคิวของหมอแน่นขนาดไหน วนออกไปแล้ว วนเข้ามาอีก ต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์   เพราะการที่เขาลังเล อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับวิธีการรักษาเลย  ไม่ว่าจะเป็นความกังวลวิธีการรักษาที่เคยรู้เห็นมา หรืออาจจะเกี่ยวกับค่ารักษา งานประจำ หรือสิทธิการรักษาก็เป็นได้ หากเรามีเวลา หรือ มีเจ้าหน้าที่ฝายไหน คอยดูแลปัญหาอื่นๆ ก็อาจจะทำให้เขาได้รับการรักษาได้เลยก็ได้

เห็นไหมครับเหตุผลจะถูกหรือผิดไม่สำคัญ ที่สำคัญ คือ เราให้โอกาสเขาได้แสดงออก และพยายามทำให้เกิดความเข้าใจหรือไม่


ทีมสู้มะเร็งจะต้องเปิดกว้างให้มีเวลาในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บ่อยครั้งที่แพทย์บางคนจะจบด้วยคำถามว่า ผมอธิบายวิธีการรักษาครบแล้ว คุณมีคำถามหรืออะไรที่เป็นปัญหาที่จะเริ่มการรักษาหรือไม่ หลังจากนั้นให้เวลาผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่มีปัญหา ก็ควรเปิดกว้างให้ผู้ป่วยสบายใจ โดยการบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเราเริ่มการรักษาเลยนะครับ ระหว่างนี้มีปัญหาอะไรบอกได้เลยนะครับ แบบนี้ ความสัมพันธ์ของทีม สู้มะเร็งของเราก็จะแน่นแฟ้นเป็นทีมเดียวกัน ผลการรักษาย่อมจะดีขึ้นแน่นอนครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. ครับขอบคุณหมอทุกท่านที่สละเวลารับฟังเหตุผลผู้ป่วย ผมเป็นคนหนึ่งที่มีเหตุผลมากมายอยากเริ่มต้นพูดแต่เแอาเข้าจริงต้องกลับไปคิดแล้วกว่าจะได้พบหมอใม่มากกว่าสองสัปดาห์ทีเดียวเดชะบุญไม่ได้ร้ายแรงมาก

    ตอบลบ