วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2559

มะเร็งต่อมลูกหมากหายได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ภาพประกอบจาก: https://www.sciencedaily.com/releases/2016/04/160418145458.htm

นับเป็นรายงานข่าวทางโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ที่ม่ความน่าสนใจมาก เพราะเป็นการรักษาที่ง่าย สะดวก แต่ต้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ I และ II  หรือ  ที่เรียกว่า Low หรือ Intermediate risk เท่านั้นนะครับ
              
ในข่าวนี้ เป็นการกล่าวถึงรายงานการศึกษา จากศูนย์การแพทย์ UT Southwestern Medical Center  ซึ่งรายงานผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 91 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยเทคนิค SBRT (Stereotactic Body Radiation Therapy) และติดตามการรักษาที่ระยะ 5 ปี พบว่าผู้ป่วยหายจากโรคถึงร้อยละ 98 มีเพียง 1 รายที่กลับเป็นใหม่ ทั้งนี้รายงานนี้ได้ตีพิมพ์ใน European Journal of Cancer
                
นับเป็นการรายงานครั้งแรก ที่ใช้เทคนิค SBRT ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และติดตามการรักษาที่ระยะ  5 ปี เทคนิคนี้เป็นการฉายรังสีจากภายนอกในหลายทิศทางในมุมต่างๆกัน และรวมรังสีในเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ได้รังสีสูงเฉพาะในเป้าหมาย จึงมีความปลอดภัยต่อเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ              
               
รายงานนี้แสดงผลการรักษาที่สูงกว่าการใช้รังสีเทคนิคทั่วไป หรือ แม้แต่การผ่าตัดที่มีอัตราการหาย ประมาณ 80 to 90 %ในขณะที่ภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกัน
                 
Dr. Raquibul Hannan  ซึ่งเป็นผู้วิจัยหลักกล่าวว่า เป็นการรักษามะเร็งต่อลูกหมากระยะเริ่มแรก ที่มีศักยภาพสูง  สะดวก ด้วยการฉายรังสีเพียง 5 ครั้ง เมื่อเทียบการการรักษามาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ 
1.การผ่าตัด  ที่เรียกว่า Prostatectomy ซึ่งเป็นการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากทั้งหมดออกในปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัด โดยแขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Laparoscopic Radical Prostatectomy)
2. การฝังแร่ในต่อมลูกหมาก ที่เรียกว่า Brachytherapy  
3. การฉายรังสีจากภายนอก 42 to 45 ครั้ง ใน 8-9 สัปดาห์
                 
แต่  SBRT Therapyใช้เวลาการรักษาเพียง 5 ครั้ง จึงทำให้ผู้ป่วย สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
                  
ในขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ Dr. Robert Timmerman ผู้อำนวยการศูนย์ Annette Simmons Stereotactic Treatment Center at UT Southwestern กล่าวสรุปว่า SBRT เป็นเทคนิคการฉายรังสีที่ดี สะดวก และเพิ่มศักยภาพการรักษา  
                      
จากการสัมภาษณ์ ผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งบ้านอยู่ห่างจากโรงพยาบาล 45 นาที เขากล่าวว่า สำหรับตัวเขาแล้ว เวลาการรักษา 5 ครั้ง กับ 44 ครั้ง นั้น ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เขาจึงไม่ลังเลในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกัน และเขารู้สึกดีมาก ที่ทุกอย่างกลับมาเหมือนปกติภายใน 10 วันหลังการรักษา 

ความรู้สึกผิดปกติ หรือ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ได้แก่  ความรู้สึกผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ ได้แก่ การกลั้นปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย หรือ ความรู้สึกแสบ รวมทั้งการระคายเคืองในลำไส้ใหญ่ส่วนตรง อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว และจะหายไปภายใน 4 สัปดาห์ หลังการรักษา ส่วนในระยะยาวนั้นพบได้น้อย  ทั้งนี้อาการดังกล่าวพบได้ไม่แตกต่างจากการฉายรังสีมาตรฐาน
                   
ส่วนปัญหาทางเพศ เช่น การลดลงของ Erectile Function หรือการแข็งตัวของอวัยวะเพศนั้น พบได้ ประมาณ 25% ซึ่ง Dr. Hannan กล่าวว่าน้อยกว่าการผ่าตัด และการฉายรังสีแบบมาตรฐาน  
                  
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากลุกลาม อย่าเพิ่งเสียใจนะครับ เพราะขณะนี้ทางคณะผู้รายงานได้เริ่มขยายการศึกษาการใช้  เทคนิค SBRT นี้ ไปในผู้ป่วยในระยะลุกลามที่ระยะ 3 ด้วยความหวังที่จะได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น

สรุปข่าวจาก  Cancer News -- ScienceDaily18เมษายน2559
https://www.sciencedaily.com/news/health_medicine/cancer/



วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

กำลังใจสู้มะเร็ง (รถคันนี้สีขาว)

ท่านผู้อ่านที่เคยติดตามเมื่อปลายปี 2557 คงจะจำทีมสู้มะเร็ง: ทีมป้าน้อยได้ สำหรับท่านผู้อ่านวันนี้ อาจจะย้อนกลับไปอ่าน เมื่อวันที่ 17 ธค. 2557 หรืออ่านบทสรุปสั้นนี้ๆ ก็ได้ว่า ทีมป้าน้อย มีลูกสาว ลูกเขยที่มาด้วยกัน แรกเริ่มก็เป็นมะเร็งที่ต่อมธัยรอยด์ ต่อมามะเร็งกระจายไปที่กระดูก ด้วยความเข้มแข็งของคุณป้าน้อยที่พร้อมรับการรักษาตามคำแนะนำของหมอ คุณป้าน้อยจึงมีชีวิตยืนยาวมากว่า 7 ปี อย่างคนที่มีความสุข สุขภาพดี ทั้งๆที่ระหว่างการรักษา จะมีการผ่าตัดและดื่มน้ำแร่เป็นระยะ ตามที่มีตัวโรคเกิดขึ้นตามกระดูกต่างๆ ในครั้งแรก ทางครอบครัวขอให้ป้าน้อย หยุดงาน แต่ป้าน้อยไม่ยอม เพราะกลัวหยุดงาน คงจะเฉาตาย ในที่สุด ป้าน้อย  จึงทำงานอย่างมีความสุขมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความอารมณ์ดี ป้าน้อย ก็เจรจาต่อรองกับมะเร็งที่กระจายที่กระดูก ว่า 

"แกต้องอยู่ดีๆนะ ถ้าแกเกเร ฉันตายไป แกก็อยู่ไม่ได้" 

สำหรับคนป่วยและญาติที่คิดในแง่บวกพูดคุยได้สนุกสนานอย่างนี้ หาได้ยากจริงๆ แม้ในใจของคนหลายคนจะเถียงว่า ในใจของป้าน้อยก็ต้องมีกังวล ผมคิดว่าคงใช่ครับ อย่างไรก็ตาม ลูกสาวของป้าน้อย กล่าวว่า หมอไม่ต้องห่วง เราเข้าใจดี  ขจัดโรคให้หมดสิ้นได้ ก็เป็นโชค แม้ไม่ได้หมด แม่จะสู้ไม่ท้อ ขอเพียงแม่มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข  ไม่มีการเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ก็พอแล้ว     
            
ป้าน้อยได้รับการฉายรังสี อยู่ 12 ครั้ง ประมาณ 2 สัปดาห์  อาการปวดก็หายไป หลังจากนั้น ก็มาทุก 2-3 เดือน เพื่อติดตามผลเลือด  ผลก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งป้าน้อยก็จะมาด้วย กล้วยบ้าง มะม่วงบ้าง ที่ปลูกในสวนของตัวเอง บางครั้งก็หมูฝอย หมูแดดเดียว ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ก็ใช้ชีวิตตามปกติอย่างมีความสุข

ต่อมาผลเลือด ก็เริ่มขึ้น ตรวจพบมีการกระจายที่กระดูกอีกแห่ง ป้าน้อยก็ไม่เดือดร้อนอะไร ยินดีที่จะฉายด้วยความมั่นใจ อเมริกา มี ประธานาธิบดี จิมมี่คาร์เตอร์ (เรื่องที่เคยนำเสนอแล้วเมื่อ17 มกราคม 2559) ไทยเราก็มีป้าน้อยที่ใจเข้มแข็งไม่แพ้กัน พร้อมที่จะต่อสู้ด้วยจิตใจที่มั่นคง ด้วยใจอยู่เหนือทุกข์  จึง มีความสุข ทุกข์เบาบาง เป็นตัวอย่างที่ดี 
                    
วันนี้ ผมยังมีข้อคิดจากอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งวัย 70 กว่า แต่ยังตรวจคนไข้อยู่ ท่านป่วยเป็นมะเร็งครับ  ตัวโรคของอาจารย์ อาจจะรักษาไม่หาย หากทว่าท่านมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ท่านยอมรับการผ่าตัดที่เสี่ยงมาก ด้วยความมั่นใจว่าท่านจะหาย ท่านต่อสู้ด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยวว่ารถคันนี้สีขาว ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ท่านก็ว่าสีขาว เพราะท่านท่องคาถาว่าท่านหายแล้ว และท่านจะอยู่อย่างคนปกติ ท่านไม่ยอมให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของท่าน ท่านบอกว่าคนเราคิดอะไรซ้ำซาก ก็จะเป็นแบบนั้น คิดเศร้า ก็เศร้า คิดสุขก็สุข คิดบ่อยๆว่าสดชื่น ก็สดชื่น
                       
ผมว่าดีนะครับ สู้แบบท่านอาจารย์แพทย์ ประธานาธิบดี จิมมี่ แบบป้าน้อย และมีทัศนคติ ที่มั่นคงว่ารถคันนี้สีขาว บรรทุกความมั่นใจ ความคิดที่มีความสุข มองทุกอย่างด้วยใจที่เข้าใจ มะเร็งก็อาจจะเฉาและคงเหงากว่าผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยพยายามรู้เท่าทันมัน เพื่อชีวิตปัจจุบันอยู่อย่างมีสุขกับครอบครัวครับ
                          
ขอแถมอีก 2 ตัวอย่างนะครับ คุณพิมพ์ พิมพ์มาดา ดาราสาวกับมะเร็งรังไข่ที่มีกำลังใจล้นหลามจากคุณแม่ หรือผู้ประกาศข่าว เวย์-เยาวลักษณ์ กันนิกา ที่ต้องผ่าตัด ให้คีโม และฉายรังสี ขับรถไปทำงาน ใส่วิกอ่านข่าว แอบซับน้ำเหลืองภายใต้ สูทชุดอ่านข่าว โดยไม่แสดงความอ่อนแอตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ต้องรักษาควบคู่กันไป  (ข่าว manager)
                         
มะเร็งไม่ร้ายอย่างที่คิด นอกจากทางการแพทย์แล้ว กำลังใจ ครับ เป็นอาวุธที่เราสร้างได้ด้วยตัวเราเอง  กำลังใจสู้มะเร็งครับ