วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การตรวจร่างกายด้วยตัวเอง ตอนที่ 10: การตรวจบริเวณเชิงกรานในเพศชาย

การตรวจร่างกายด้วยตัวเองตอนนี้พูดถึงการตรวจบริเวณเชิงกราน และข้อสังเกตความผิดปกติในเพศชายซึ่งไม่ควรมองข้าม เพศชายและเพศหญิงจะมีการตรวจในบริเวณช่องเชิงกรานในส่วนของลำไส้ใหญ่ และกระเพาะปัสสาวะที่เหมือนกัน ส่วนอวัยวะที่แตกต่างที่สามารถมองเห็นและตรวจได้ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่นระบบสืบพันธุ์ภายนอก สามารถสังเกตได้ ดังนี้
ภาพแสดงอวัยวะเพศชาย
1. อัณฑะ 
ตรวจโดยการดูและคลำลูกอัณฑะว่าลูกอัณฑะลงมาในถุงทั้ง 2 ข้างและ ขนาดเท่ากันหรือไม่
ความผิดปกติที่สำคัญ คือ
1.1 การมีลูกอัณฑะเพียงข้างเดียว อาจพบร่วมกับการพบก้อนผิดปกติที่บริเวณขาหนีบ หรือในท้องช่วงล่าง เนื่องจากตอนอยู่ในครรภ์มารดา ลูกอัณฑะจะเกิดอยู่หลังช่องท้อง และจะเคลื่อนลงสู่ถุงอัณฑะเมื่อครบกำหนดคลอด ลูกอัณฑะที่ไม่เคลื่อนลงสู่ถุงอัณฑะ จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งได้มาก ซึ่งในรายที่ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนลงมาสู่ถุงนั้น อาจค้างอยู่ที่บริเวณขาหนีบ ทำให้คลำพบก้อนที่บริเวณนั้น แต่หากไม่มีก้อนที่ขาหนีบ ก็อาจจะค้างอยู่ในช่องเชิงกราน จึงควรคลำหาก้อนในบริเวณท้องช่วงล่างด้วย หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด
1.2 การที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งโตผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นมะเร็ง ถุงน้ำหลอดเลือดดำที่โป่งพอง หรือไส้เลื่อน

2. อวัยวะเพศชาย 
ควรตรวจดูว่าหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศสามารถรูดเปิดได้หรือไม่ หากไม่สามารถเปิดได้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตัดหนังหุ้มปลายออก เพราะนอกจากจะต้องตรวจดูว่าว่ามีแผลที่อวัยวะเพศหรือไม่ เราต้องตรวจดูว่ามีสิ่งหมักหมมอยู่ภายใต้หนังหุ้มปลายหรือไม่ เพราะสิ่งหมักหมมนี้ เป็นสารก่อมะเร็งของอวัยวะเพศชายได้ จะต้องหมั่นทำความสะอาดเสมอ   ในปัจจุบันนิยมการตัดหนังหุ้มปลายตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งมีสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งของอวัยวะเพศชายได้

3. ต่อมลูกหมาก
สำหรับต่อมลูกหมากนี้อยู่ในตำแหน่งลึกแต่จะมีอาการให้สังเกตได้คือ การถ่ายปัสสาวะไม่พุ่งแรง อาจมีเลือดปน ซึ่งอาการปัสสาวะไม่พุ่งนี้ อาจพบได้ในโรคต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งพบไดมากกว่า และมักเป็นในผู้ชายสูงวัย  ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ใจก่อน

ทุกอาการที่เพียงแต่เห็นความผิดปกติและเกิดความไม่แน่ใจหรือสงสัย อย่าได้เก็บความไม่สบายใจไว้ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีนะครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น