วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง : เฝ้าระวังภัยการติดเชื้อในกระแสโลหิต


การติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นสิ่งที่เราได้ยิน ได้รับทราบบ่อยๆ  ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิต การติดเชื้ออาจเป็นเชื้อที่รุนแรงและดื้อยา หรือ เกิดจากเชื้อโรคปกติในร่างกายของคนเรา หรือเชื้อโรคโดยทั่วไปก็ได้  หากภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง

วันนี้เราจะพูดถึงการติดเชื้อในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต  เนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมักจะต่ำกว่าคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด         

การดูแลตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อและนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสโลหิต จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทีมสู้มะเร็งต้องให้ความสำคัญ ตั้งแต่

1. การหลีกเลี่ยงโอกาสการติดเชื้อ
2. การมีความรู้ในเรื่องสุขอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3. การมีความรู้เรื่อง อาการและอาการแสดง ที่อาจจะเป็นการติดเชื้อ

โดยทั่วไป ท่านมักจะคุ้นเคยกับคำแนะนำในเรื่องการปฏิบัติตัว ได้แก่ การไม่ไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น  ตลาดนัด โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัด หัด วัณโรค สร้างอุปนิสัยล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร อาหารก็ต้องสุกใหม่สด ถ้าจำเป็นอาหารเย็น ก็ควรอุ่นร้อนเสมอหลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบ เป็นต้น               

ในวันนี้ ผมจะเน้นเรื่องการติดเชื้อเป็นความรู้ให้ทีมสู้มะเร็งเรา ได้เข้าใจและระวังภัย ป้องกันไม่ให้เข้าสู่ภาวะวิกฤตของการติดเชื้อในกระแสโลหิต

ภาพประกอบจาก: https://www.healthtap.com

Febrile Neutropenia (การมีไข้ในสภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ) เป็นสภาวะสำคัญที่สุดที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสโลหิตของผู้ป่วย เมื่อมีติดเชื้อในสภาวะ Neutropenia หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ สภาวะนี้จึงหมายถึง สภาวะที่ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกาย  38.5  องศา C อย่างน้อย 1 ครั้ง หรืออุณหภูมิร่างกาย 38 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 2 ครั้ง ร่วมกับ ANC (Absolute Neutrophil Count) เลือดน้อยกว่า 500 cell/mm3 หรือ จำนวน Neutrophil ในเลือดน้อยกว่า 1,000 cell/mm3  และมีแนวโน้มจะลดลงได้อีก จนกระทั่งน้อยกว่า  500 cell/mm3

Neutrophil หมายถึง เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อและต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดต่างๆ โดยทั่วไปของการให้ยาเคมีบำบัด เม็ดเลือดขาวจะลดลงเรื่อยๆ สูตรยาที่ให้ทุก 3 สัปดาห์  มักจะมีโอกาสลดลงใน วันที่ 10-14 หลังการได้รับยาเคมีบาบัด อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะเกิดการต่ำตั้งแต่สัปดาห์แรกก็ได้

อาการที่นอกเหนือจากไข้ดังกล่าวแล้ว ท่านควรพบแพทย์เมื่อ
1. คลื่นไส้อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ รู้สึกเบื่ออาหาร พะอืดพะอมตลอดเวลา
2. เยื่อบุช่องปากอักเสบมาก ทำให้กลืนลำบาก หรือกลืนอาหารไม่ได้
3. ท้องเสีย หรือถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน
4. อ่อนเพลียมาก

ในผู้ป่วยบางรายที่เม็ดเลือดขาวต่ำมากๆ  อาจจะใช้คำพูดง่ายๆว่า ไม่อยากแม้แต่ขยับตัว


บทสรุปที่อยากย้ำ ทีมสู้มะเร็งว่าให้ระวังและปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจ โดยเฉพาะการเจาะเลือดเพื่อดูเม็ดเลือดที่เรียกว่า CBC เพราะจะบอกรายละเอียดได้มากขึ้น แต่อาการทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องการติดเชื้อในกระแสโลหิตแน่ๆ เพราะอาจเป็นเพียงผลข้างเคียงจากยาเท่านั้นก็ได้ ทีมสู้มะเร็งเราไม่ประมาท ตระหนัก แต่ไม่ตระหนกนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น