![]() |
ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health |
ช่วงเวลาในการรักษาโรคมะเร็งจะสั้นหรือยาวนาน ขึ้นอยู่กับอาการของโรคเป็นสำคัญ
สำหรับการดูแลทางกาย ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของแพทย์และทีมงาน
อีกส่วนก็เป็นหน้าที่ของญาติและผู้ป่วย แต่ทั้งหมดค่อนข้างจะมีเหตุผลที่พอจะคาดเดาและวางแผนแก้ไขกันเป็นระยะๆ
แต่การดูแลทางด้านจิตใจนั้น อาจจะยากกว่าเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีปัจจัยผันแปรที่ไม่สามารถคาดเดาได้แบบมีเหตุผล ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตผู้ป่วยอาจจะชอบไปเที่ยว
แต่เมื่อเกิดเป็นโรคขึ้นมาก็อาจจะชอบเก็บตัว ไม่อยากไปไหน พอญาติชวนไปเที่ยว
ก็จะรู้สึกหงุดหงิด บ่นด้วยความไม่พอใจ“ ไม่รู้เหรอว่าไม่สบาย ชวนอยู่ได้
อยากไปก็ไปเองซิ รำคาญ” แต่ในบางอารมณ์ที่อยากไปเที่ยว
ญาติกลับไม่ชวน ก็อาจจะรู้สึกน้อยใจ พูดตัดพ้อต่อว่า เราเป็นภาระใช่ไหม
ไปกับเราไม่สนุกใช่ไหม เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนไม่ชวนกันแล้ว ไม่เป็นไร ไม่ไปก็ได้"
แล้วก็เก็บตัวซึมเศร้า
อีกตัวอย่างของผู้ป่วย เมื่อก่อนเคยชอบขาหมูพะโล้
ตอนนี้พอซื้อมาให้ อาจจะบ่นว่า "รู้อยู่แล้ว ของมันไม่ควรกิน กินแล้ว เลี่ยน
คลื่นไส้ แน่นท้อง" แต่พอไม่ซื้อ อาจรู้สึกเสียใจ "ตอนนี้ไม่สบาย
ไม่สามารถไปซื้อของกินเองได้ ต้องรอของที่เขาเอามาให้ เหมือนใส่บาตร ตอนเป็นไม่ซื้อให้กิน
ตอนตายจะซื้อมาไหว้ไหม” รำพึงรำพันประชดประชันโดยไม่รู้ตัวว่าแต่ละคำที่พูดออกมามีผลกระทบต่อจิตใจตัวเองและผู้ดูแลแค่ไหน
....ไปกันใหญ่เลยครับ
มาดูทางญาติที่ต้องรับผิดชอบคนเดียว
ไม่มีผู้ดูแลอื่นช่วยเลย
เวลาสำหรับภารกิจส่วนตัวน้อยลงต้องจัดตารางวันพาผู้ป่วยไปหาหมอ รักก็รัก ห่วงก็ห่วง แต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงเพิ่มขึ้น
ภาระหน้าที่การงานเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
จะบอกว่าวันนี้เจ้านายเรียกประชุมด้วยก็ไม่ได้ กลัวผู้ป่วยน้อยใจ จะไม่ไป
ก็จะมีปัญหาเรื่องงาน ทำอย่างไรดี
ตอนแรกใช้วันลาพักร้อน ลากิจ
นานเข้าวันลาก็หมด ต่อมาตอนกลางวัน
ก็ต้องทิ้งให้ผู้ป่วยอยู่บ้านคนเดียว จิตใจก็กังวล เป็นห่วงไปหมด
ใครจะอุ่นอาหารให้กิน ใครจะเป็นเพื่อนดูแลตอนเข้าห้องน้ำ สารพัดกังวัล ตอนกลางคืนนอนพักผ่อนได้น้อยลง
พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็เริ่มเป็นคนขี้หงุดหงิด ขึ้นมาบ้างเหมือนกัน โรคกระเพาะถามหา
ปวดศีรษะบ่อยๆ ต้องพึ่งยารักษาตัวเอง เวลาการคบหา สมาคมกับเพื่อนฝูงก็ไม่มี
ส่วนที่มีญาติเยอะก็แบ่งเวลากันดูแล
ถ้าญาติสามัคคีกัน วางแผนที่ดี
ก็พอแก้ปัญหาได้
แต่ถ้าญาติมีความคิดต่าง อารมณ์ร้อน มองปัญหาของตนเองเป็นหลัก ผู้ป่วยและทุกคนคงจะทุกข์เพิ่มขึ้น
สุดท้ายเสียงหัวเราะก็ขาดหายไปทั้ง 2 ฝ่าย............ขาดทุนครับ
คนทุกคน มีชีวิตอยู่ด้วยเวลาที่กำหนด เราจะใช้เวลานั้นแสวงหาความทุกข์มากกว่าความสุขกระนั้นหรือ
คิดว่าทุกคนไม่อยากทุกข์ เราจึงไม่ควรเพิ่มปัญหา
การปล่อยวาง อาจจะดูคล้ายการละเลยใน
สิ่งที่ควรทำ การพยายามแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด อาจจะซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้น
ความเข้าใจในความจำเป็นของแต่ละปัญหา ให้ข้ามคำว่าขอโทษ ยกโทษ เพราะนั่นเป็นเพียงกระบวนการก้าวข้ามในสิ่งผิด
ในความเป็นจริงหากเราเข้าใจในปัญหา ก็จะไม่มีคำว่าผิดสำหรับใคร
การแก้ปัญหาจึงอยู่ที่ความเข้าใจในธรรมชาติ
ของมนุษย์ เข้าใจในความรักที่แท้จริง. พยายาม
เอาใจเขามาใส่ใจเรา
การดูแลผู้ป่วยจึงเป็นการดูแลด้วยรักและผูกพัน. เห็นอกเห็นใจมากกว่าการดูแลแบบอดทน อดกลั้น
ทั้งหลายทั้งปวง อาจจะแก้ไขได้บ้าง เมื่อเรามีความมั่นใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน
จะเป็นยาสมานจิตใจที่ดีที่สุด อย่าให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แบกความทุกข์ไว้เพียงฝ่ายเดียว
แม้จะอยู่ในภาวะเจ็บปวดของโรค แม้จะอยู่ท่ามกลางปัญหาของการดูแล พยายามหาเรื่องขำ.
คุยกันในสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ขันนำไปสู่อารมณ์ที่ดี
และหรือนำหัวข้อคำสอนในศาสนาที่นับถือมาท่องมาปฏิบัติ หากไม่เคยทำมาก่อนก็อาจจะค่อยๆแทรกในบทสนทนาโดยไม่เกิดความขุ่นเคืองหรือคิดมาก
ขอเสียงหัวเราะกลับคืนมาให้ได้บ้างนะครับ
คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยด้วยความรักความผูกพันเห็นอกเห็นใจเข้าใจมากกว่คว่มอดทนและอดกลั้นเป็นสิ่งท่ีพึงปฏิบัติจริงๆเพราะใชาเลยอดทนอดกลั้นมีลิมิตแน่นอน
ตอบลบผมเช่ือว่าอารมณ์ขันช่วยสมานแผลใจได้นะครับเพียงแต่เร่ืองข
ตอบลบบขันต้องสรรหาให้ถูกเร่ืองถูกจังหวะคนไข้จะได้ยิ้มได้บ้างดีครับเป็นข้อเขียนที่ดีปัจจุบันเสียงหัวเราะมันหายไปสิ้นเลยเม่ือมีญาติป่วย
เป็นบทความที่ดีครับอยากให้เสียงหัวเราะกลับคืนมาเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกท่่านนะ
ตอบลบ