วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ศีรษะและลำคอ ที่ไม่สามารถใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาได้



เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษามะเร็งศีรษะและลำคอจะใช้การฉายรังสี หรือ การผ่าตัดเป็นหลัก ต่อมามีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมรักษา ช่วยเพิ่มผลการรักษาประมาณ 4-6 % แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้สำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม เพราะผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จึงต้องรักษาด้วยรังสีรักษาเพียงอย่างเดียว

จากรายงานของ Van-der-Zee ที่รายงานการรักษาแบบสุ่มเปรียบเทียบระหว่างการฉายรังสีอย่างเดียว กับกลุ่มที่ได้รับความร้อน หรือ Hyperthermia ร่วมด้วยในมะเร็งช่องเชิงกราน และอีกหลายรายงานที่ได้ผลเช่นเดียวกันว่า การให้ความร้อน เพิ่มอัตราอยู่รอด เมื่อเทียบกับการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว

Huilgol และคณะ จึงได้ศึกษา แบบสุ่ม (Prosepective Randomized Study) ในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่มีลักษณะโรคใกล้เคียงกัน โดยเปรียบเทียบการฉายรังสีอย่างเดียวจำนวน 26 ราย เทียบกับกลุ่มที่ได้ความร้อนด้วยเครื่อง RF8 ร่วมด้วย จำนวน 28 ราย

โดย ทั้ง 2 กลุ่มได้รับรังสีมาตรฐาน 66-70 Gy ใน 6-7 สัปดาห์ โดยกลุ่มที่ได้รับความร้อน จะได้ความร้อนหลังการฉายรังสี อย่างน้อย 30 นาที ที่ระดับ 42-43 องศา ทั้งนี้ จะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง



ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่รักษาด้วยความร้อนร่วมกับรังสี  รอยโรคหายหมด 78.6% เทียบกับ 42.2% ในกลุ่มที่ได้รับรังสีรักษาเพียงอย่างเดียว และมีความแตกต่างในอัตราการอยู่รอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ในขณะที่ผลข้างเคียงจะใกล้เคียงกันทั้ง 2 กลุ่ม

นอกจากนี้ ผู้รายงาน ได้อภิปรายกระบวนการการเสริมฤทธิ์ของความร้อนและรังสี รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาในลักษณะเดียวกันในผู้ป่วยอื่น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น นำไปสู่การสรุปของข้อสรุปที่ควรนำมาเป็นมาตรฐานในการรักษาในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมะเร็งศีรษะและลำคอในระยะลุกลาม ที่มีต่อมน้ำเหลืองโต ที่น่าจะมีภาวะการขาดออกซิเจน ซึ่งโดยทั่วไปจะดื้อต่อรังสี    ดังนั้น การให้ให้รังสีร่วมกับความร้อนจะเสริมผลการรักษาได้อย่างชัดเจน

ผมนำเสนอรายงานนี้ เพราะเห็นว่า จะมีประโยชน์ในการพัฒนาการรักษาและเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ โปรดอย่าปฏิเสธมาตรฐานการรักษาที่ต้องใช้รังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ยกเว้นในกรณีที่ท่านไม่สามารถรับยาเคมีบำบัดได้จริงๆ ในเร็วๆนี้ น่าจะมีรายงาน วิธีการใช้ทั้ง 3 แบบ คือ รังสี ยาเคมีบำบัด และความร้อนร่วมกัน ซึ่งต่างเสริมผลการรักษาซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่มีการศึกษาในมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามก่อนหน้านั้นครับ

ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดได้จาก Huilgol NG, et al. Hyperthermia with radiation in the treatment of locally advanced head and neck cancer : A report of randomized trial.  J of  Cancer Research and Therapeutics  2010492-496.   

สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษามะเร็งชนิดต่างๆด้วยความร้อนหรือ Hyperthermia ตาม link ด้านล่างนี้ได้ครับ
















บทความ: มาป้องกันปากมดลูกให้ปลอดภัยจากโรคมะเร็ง               

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความหวังของผู้ป่วย มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะแพร่กระจาย

เป็นที่ทราบกันดีว่าการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรกนั้นได้ผลดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หรือ การฉายรังสีที่มีเทคนิคแตกต่างกันมากมาย โดยมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้ป่วยบางรายที่เสียชีวิตจากโรคอื่นๆ ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากซ่อนเร้นอยู่ โดยไม่แสดงอาการใดๆ                 
ด้วยการตรวจค้นพบที่รวดเร็ว สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือดเพื่อหาระดับ PSA ในกระแสเลือด  การตรวจวินิจฉัยที่ง่ายผ่านการตัดพิสูจน์ชิ้นเนื้อ โดยอาศัยการตรวจอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก

อย่างไรก็ตามก็ยังมีมะเร็งในระยะลุกลาม หรือระยะแพร่กระจายที่ยังเป็นปัญหาต่อผู้ป่วย ที่ผลการรักษายังไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายรังสี การให้ฮอร์โมน หรือ ยาเคมีบำบัด 

ในการประชุม ECCO ประจำปี 2015 ครั้งนี้ ศาสตราจารย์ Nicholas James จากมหาวิทยาลัย Warwick ประเทศอังกฤษ รายงานการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 2,962 ราย ที่อยู่ในระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย โดยการแบ่งผู้ป่วยเป็น กลุ่มโดยวิธีการสุ่ม ในชื่อการศึกษาที่เรียกว่า STAMPEDE

จาการศึกษาพบว่า ผลในเรื่อง Symptomatic Skeletal Event หรืออาการทางด้านกระดูก ไม่ว่าจะเป็นการปวดหรือหัก จากการกระจายของโรคจะลดลงในกลุ่มที่ได้รับยา Doxetexel โดยทำให้อาการเกิดช้าลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.0001 แต่การเพิ่มยา Zoledronic ซึ่งเป็นยาที่ใช้ทั้งรักษาหรือป้องกัน การเกิดอาการทางด้านกระดูก ก็ไม่ได้ประโยชน์ ในกลุ่มนี้ ทั้งอัตราการอยู่รอด หรือ การเกิดอาการทางกระดูก

การศึกษานี้สอดคล้องกับการศึกษาของ Dr. Claire Vale จาก University College London ประเทศอังกฤษ ที่เพิ่มยา Doxetexel ในกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วยฮอร์โมน ที่เรียกว่า Androgen Deprivation Therapy ( ADT ) นำไปสู่การเพิ่มอัตราการอยู่รอดที่ระยะ 4  ปี  10 %  (จาก 40% เป็น 50 %)  และลดอัตราการล้มเหลวจากการรักษาลง 15% แต่อัตราการอยู่รอดจะไม่มีนัยสำคัญในกลุ่ม M0 หรือกลุ่มที่ไม่มีการแพร่กระจาย ซึ่งจะคล้ายกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม  Bisphonate  ซึ่งจะเพิ่มอัตราการอยู่รอดในกลุ่มที่มีการกระจาย แต่จะได้ประโยชน์น้อยในกลุ่ม MO

โดยสรุป ในการประชุม ECC ครั้งนี้ ได้ไขข้อข้องใจว่าการเติม ยาเคมีบำบัด Doxetexel จะได้ประโยชน์ในกลุ่มมะเร็งต่อมลูกหมากที่ต้องรักษาด้วยฮอร์โมนหรือไม่ ซึ่งนับเป็นการปรับแนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลาม ซึ่งท่านสามารถที่จะปรึกษาแพทย์ผู้รักษาของท่านได้ครับ  เพราะต้องประเมินความเหมาะสมในการได้รับยาด้วยความรอบคอบครับ


                                                                                                              

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แพทย์ทางเลือก และการรักษาเสริม (Complementary and Alternative Medicine) ท่านเชื่อหรือไม่?


ภาพประกอบจาก: http://www.cancercompass.com/

ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว ที่มีแนวทางการปฏิบัติตัว หรือ การรักษาเสริมถึง 10 ทางเลือก ก็เกิดคำถามว่า Complementary and Alternative Medicine (CAM) มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ วันนี้จึงนำบทความของศาสตราจารย์ Tony Mok ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการมะเร็งมาเล่าสู่กันฟัง

Complementary and Alternative Medicine (CAM) ใช้เรียกผลิตภัณฑ์  หรือ ปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่ไม่ได้เป็นส่วนในทางการแพทย์มาตรฐาน การแพทย์มาตรฐาน หรือ Standard Medical Care คือการดูแลรักษาโรค โดยบุคลากรทางด้านสุขภาพ M.D. (Medical Doctor)  หรือ แพทยศาสตร์บัณทิต  ซึ่งบางส่วนก็จะร่วมปฏิบัติโดย พยาบาล เจ้าหน้าที่ เช่น นักกายภาพบำบัดเป็นต้น

การรักษาเสริม หรือ แพทย์ทางเลือก ไม่ใช่การแพทย์หลัก หรือ เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนั้น หากแต่เป็นการรักษาที่ใช้ร่วมกับการแพทย์ มาตรฐานเช่น การฝังเข็ม ที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะการใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานเป็นต้น

ปัจจุบัน  CAM เป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับความสนใจและใช้บ่อยมากขึ้นในผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งนี้ไม่ว่าแพทย์จะให้ความใส่ใจและเชื่อถือหรือไม่ จากรายงานใน Asia–Pacific Journal of Clinical Oncology โดย Pirri  พบว่า 30% ของผู้ป่วยมะเร็งใช้ CAM ระหว่างการรักษา ในประเทศอเมริกา และออสเตรเลีย มีรายงานการใช้ 40 ถึง 50% ในประเศจีน มีการใช้สมุนไพรมากกว่า 80% ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม  และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ MD Anderson Cancer Center  ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในอเมริกา พบว่า 83.3% ของผู้ป่วยมีการใช้การรักษาเสริมอย่างน้อย 1 อย่าง

ด้วยเหตุความรู้ที่จำกัดและความไม่เชื่อต่อศาสตร์นี้ แพทย์จึงไม่ค่อยพูดเรื่องนี้กับผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยเองก็ไม่อยากปรึกษาแพทย์ เพราะเกรงใจและกลัวจะเกิดความขัดแย้ง ยกเว้นแพทย์พร้อมที่จะพูดเรื่องนี้ด้วย

ผู้ป่วยเชื่อ CAM เพราะเขาต้องการแสวงหาความมั่นใจและความหวัง ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอทางวิทยาศาสตร์ แต่พร้อมที่จะเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นจาก สื่อ เพื่อน ที่ฟังแล้วดูดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่ได้รับความคาดหวังผลการรักษาที่ดีชัดเจนจากแพทย์ ทั้งนี้เพราะการแพทย์มาตรฐานนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การอ้างอิง โดยเฉพาะการเปรียบเทียบแบบสุ่ม ซึ่งแพทย์จะอธิบายในเชิง อัตราการตอบสนอง และอัตราการอยู่รอด ทำให้ผู้ป่วยมักจะขาดความมั่นใจ และกลัวการเผชิญกับการสูญเสีย  

ในขณะที่ ผู้ให้การดูแล CAM ไม่ต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องอยู่ในกรอบของความจริงมากนัก เพราะอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ ผู้ให้การรักษามักจะมีคำพูด น่าฟังปลุก ความหวัง และปลุกใจให้ต่อสู้ 

ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกมีอำนาจในการตัดสินใจ ในการเลือกเพื่อสุขภาพที่เกิดขึ้นใน CAM จะมากกว่าแพทย์มาตรฐานที่กำหนดไว้ชัดเจน  การเปลี่ยนแปลงหรือปรับแต่งมีได้น้อย ทำให้ผู้ป่วยและแพทย์ ถูกบังคับให้ทำตาม เพื่อลดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด 

จากรายงานของ Pirri พบว่า CAM  ได้ผลดีถึง 2/3 ของผู้ป่วย ในด้านร่างกายและจิตใจ อารมณ์ โดยลดระดับความเครียดที่ดีกว่า ในกลุ่มที่ใช้ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P= 0.042)    และ 77.9% เชื่อว่าเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน          
                  
ส่วนทางเลือกของสมุนไพร โดยเฉพาะแพทย์ แผนจีน Chinese Herbal Medicine (CHM) ตั้งบนพื้นฐานของลัทธิเต๋า (Taoism) มีปรัญชญาความเชื่อของความสมดุล หยินหยาง (Yin – Yang) และพัฒนาต่อเนื่องในระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยยาสมุนไพรจีน ได้ถูกจัดหมวดหมู่ตามผลของยา ดังเช่น The Ben Cao Gang Mu (General Outlines and Divisions of Herbal Medicine) โดย  Li Shizhen (1517–1593AD)  ที่เป็นตำรับยาใหญ่ ที่มีรายการ 1892 ชนิดจากสมุนไพรธรรมดา จนถึงชิ้นส่วนของสัตว์ต่างๆ
              
ในการสั่งยาแต่ละครั้งจะประกอบด้วยสมุนไพร 10 ถึง 15 อย่าง โดยแตกต่างกันตามลักษณะของผู้ป่วย จึงเป็นการยากที่จะกำหนดมาตรฐานของยาจีน          
            
นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ของแพทย์ตะวันตก และแผนจีนจะต่างกัน วัตถุประสงค์ของยาจีน จะเป็นฟื้นคืนความสมดุลย์ของหยินหยาง นำไปสู่ความรู้สึกดีของผู้ป่วย ที่ได้รับการเยียวยา ผลการรักษาที่ดีนำไปสู่ความชอบและความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นทั้งผู้ป่วยและผู้ให้การรักษานำไปสู่อาการที่ดีขึ้น แต่ในทางการแพทย์ตะวันตก จะมองในรูปแบบของการตอบสนอง และอัตราการอยู่รอดที่สามารถวัดได้
                 
ดังนั้น จึงเป็นงานที่ท้าทายมากที่จะอาศัยกระบวนการวิจัยแผนปัจจุบันไปสู่การพิสูจน์ผลทางแผนจีน หรือ CAM
                
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะปัจจุบัน การประสานความไม่เชื่อ และความเชื่อของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ บนพื้นฐานของ

1. ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยอมรับว่า CAM อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ ต้องเชื่อมั่นในความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์

2. แพทย์ต้องศึกษาเรื่อง CAM ด้วยตนเอง เพราะไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันได้ เพราะไม่มัหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่แสดงถึงประสิทธิภาพ แต่ประเด็นที่สำคัญคือ การพิจารณาในเรื่องความปลอดภัย ต้องเกิดจาการร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่าย

3. เราต้องแสวงหาและประชาสัมพันธ์หลักฐานทางวิทยาศสาตร์เพิ่มขึ้น ท่านจะเชื่อหรือไม่ คงเป็นดุลยพินิจของท่าน แต่  CAM จะยังคงจะเป็นการรักษาทางเลือกของคนไข้มะเร็งอย่างแน่นอน

บทความนี้ผมเขียน เพื่อให้ทีมสู้มะเร็งได้มีข้อมูลในการพิจารณา เพื่อสร้างโอกาสและความหวังที่กว้างขึ้นครับ ไม่ได้ให้เชื่อ หรือปฏิเสธ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. Pirri C,et al Use of complementary and alternative therapies by Western Australian cancer patients. J Clin Oncol 2008; 4: 161–9.
2. Ernst E. The prevalence of complementary/alternative medicine in cancer. Cancer 1998; 83: 777–82.
3. Eisenberg DM, et al .  Trends in alternative medicine use in United States, 1990–1997. JAMA 1998; 280: 1569–75.
4. Cui Y,   et al. Use of complementary and alternative medicine by Chinese women with breast cancer. Breast Cancer Res Treat 2004; 85: 263–70.
5. Richardson MA,  et al. Complementary/alternative medicine use in a comprehensive cancer center and the implications for oncology. J Clin Oncol 2000; 18(13): 2505–14.
6. Mok TSK,   et al. A double-blind placebo-controlled randomized study of Chinese herbal medicine as complementary therapy for reduction of chemotherapy-induced toxicity. Annals of Oncology 2007; 18: 768–74.