วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง ตอน การบอกข่าว ( ร้าย ) ความจริงบางอย่างที่ต้องแก้ไข

แม้เราจะมีแนวทางปฏิบัติดังที่ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่านได้แนะนำแล้ว  จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา จะพบว่า เรายังมีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงในทางปฏิบัติอีกมาก จำเป็นที่หน่วยงาน บุคลากร ควรจะทบทวนเพื่อได้ข้อเท็จจริง  ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแนวทางการบอกข่าวร้าย  สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งบางแห่งอาจจะมีการดำเนินการอยู่แล้วก็ได้ แต่อาจจะช่วยให้นึกถึงว่าเราต้องมีอะไรที่ต้องแก้ไขบ้าง ดังนี้

1. ผู้ป่วยบางรายถูกนัดให้มารับยาเคมีบำบัด หรือ ฉายรังสี โดยที่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตรวจวินิจฉัยและแนวทางการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ แสดงว่าช่วงเวลาตั้งแต่การได้ทราบข่าวจนกระทั่งได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจจะได้รับแจ้งจากแพทย์ที่ตึกผู้ป่วยนอก หรือ Tumor Clinic เพื่อนัดการรักษา เราจะมีกระบวนการส่งต่อการแจ้งข่าวอย่างไร จึงจะเหมาะสม

2. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการรักษายังไม่ทราบว่าใครเป็นแพทย์เจ้าของไข้ เพราะบางครั้งผ่านแพทย์หลายคน เช่น ศัลยแพทย์ผู้ตัดชิ้นเนื้อหรือส่องกล้อง โดยผู้ที่รักษาจริงอาจจะเป็นแพทย์มะเร็งวิทยา ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแพทย์เจ้าของไข้จะเป็นที่พึ่งที่สำคัญของผู้ป่วย เพราะในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะได้รับการนัดตรวจหลายอย่างจากแพทย์หลายท่าน ที่ต้องการคำอธิบายหรือคำตัดสินใจ

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health


3. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่รู้พยากรณ์โรค แม้บางครั้งเราจะไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ  ส่วนใหญ่จะอธิบายเรื่องโรคและการรักษา แต่ความเป็นจริงแล้ว พยากรณ์โรคเป็นอาวุธที่สำคัญในการสร้างความหวังให้เขาต่อสู้กับโรค ในขณะเดียวกันก็จะช่วยไม่ให้เขาตั้งอยู่ในความประมาท

4. บุคลากรทางการแพทย์ได้มีการเตรียมสถานที่ที่สงบไม่วุ่นวาย เพื่อบอกข่าวหรือไม่ หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างกระดาษเช็ดน้ำตา  ที่เราจะหยิบใช้ได้   ซึ่งเป็นอะไรเล็กๆน้อยๆที่มีส่วนสำคัญในการแสดงออกถึงความเห็นใจ ความเป็นทีมเดียวกัน

5. การเตรียมข้อมูลที่พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่น เชื่อใจ ไม่สับสน ทำให้กระบวนสุดท้ายในการวางแผนการรักษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

6.คิวการตรวจของแพทย์ที่ไม่ได้แยกผู้ป่วยใหม่เก่า หรือเตรียมเวลาเผื่อไว้สำหรับผู้ป่วยที่เรากำลังจะบอกข่าวร้าย  แต่เราใช้ช่วงเวลาที่เท่ากันในการนัด สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาหรือติดตามการรักษา

7. อัตราพยาบาลหรือผู้ช่วยมีจำกัด  หลังจากแพทย์ได้บอกข่าว และวางแผนการรักษา ควรอย่างยิ่งที่จะต้องให้เวลากับผู้ป่วยและญาติมากกว่างานบริการทางการรักษา เช่นเจาะเลือด ให้ใบนัด เป็นต้น

8. ในกรณีผู้ป่วยใน เราบอกข่าวร้ายในห้องรวม โดยไม่ได้มีห้องให้คำปรึกษา  บางครั้งลืมว่ามีใครอยู่ในห้อง  ซึ่งไม่สมควรจะรับรู้หรือไม่

9. แพทย์ผู้แจ้งข่าว  โดยเฉพาะแพทย์ที่จบใหม่  มักรู้สึกแย่เมื่อผู้ป่วยต้องเศร้าหรือเครียด จึงไม่อยากเป็นผู้บอกข่าวร้าย บางครั้งคิดมากว่าตัวเอง พูดอะไรผิดหรือไม่ ในบางครั้งก็มีอารมณ์เศร้าคล้อยตามผู้ป่วย  แม้จะมีการสอนการแจ้งข่าวร้ายเพิ่มขึ้นในหลักสูตร แต่ในทางปฏิบัติควรมีการให้กำลังใจในกลุ่มแพทย์ หรือ การถ่ายทอดประสบการณ์กัน เพื่อ เป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันเป็นระยะๆ

10. บางครั้งแพทย์บอกผลแล้วทำธุระที่สำคัญอื่นต่อ  เช่น ก้มหน้าก้มตาสั่งการรักษาหรือบันทึกประวัติ โดยลืมการสรุป หรือ สร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ป่วย

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหา และบางข้อ เราสามารถปรับปรุงได้โดยง่าย   ซึ่งจะช่วยให้การบอกข่าวร้ายของเรา ลดความรุนแรงได้บ้าง อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยและญาติคิดเอง เออเอง ด้วยความเข้าใจผิด อาจจะเกิดผลเสียที่รุนแรงมากกว่าที่ควรได้   ถ้าที่ไหนทำได้ดีแล้ว ควรนำเสนอเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นๆ ได้ถือเป็นแบบอย่างด้วยนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อคิด เหล่านี้จะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ10 ธันวาคม 2557 เวลา 07:16

    ข้อ2 เคยประสบมาเพราะแพทย์หลายท่านที่เวียนเข้ามาจำไม่ได้งงมากกว่าจะรู้ว่าท่านใดท่ีเรียกว่าเป็นแพทย์เจ้าของไข้เคยมีนึกในใจว่าถ้าท่านนั้นท่านนี้คงจะดีเพราะดูพูดเก่ง ตอนที่ร้องไห้ไม่มีผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเลย ดีค่ะที่ใส่ใจในส่ิงเหมือนเล็กน้อยแต่ช่วยให้อบอุ่นใจ

    ตอบลบ