วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง: การเตรียมตัว เพื่อรับอุบัติภัยของผู้ป่วยมะเร็ง




โลกเราทุกวันนี้ไม่เพียงแต่จะร้อนขึ้นทุกวัน ภัยธรรมชาติก็อุบัติรุนแรงขึ้น ทำลายชีวิตและทรัพย์สินมากมาย  จนมีการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ภัยธรรมชาติในประเทศไทยที่เกิดขึ้นก็ไม่น้อย แต่ละครั้งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่ใหญ่ๆ ก็จะเป็นจาก สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ทำคร่าชีวิตคนมากมาย  และที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้นี้คือ  น้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. 2554  ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดือดร้อน  ขาดแคลนปัจจัยสี่  เนื่องด้วยการคมนาคม  ที่เป็นอุปสรรคอยู่เป็นเดือน



จากประสบการณ์ในครั้งนั้น เราต้องแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง          ผู้ป่วยที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือผู้ป่วยกลุ่มที่อยู่ในช่วงการรักษาและ กลุ่มที่สภาวะภูมิต้านทานต่ำ    อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อ ภาวการณ์ติดเชื้อ เลือดออก อ่อนเพลีย หรือสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์หักของกระดูก

ทีมสู้มะเร็งวันนี้ขอนำเรื่องที่อาจช่วยผู้ป่วยและญาติในการเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นอย่าง กะทันหัน ไม่คาดคิด หรือเมื่อมีเรื่องจำเป็นที่ต้องเดินทางห่างไกลจากโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่  หรือแม้ในชีวิตปกติที่เกิดจากการไป ท่องเที่ยว   ติดขัดกลับไม่ได้ หรือการมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่ออยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล  สถานีอนามัย  ท่านควรเตรียมตัวอย่างไร

1.  วางแผนกับทีมสู้มะเร็ง ซึ่งอาจจะเป็นแพทย์หรือทีมพยาบาลว่า ควรทำอย่างไร และจะติดต่อได้ที่ไหนอย่างไร  เช่น ระหว่างให้ยาเคมีบำบัด ท่านมาตรวจที่โรงพยาบาลเดิมที่รักษาไม่ได้ จะติดต่อโรงพยาบาลใกล้เคียงได้หรือไม่  และจะประสานการดูแลกันได้อย่างไร
2.   รู้และมีประวัติโดยละเอียดเกี่ยว การวินิจฉัย ระยะโรค และการรักษา โดยเฉพาะยาที่ได้รับอยู่   หากได้รับยาเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสี ต้องทราบว่า อยู่ในรอบ หรือครั้งที่เท่าไร จากแผนการรักษาทั้งหมด ที่ผมเน้นว่ามีประวัติ เพราะบางครั้งเราจำผิด หรือ ไม่แน่ใจก็อาจจะมีปัญหาได้ครับ
3.  ถ้าอยู่ในระบบการวิจัย ควรจะทราบว่า โครงการวิจัยอะไร ชื่อผู้วิจัย และชื่อยา จะช่วยได้พอสมควร
4.  รายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ สำคัญๆ ควรจะถูกบันทึก ทั้งในโทรศัพท์ หรือ แผ่นกระดาษ นามบัตร
5.  บัตรสำคัญคือบัตรประชาชน บัตรประกันสุขภาพ บัตรประจำตัวผู้ป่วย บัตรกรุ๊ปเลือด  บัตรแพ้ยา เป็นต้น
6.  เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สามารถติดตัวได้ เช่นยาประจำตัว ยาจำเป็นธรรมดาที่หมออนุญาตใช้ได้  ยาฆ่าเชื้อ  ชุดทำแผล ปรอทวัดไข้   หน้ากากอนามัย   เป็นต้น  ทั้งหมดบรรจุในถุงที่ป้องกันความชื้นในบางรายอาจจะต้องมีออกซิเจนกระป๋อง  ก็ต้องเตรียมครับ

แม้จะเป็นเรื่องที่ดูแล้วอาจจะจำเป็นน้อย  แต่ถ้าท่านอยู่ในสถานที่มีความเสี่ยง เช่นน้ำท่วมทุกปี ก็กันไว้บ้างดีกว่าแก้ยากในภายหลัง ในต่างประเทศที่เขาคิดถึงมาก เพราะเขาเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว หรือ ทางขาดจากหิมะ หรือ หิมะถล่ม เป็นต้น

เพื่อความสุขของผู้ป่วย เราทีมสู้มะเร็งต้องรอบคอบทุกด้านครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น