วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง ( ตอนที่ 4 )

ทีมสู้มะเร็ง ( ตอนที่ 4 )

ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
เมื่อเราเข้าใจในสภาพโรคแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนในการตัดสินใจในการรักษา  หลายครั้งที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมักจะวิ่งหาหมอมากกว่าหนึ่งคน เพื่อขอความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเห็นที่สนับสนุน ให้มีความมั่นใจ ซึ่งบางครั้งก็มีประโยชน์ แต่หลายครั้งก็จะเข้าข่ายมากหมอมากความก็เป็นได้

บางคนอาจจะเชื่อหมอคนแรกเลย แต่ก็ยังมีความคิดวนเวียน ซึ่งอาจจะมารู้สึกมาเสียใจในภายหลังว่า ยังมีวิธีการรักษาแบบอื่นๆอีก โดยเฉพาะเมื่อได้ยินได้ฟังคำพูดของญาติๆ เพื่อนๆผู้หวังดี ทั้งๆที่การรักษานั้นดีที่สุดแล้ว และบางครั้งเราอาจจะได้ข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆจากสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความหวัง หลายคนพยายามที่จะเดินทางไปหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งๆที่ข้อมูลนั้นอาจจะยังไม่ได้รับรองมาตรฐานหรืออาจเกินสำหรับโรค หรือ บางครั้งอาจไม่มีประโยชน์ต่อโรคที่เป็นเลยก็เป็นได้

ดังนั้นในมหาวิทยาลัยแพทย์ หรือ สถาบันที่รักษามะเร็ง จึงมีมาตรฐานในการรักษาที่เรียกว่า CPG (Clinical Practice Guidelines)  กำกับอยู่ หรือในหลายสถาบัน จะมีคณะกรรมการวางแผนการรักษา ที่เรียกว่า Tumor Board  ซึ่งประกอบด้วยแพทย์หลักๆ คือ พยาธิแพทย์ แพทย์ทางศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ และรังสีมะเร็งวิทยา มาวางแผนร่วมกัน ทำให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ไม่ต้องกังวลว่า ผ่าตัดได้ไหม ไม่ให้ยาเคมีบำบัด หรือ ฉายรังสีได้หรือไม่  เพราะคณะแพทย์จะตัดสินใจวางแนวทางตามข้อมูล เมื่อมีทางที่จะต้องเลือก เช่น จะรักษาด้วยวิธี A หรือ B ก็ได้ แพทย์ก็จะปรึกษาผู้ป่วยและญาติในการตัดสินใจ  ซึ่งในการตัดสินนี้ อาจจะเป็นทั้งวิธีการรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เหมาะสม


การรักษามะเร็งต้องเร็ว ต้องการการตัดสินใจร่วมของทีมแพทย์  ผู้ป่วยและ ครอบครัว ต้องชัดเจน และลงมือรักษาเลยครับ อย่าลังเลหรือทดลองตามคำบอกเล่า  หรือกลัวการรักษาบางอย่างแบบไม่มีเหตุผล จะนำซึ่งผลเสียในภายหลัง  ฉะนั้นการตัดสินใจและลงมือรักษาโดยเร็วเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุดครับ

การรักษามะเร็งด้วยความเย็น


เป็นที่ทราบกันดีว่าการรักษาโรคมะเร็งทำได้โดยการผ่าตัด ฉายรังสี ยาเคมีบำบัด เป็นมาตรฐาน นอกจากนั้นท่านอาจจะเคยได้ยินวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้ยามุ่งเป้า  การใช้ภูมิคุ้มกัน  เป็นต้น  หนึ่งในวิธีที่มีการกล่าวถึงกันคือ การใช้ความเย็น หรือ การจี้เย็น ที่เรียกว่า Cryosurgery หรือ ที่เรียกว่า Cryotherapy

หลักการสำคัญในการรักษา คือ การทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงด้วยความเย็นจัด ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 ถึง -50 องศาเซลเซียส หรือบางครั้งจะใช้เทคนิคที่ลดความร้อนอย่างรวดเร็วถึง-100 องศาเซลเซียส  ซึ่งความเย็นในระดับนี้จะทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จากขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงจากเลือดและหลอดเลือดที่แข็งตัว ทำให้เกิดเนื้อตาย   กระบวนการที่ทำให้เกิดความเย็นนั้น จะใช้ก๊าซ ผ่านเครื่องมือไปยังเนื้องอก  ได้แก่ ก๊าซ คาร์บอนได ออกไซด์, ก๊าซอากอน (Argon), ไนโตรเจนเหลว
เทคนิคการรักษานี้ มีรายงานเป็นมาตรฐานในบางโรค มีข้อดี แต่ก็มีข้อจำกัด

ข้อดี คือ เป็นวิธีรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพราะเป็นการผ่าตัดเล็ก เนื้อเยื่อข้างเคียง จึงบาดเจ็บน้อยกว่า, เสียเลือดน้อยกว่า    แต่ก็มีข้อจำกัด

ข้อจำกัด คือ ก้อนมะเร็งที่จะรักษาต้องเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก สามารถมองเห็นหรือตรวจพบได้ด้วย   อัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่น มะเร็งผิวหนัง   มะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่กระจายมาตับ  หรือแม้แต่การส่องกล้อง เพื่อรักษามะเร็งในท่อทางเดินหายใจเป็นต้น  

การใช้เทคนิคการผ่าตัดด้วยความเย็น สามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา เป็นต้น  แต่ก็มีผู้นำความเย็นมารักษาสลับกับความร้อน  ซึ่งก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง เป็นหลักการที่ทำให้เย็นจัด และละลายทันทีอย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งนั้น จะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของโรค เพราะธรรมชาติของโรคมะเร็งบางชนิดจะมีการกระจายตั้งแต่ต้น เช่น มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กเป็นต้น การรักษาเพียงก้อนอย่างเดียวก็จะไม่เพียงพอ  ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

การตรวจร่างกายด้วยตนเอง ตอนที่ 4: การตรวจบริเวณหู, จมูก โพรงหลังจมูกและโพรงไซนัส

  

1. หู


อาการหูอื้อ หรือการมีน้ำเหลืองและเลือดไหลออกมาจากรูหูเป็นอาการที่พบได้บ่อยในโรคมะเร็งของหูชั้นนอก หรือจากมะเร็งของโพรงหลังจมูก การตรวจนั้น อาจทำได้ง่ายๆ โดยการตรวจดูในรูหู ซึ่งจะพบก้อนเนื้อ หรือเห็นเป็นแผลเรื้อรัง และมีน้ำเหลืองหรือเลือดในรูหู   บางครั้งอาจจะเห็นการบวมบริเวณหน้าหู หรือ หลังหู 

แต่ถ้าอาการผิดปกติทางหูนั้น เกิดจากการที่ก้อนมะเร็งในโพรงหลังจมูกจะตรวจได้ยาก เพราะจะต้องตรวจส่องจากในลำคอโดยแพทย์ ซึ่งจะพบก้อนเนื้อกดเบียดรูเปิดของท่อที่ต่อระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก การปรับความดันในหูชั้นกลางจึงเสียไป ทำให้เกิดอาการหูอื้อ และเมื่อเป็นนานๆ จะทำให้เกิดภาวะหูน้ำหนวก มีผลให้การได้ยินเสียไป และหากเยื่อแก้วหูทะลุจะมีน้ำเหลืองไหลออกจากรูหูได้ ดังนั้น หากมีอาการหูอื้อนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูหู และในโพรงหลังจมูกด้วย
ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

2.         จมูก โพรงหลังจมูก และโพรงไซนัส

สำหรับอวัยวะทั้งสามนี้ ส่วนที่จะเกิดเป็นมะเร็งมากที่สุดนั้น คือ โพรงหลังจมูก แต่ก็อาจมีการลุกลามมายังตำแหน่งอื่นๆ ได้ด้วย ดังนั้นจึงอาจตรวจดูไปพร้อมๆ กันได้
อาการทางจมูกที่พบบ่อย คือ การคัดจมูก หายใจไม่คล่อง การมีเลือดกำเดา หรือมีน้ำเหลืองที่มีกลิ่นเหม็นไหลออกทางรูจมูก บางครั้งอาจมีเศษเนื้อเละๆ ออกมาด้วย อาการเหล่านี้ มักเกิดกับรูจมูกเพียงข้างเดียว อาจเป็นเหตุจากก้อนเนื้อในจมูก หรือในโพรงหลังจมูกที่โตลุกลามมาทางด้านหน้า ซึ่งการตรวจการอุดกั้นของรูจมูกนั้น มีวิธีการตรวจง่ายๆ คือ การหายใจรดแผ่นกระจกหรือแผ่นโลหะ ในภาวะปกติ จะเห็นละอองไอน้ำหรือรอยฝ้าเกาะที่แผ่นกระจกหรือแผ่นโลหะนั้น 2 รอยคู่กัน แต่หากมีการอุดกั้นรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ละอองไอน้ำจากรูจมูกหรือรอยฝ้าด้านนั้นจะไม่ปรากฎ
ส่วนมะเร็งโพรงไซนัสนั้น มักพบในไซนัสบริเวณโหนกแก้มมากกว่าบริเวณดั้งจมูกหรือหน้าผาก จะพบอาการคล้ายไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ พูดเสียงก้องหรือเสียงขึ้นจมูก มีอาการปวดตื้อที่บริเวณโหนกแก้ม อาจมีการอักเสบแดงเป็นครั้งคราว และอาจตรวจพบว่าโหนกแก้มด้านนั้น นูนกว่าอีกด้านหนึ่ง การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน คือ การส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัสโดยตรง


วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

ข่าวด่วน! เรื่องการตรวจหาไวรัส HPV ในปัสสาวะ




ในช่วงนี้ ท่านอาจจะได้ยินข่าวการตรวจปัสสาวะเพื่อหาไวรัส HPV  และจะทดแทนการตรวจภายในที่หญิงไทยมีปัญหาในเรื่องความอายที่จะตรวจ และมีความยุ่งยากในการตรวจ (ตามความรู้สึกของผู้รับการตรวจ แต่ทางการแพทย์ถือเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และได้ผลแม่นยำ) อย่างไรก็ตาม แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศอังกฤษ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในช่วงอายุที่กำหนดก็ทำได้ต่ำกว่า 80%

จาาปัญหาข้างต้น จึงได้มีการหาวิธีในการตรวจวิธีอื่น และได้มีการศึกษาเพื่อทดแทน และเมื่อมีรายงานการตรวจทางปัสสาวะเพื่อหาไวรัส HPV  ข่าวนี้จึงเป็นที่สนใจและประกาศในสื่อต่างประเทศ  ช่วงวันที่ 17 กันยายนนี้

เพื่อทำความเข้าใจให้ท่านผู้อ่านที่จะเลือกใช้วิธีนี้ได้เข้าใจ จึงนำรายงานที่ผู้วิจัยเผยแพร่ ให้ท่านทราบว่า จากการรวบรวมการทดสอบ 14 รายงาน จำนวนผู้ทดสอบ 1,433 คน ได้ผลเป็นที่น่าสนใจ โดยตรวจพบผลบวกของปัสสาวะถึง 84 % ในกลุ่มที่มีการติดเชื้อ HPV และตรวจได้ผลลบจริงถึง 94% ในกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ที่สำคัญคือการตรวจนี้จำเพาะต่อสายพันธ์ 16,18 ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก

แม้ว่าผู้วิจัยจะให้ความเห็นว่าการตรวจนี้น่าจะถูกพิจารณาเป็นการตรวจที่แม่นยำและเป็นทางเลือกที่จะเพิ่มอัตราการครอบคลุมประชากรให้ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่ด้วยเหตุที่ยังขาดการศึกษาครอบคลุมในทุกด้านถึงความแม่นยำ ยังขาดกระบวนการมาตรฐานในการตรวจ การเก็บปัสสาวะ ซึ่งต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะใช้ทดแทนการตรวจภายใน ดังนั้นความรู้สึกส่วนใหญ่ของนักวิชาการจึงสรุปว่า การตรวจปัสสาวะเป็นแนวทางเลือกเพื่อการครอบคลุมประชากรมากขึ้น ดีกว่าไม่ทำอะไร  แต่หากต้องการใช้ทดแทนต้องอาศัยการศึกษากับวิธีมาตรฐานก่อน

ท้ายที่สุดในการลดอันตรายจากมะเร็งปากมดลูก คือ
1.การฉีดวัคซีน ตามข้อบ่งชี้
2.การตรวจภายในตามมาตรฐาน
3. การป้องกันการติดเชื้อในบางกลุ่มที่ควรใช้ถุงยางอนามัย
                  


วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

ความเข้าใจเรื่องไวรัส HPV และวัคซีน


ภาพประกอบจาก : http://healthvigil.blogspot.com

เชื่อกันว่าไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) ส่วนใหญ่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์  แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็ยังคงมีความสำคัญที่เชื่อว่ามีส่วนในการทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน  เช่น  จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ยิ่งจำนวนครั้งมากก็อาจจะมีความเสี่ยงมาก  หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูบเอง หรือบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้สูบ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมี HPV Vaccine หรือ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งอาจนำไปสู่มะเร็งปากมดลูก คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV แล้ จะไม่ต้องไปตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก   ซึ่งในความเป็นจริง  การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถใช้แทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้นแม้ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว ยังคงต้องได้รับการตรวจภายในไม่ว่าจะเป็นเทคนิคใด อย่างสม่ำเสมอตามอายุและปัจจัยเสี่ยง

การฉีดวัคซีน HPV สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้เฉพาะสายพันธ์ที่กำหนดเท่านั้น  และไม่สามารถป้องกันการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งได้ทุกราย โดยเฉพาะรอยโรคจาก HPV สายพันธุ์อื่นที่อยู่นอกเหนือจากที่มีในวัคซีน  ด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ คือ HPV สายพันธ์ ที่มีรายงานว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง คือ ชนิด 16, 18 แต่มีรายงานการศึกษาในคนไทย พบสายพันธ์  16,52   จึงเกิดคำถามว่าวัคซีน HPV ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยได้หรือไม่      อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนับเป็นข่าวดีที่บริษัทวัคซีนได้มีการเริ่มขยายการผลิตวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนสายพันธ์มากขึ้น

การฉีดวัคซีน HPV นั้นเพื่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก ไม่ใช่การรักษา ดังนั้นถ้ามีรอยโรคของมะเร็งปากมดลูกอยู่ก่อนแล้ว (ซึ่งรอยโรคมีหลายระดับ) ก็จะมีโอกาสการพัฒนาไปสู่มะเร็งปากมดลูกได้  และจะต้องได้รับการรักษาตามแนวทางก่อน จึงจะพิจารณาฉีดวัคซีน ในที่กรณียังไม่พบการติดเชื้อมาก่อน แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ที่มีโอกาสมีความเสี่ยง ก็ควรจะป้องกันตามคำแนะนำ เพราะวัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ เช่น เริม ตกขาวจากเชื้อโรคชนิดอื่นๆ  ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อ HPV ที่กำหนดตามชนิดของวัคซีน


นอกจากนี้ผู้อ่านควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและภายในตามช่วงอายุ โดยไม่ต้องสนใจว่าได้ วัคซีนมาก่อนหรือไม่   หรือถ้าหากยังไม่เคยได้รับการการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ และควรพิจารณาสายพันธ์ของวัคซีน HPV นั้นๆด้วย มิใช่เปรียบเทียบเพียงแต่ราคาเท่านั้น