วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การใช้ความร้อนเสริมภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง (Hyperthermia and Immunotherapy for Cancer Treatment)

เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาส่วนใหญ่ของมะเร็ง มักจะเป็นแบบสหสาขาวิชาชีพ หรือการรักษาร่วมกันหลายวิธี เช่น การผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี การฉายรังสีร่วมกับยา หรือ ทั้ง 3 อย่างร่วมกัน ในปัจจุบันมีการใช้ Hyperthermia ร่วมในการรักษาด้วย ซึ่งมีรายงานเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาทั้งการตอบสนองและเพิ่มอัตราการอยู่รอด


การรักษาอีกวิธีที่มีการนำมาใช้มากขึ้น คือ ภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่ต่างๆกัน แต่ที่น่าสนใจ คือการนำเอาความร้อนมาช่วยเพิ่มประสิทธิผลของภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาในภูมิคุ้มกันวิทยาเรียกว่า Hyperthermic Immunology นับเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจ จากรายงานในการประชุม ครั้งที่ 28 ของ Japanese Society of Thermal Medicine  ซึ่งเป็นสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและรักษาโรคด้วยความร้อน ณ ประเทศญี่ปุ่น

ที่มา: Takeda T (2012),  Thermal Med 28(1) :11-16.

ในรายงานนี้ เป็นการรักษาผู้ป่วย 1,386 คน ที่เป็นโรคมะเร็งในระยะลุกลาม หรือ กลับเป็นใหม่ ระหว่าง ปี 2005-2011 โดยเป็นการให้ความร้อนจากเครื่อง Thermotron-RF8 ในผู้ป่วยที่ได้ Activated Lymphocyte หรือ Dendritic Cell พบว่าการใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia เพิ่มผลการรักษาจากภูมิคุ้มกันบำบัดจาก 8.1% เป็น 17.9 % โดยสูงถึง  20.5% ในกลุ่มที่มีการใช้ความร้อนร่วมกับ Activated Lymphocyte และ Dendritic Cell ในขณะที่การใช้ความร้อนอย่างเดียวจะได้ผลเพียง 4 %
มีรายงานผู้ป่วยที่เกิด Complete Response  หรือ รอยโรคหายหมด ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ แต่ไม่ได้ผลจากการใช้ยาเคมีบำบัด เมื่อได้รับการรักษาด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด ร่วมกับความร้อน  ปรากฏว่ารอยโรคหายหมด  จากการตรวจเปรียบเทียบผลการรักษาด้วยการตรวจ PET/CT

นอกจากนี้ยังรายงานการทดลองในหนูที่รับการฉีดเซลล์ มะเร็งปอด  แบ่งการรักษาเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ได้ Activated Lymphocyte , กลุ่มที่ได้ Hyperthermia และกลุ่มที่ได้  Hyperthermia ร่วมกับ Activated Lymphocyte ผลปรากฏว่า ขนาดก้อนมะเร็งและการกระจายของเซลล์ จะมีจำนวนน้อยเรียงตามลำดับโดยมากที่สุดในกลุ่มควบคุมและน้อยที่สุดในกลุ่มที่ใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia ร่วมกับ Activated Lymphocyte           
       
ผู้รายงานได้กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญของการใช้ความร้อนร่วมรักษา เนื่องจาก ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับในการใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia  รักษาร่วมกับการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด  แต่ในรายงานนี้ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และได้รับการรักษาเสริมของความร้อน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการรักษาและศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่จำเพาะมากขึ้น ในโอกาสต่อไป

แหล่งข้อมูล: Thermal Med 28(1) :11-16.
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเชิงลึกได้จากบทความต้นฉบับตาม Link ด้านล่างนี้ครับ
https://www.jstage.jst.go.jp/article/thermalmed/28/1/28_11/_pdf

หมายเหตุ: ผมขอย้ำนะครับว่า การนำความรู้ใหม่ๆมาให้ท่านได้อ่านนั้น ไม่ได้เป็นคำแนะนำให้ท่านรักษาด้วยวิธีนี้ เพราะ โรคแต่ละโรค แต่ละระยะมีการรักษาที่แตกต่างกันครับ  แต่ในบางครั้งที่การรักษามาตรฐานไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ว่ามีส่วนช่วยในกรณีโรคที่ท่านหรือญาติเป็นหรือไม่ก็ได้ครับ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น