วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แนวคิดใหม่ในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม


เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงไทย ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการตรวจค้นที่รวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเซลล์ที่เรียกว่า Pap Smear หรือ การตรวจด้วย  HPV DNA ทำให้สามารถพบผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกได้มากขึ้น โอกาสการหายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากสถิติในทุกสถาบัน เรายังพบผู้ป่วยในระยะลุกลาม คือในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เป็นส่วนใหญ่


ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health/cervical-cancer



การรักษามาตรฐานในมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม คือ การใช้รังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งได้รับการประกาศเป็นที่ยอมรับทั่วโลกในปี 2000 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของอเมริกาและประเทศต่างๆ ได้ให้การสนับสนุนการใช้ยา Cisplatin ร่วมกับรังสีแทนการการรักษาโดยรังสีอย่างเดียว ที่น่าสนใจคือผลการรักษายังอยู่ในระดับ 60-80 % ตามระยะโรคที่เป็น  ยังคงพบการเหลือของรอยโรค, การกลับมาเป็นใหม่ หรือ การไม่ตอบสนองต่อการรักษาปรากฏให้เห็นอยู่มาก

แนวทางอื่นๆที่เริ่มมีการศึกษาและพัฒนาการรักษาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชนิดของยา, การเพิ่มชนิดยาเคมี เช่น Gemcitabine หรือ ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ก็ยังอยู่ในวงจำกัด ด้วยสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยาและราคาที่แพง  

ที่น่าสนใจมากขึ้นและเป็นสิ่งที่เป็นความหวังหนึ่งในปัจจุบัน คือ การใช้ความร้อน หรือที่เรียกว่า Hyperthermia (ไฮเปอร์เทอร์เมีย) เริ่มตั้งแต่ปี 1966 ในขณะที่รังสีรักษาเพียงอย่างเดียวยังเป็นมาตรฐานในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างหรือ Randomized Trial ของกลุ่ม Dutch Deep Hyperthermia Trial  ที่ศึกษาในมะเร็งปากมดลูก พบว่ามีการเพิ่มอัตราการควบคุมโรคและอัตราการอยู่รอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ในผู้ป่วยที่ได้รับ Hyperthermia ร่วมกับการฉายรังสีเมื่อเทียบกับการฉายรังสีแบบมาตรฐานอย่างเดียว และจากการศึกษา ไม่มีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นจากการให้ความร้อน นอกจากนี้ยังมีรายงานอื่นๆอีกหลายสถาบันที่ได้ผลการรักษาเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นในปี 2000 ในประเทศเนเธอร์แลนด์  จึงมีมาตรฐานการรักษามะเร็งปากมดลูกเป็น 2 กลุ่ม คือ การใช้รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือ การใช้รังสีรักษาร่วมกับ Hyperthermia

โดยทั่วไป การให้  Hyperthermia จะให้ประมาณ  40 องศาขึ้นไป แต่จะควบคุมไม่เกิน 43.5 องศา ประมาณ  40-60 นาที โดยให้ห่างกัน 72 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Thermotolerance หรือ ภาวะดื้อต่อความร้อน ระหว่างการให้ความร้อนนั้น จะมีการวัดอุณหภูมิที่ กระเพาะปัสสาวะ, ทวารหนักหรือช่องคลอดตามแนวปฏิบัติของ ESHO (European Society for Hyperthermic Oncology) เนื่องจากพบว่าอุณหภูมิที่อวัยวะดังกล่าวจะมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิภายในเนื้องอก โดยจะให้ Hyperthermia จำนวนทั้งหมด 5 ครั้ง ในช่วงที่มีการรักษาด้วยรังสี โดยมีการกำหนดในการให้ Hyperthermia 1-4 ชั่วโมงหลังการฉายรังสี