วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แสงสว่างปลายอุโมงค์ ของ มะเร็งตับ

เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศชาย และเป็นมะเร็งร้ายที่น่ากลัว ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น หลังการวินิจฉัย

มะเร็งตับ  ในที่นี้ หมายถึง มะเร็ง ที่เกิดขึ้นในตับเอง  ไม่รวมกลุ่มที่เกิดจากการกระจายจากมะเร็งส่วนอื่นๆ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือมะเร็งเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยธรรมชาติของมะเร็งตับที่มีโอกาสเกิดหลายก้อนในเวลาเดียวกัน หรือเกิดก้อนใหม่ในตำแหน่งอื่นของตับในเวลาต่อมา   และด้วยอาการที่ไม่ชัดเจนของมะเร็งตับในระยะเริ่มแรก เพราะเวลาที่ก้อนเล็กๆ ตับยังสามารถทำงานได้เกือบปกติ จะปรากฏอาการที่ชัดเจนขึ้น   ก็เมื่อก้อนมะเร็งได้ขยายขนาดที่ใหญ่มากแล้ว  หรือใน กลุ่มที่มีอาการอุดตันของทางเดินน้ำดี  จึงเป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับมักมีอัตราการอยู่รอดเพียงไม่กี่เดือน เพราะเมื่อพบก็สายเกินไปแล้ว



แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ 1
ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเราพบว่ามะเร็งตับมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นมะเร็งตับ

จึงอาจจะเป็นความหวังของคนในอนาคตที่จะปลอดภัยจากโรคมะเร็งนี้ หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีมาร่วม 20 ปี แล้ว จึงมีความหวังว่าในอนาคตโรคนี้จะลดลง

นอกจากนั้น เชื่อว่า  การดื่มแอลกอฮอล์ หรือตับแข็ง  หรือ  สารอะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin)   ซึ่งพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ก็เป็นสารก่อมะเร็ง จะเป็นตัวเสริม เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับ  หากเราสามารถหลีกเลี่ยงทั้งในฐานะผู้บริโภค หรือ ผู้จำหน่าย เราคงจะลดโอกาสการเกิดมะเร็งของลูกหลานเราในอนาคตครับ

แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ 2        
เป็นการโชคดีที่โรคมะเร็งตับ สามารถที่จะตรวจคัดกรองได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี อายุเกิน 40 ปีขึ้นไปและมีอาการตับแข็งร่วมด้วย ควรจะต้องตรวจร่างกาย อย่างน้อยทุก 6 เดือน  พร้อมกับการ ตรวจเลือดหาระดับ อัลฟา ฟิโตโปรตีน (Alfafeto-Protein) ซึ่งเป็น Tumor Marker ที่มักพบในผู้ป่วยมะเร็งตับ แต่ก็มีประมาณ 30% ของผู้ป่วยมะเร็งตับพบว่ามีค่าอัลฟาฟิโตโปรตีนปกติ  ซึ่งต้องอาศัยการตรวจทางเอกซเรย์ร่วมด้วย

การทำอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจหาก้อนมะเร็งในตับที่ง่ายสะดวก สามารถพบก้อนมะเร็งระยะเริ่มแรกที่มีขนาดเล็ก ๆได้

ปัจจุบัน การตรวจโดยใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า CT Scan จะเป็นเครื่องมือที่สามารถเห็นมะเร็งที่มีขนาด 1 ซ.ม.ได้  โดยเฉพาะการใช้เทคนิคจำเพาะ ในการดูการไหลเวียนเข้าออกของเลือดในก้อนเนื้องอก จะช่วยวินิจฉัยแยกโรคได้ชัดเจน

เมื่อใช้ ผลเลือด ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก็จะมีความแม่นยำมากขึ้น
และวันนี้ หากท่านเป็นไวรัสตับอักเสบบี ท่านก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ หากพบในระยะเริ่มแรก ก็ยังมีโอกาสหายครับ

แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ 3 
เมื่อถึงขั้นตอนการรักษา ปัจจุบันการรักษามีความก้าวหน้ามากมาย ทั้งด้านการผ่าตัด  การฉายรังสี  การใช้คลื่นความร้อน RF  การอุดเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงมะเร็งร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือ การใช้ยามุ่งเป้า ที่เพิ่มความหวังให้กับผู้ป่วย แต่ข่าวที่เราได้รับมักจะเป็นการสูญเสียมากกว่า   เมื่อใดที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งตับ มักจะรู้สึกหมดหวังทันที  วันนี้ เราจึงจะนำตัวอย่างของ ความหวังในความหมดหวัง  เหมือนเวลาเดินหลงทางในอุโมงค์ที่มืดสนิทและเห็นแสงสว่างร่ำไรอยู่ไกลๆ

ดอน จมูกบาน" เผยชีวิตเฉียดตาย สู้มะเร็งระยะสุดท้าย 5 ปี ผ่าตัดตับออกจากร่างกายร่วมกิโล เรียกได้ว่ามีชีวิตรอดตายราวกับปาฏิหาริย์ สำหรับนักแสดงตลกรุ่นใหญ่  หลังตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย มานานกว่า 5 ปี  และได้เข้ารับการผ่าตัดจนหายและกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติดีราวกับคนไม่เคยป่วยมาก่อน (ข่าวจากมติชน และ ผู้จัดการ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558  )   
         
คุณดอน จมูกบาน ผู้ซึ่งเคยสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกับพวกเรามายาวนาน วันนี้ ข่าวคุณดอน คงสร้างรอยยิ้ม ความหวัง และ กำลังใจให้ผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วยด้วยมะเร็งตับได้บ้างนะครับ
อาจจะกล่าวได้ว่านี่ คือ ความหวังในความหมดหวัง  เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่จะนำทางให้เราเดินต่อไปครับ สู้ๆครับ
                   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น