วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Nano Knife: มีดนาโน อีกความหวังหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งตับ

ภาพประกอบจาก: http://www.totalhealth.co.uk

แม้มะเร็งตับยังคงเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิต และยังไม่สามารถจะรักษาได้ดีเพียงพอ แต่การพัฒนายังคงมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากรายงานการศึกษาที่ลงใน Int J Hyperthermia 2017 May 29:1-8 โดย Tan Y และคณะ จาก Third Military Medical University ประเทศจีน
           
เป็นความหวังในผู้ป่วยมะเร็งตับที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ซม. เมื่อรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ Radiofrequency ในจำนวน 956 รอยโรค ในการติดตามเฉลี่ย 34 เดือน (23-52เดือนพบการลุกลามที่ระยะ 1,3,5 ปี เท่ากับ 0.39%, 4.96% และ 6.66% โดยมีอัตราการอยู่รอด 99.42%, 83.97% และ 68.42% ตามลำดับ            
            
ความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดเจน เป็นระยะในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา คือการรักษาด้วย เทคนิคมีดนาโน โดยเป็นอีกก้าวสำคัญ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ซึ่งในอดีตจะใช้การจี้ก้อนเนื้องอกเฉพาะจุด (Tumor Ablation) หรือการให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (Transarterial Chemoembolization: TACE)                      
               
การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยเข็มที่ให้ความร้อนจะใช้ความร้อนที่เกิดจากคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation: RFA) เป็นหลัก แต่ยังมีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถรักษาเนื้องอกได้ในทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดกับหลอดเลือดและท่อน้ำดี
                 
นวัตกรรมใหม่ เรียกว่า มีดนาโน (Nanoknife) เป็นการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโนหรือไฟฟ้าความต่างศักย์สูง เกิดภาวะ Irreversible Electroporation (IRE)โดยมีหลักการสำคัญ คือ การให้คลื่นไฟฟ้าพลังงานสูง ในระยะเวลาสั้นๆเป็นช่วงๆ จะมีผลให้ผนังเซลล์เปิดออกเป็นการชั่วคราวเเละปิดกลับเป็นปกติได้ แต่ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะกับเซลล์ปกติ แต่ผนังเซลล์มะเร็ง สูญเสียคุณสมบัติที่ดีนี้ ทำให้เมื่อได้รับคลื่นไฟฟ้าจะเกิดการตายของเซลล์อย่างถาวร เมื่อนำหลักการนี้มาใช้ทางการเเพทย์ โดยการใช้เข็มเเทงผ่านผิวหนังที่เรียกว่า Nanoknife เข้าไปในก้อนเนื้อร้ายเเล้วให้คลื่นวิทยุพลังงานสูง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งตาย เเต่เซลล์ปกติยังอยู่รอดได้ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์นำมาประยุกต์ในการรักษาโรคมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก
         
อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ แม้จะมีข้อดีที่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง แต่ก็มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยมีดนาโนเช่นกัน คือจะไม่สามารถให้การรักษาในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ก้อนเนื้องอกที่อยู่ใกล้หัวใจ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่เข้าไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมถึงก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่เกิน 5 ซม
         
มีดนาโน หรือ Nanoknife ได้รับการรับรองจากสถาบัน FDA จากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2011   ต่อมาได้มีการใช้ในโรงพยาบาลทั้งในยุโรปและเอเซีย มากกว่า 100 แห่ง
           
แม้จะมีคำว่ามีด หรือ Knife แต่ในความจริงไม่มีการใช้มีดเลย เหมือนกับในอดีตที่เราเคยได้ยินเรื่อง Gammaknife ซึ่งมีคนใช้คำว่า รังสีศัลยกรรม การผ่าตัดด้วยรังสี อันนี้ก็จะเป็นการผ่าตัดด้วยกระแสไฟฟ้า
        
โรงพยาบาลศิริราช ใช้มีดนาโนแห่งแรกในประเทศไทย
               
จากการแถลงข่าว โดย .ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่า รพ.ศิริราช มีการนำนวัตกรรมมีดนาโนมาใช้รักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะมะเร็งตับและตับอ่อน ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผศ.นพ.ตรงธรรม ทองดีรายงานว่าได้ทำการรักษาผู้ป่วยมาแล้ว 20 ราย ทั้งนี้ นพ.สมราช  ธรรมธรวัฒน์ ได้ให้รายละเอียดว่า เป็นการใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอก ขนาดเล็กกว่า 5 ซม. และอยู่ชิดหลอดเลือดหรือท่อน้ำดีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ และเป็นมะเร็งในระยะไม่ลุกลาม โดยการจี้ก้อนเนื้องอกใช้เข็มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม. อย่างน้อย 2 เล่ม สูงสุดไม่เกิน 6 เล่ม ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ ไหลผ่านเซลล์เนื้องอก ส่งผลให้เกิดรูขนาดเล็กจำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ซึ่งจะทำให้เซลล์ตายโดยธรรมชาติ มีความแม่นยำสูง มีอาการแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อยโดยผู้ป่วย จะมีแผลขนาดเล็ก พักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืนก็สามารถกลับบ้านได้เลย   
                  
.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทางศิริราชได้จัดตั้งโครงการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสด้วยเทคโนโลยีทัดเทียมกันแม้ค่าใช้จ่ายสูง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคได้ที่มูลนิธิศิริราชโทร.02-4197658-60 ได้เลยครับ