วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง (ตอน 10): คำถามทั่วไปที่ญาติควรสนใจ



 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
การตั้งคำถามหรือการหาข้อมูลที่เหมาะสม  จะนำไปสู่การเข้าใจในการวินิจฉัยและการรักษา โดยปกติเมื่อแพทย์อธิบายจบ มักจะเปิดโอกาสให้ถาม ผู้ป่วยมักจะเงียบ  ซึ่งอาจจะไม่รู้ว่าควรถามอะไร หรือบางครั้งไม่กล้าถาม  เอาเป็นว่าหากเราจำเป็นต้องอยู่ในทีมสู้มะเร็ง ขอให้ถามสิ่งที่เป็นข้อข้องใจเพื่อความกระจ่าง หรือ ถ้าคิดไม่ออก ก็ลองพิจารณา 10 คำถาม เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนของท่าน

1. การตรวจอะไรจะช่วยในการวินิจฉัย และการวางแผนการรักษา
ในเรื่องนี้อาจจะมีความเห็นที่ต่างกันในแพทย์แต่ละท่าน แต่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ถาม เพราะอาจจะทำให้แพทย์ตัดสินใจเพิ่มการส่งตรวจบางอย่าง เช่น PET/CT ที่จะช่วยกำหนดตำแหน่ง หรือค้นหาโรคเพิ่มเติม ทั้งๆที่การตรวจมาตรฐานในการรักษาทั่วไป อาจจะไม่ได้กำหนดไว้ แต่ อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับเราก็ได้  การตรวจทางชีวโมเลกุล ที่อาจจะบ่งบอกถึงการตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งจะช่วยลดการเสียค่าใช้จ่าย หรือ ลดภาวะแทรกซ้อนลงได้ อย่างไรก็ตามการปรึกษากันจะเป็นการช่วยตัดสินใจในการส่งตรวจของแพทย์ เพราะบางครั้งถ้ามีค่าใช้จ่ายสูง ประโยชน์ไม่มาก ก็อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ แต่บางครั้งญาติได้ยินมามีการตรวจชนิดนั้นชนิดนี้ แล้วไม่ได้ตรวจก็อาจจะติดใจ ทั้งๆที่การตรวจนั้นไม่มีประโยชน์เลยก็เป็นได้

2.  การตรวจแต่ละอย่างจะมีส่วนช่วยอะไรในการบอกชนิด ขนาด ระยะ และการลุกลามของโรค
ในเรื่องนี้ต้องมีความเข้าใจกัน  เพราะบางครั้งคำถามที่ผู้ป่วยถามหรือกังวล ทำให้แพทย์จำเป็นต้องส่งตรวจ ทั้งๆที่การตรวจเพื่อหาการกระจายนั้นมีโอกาสพบได้น้อยมาก  หรือบางครั้งแพทย์ส่งตรวจหลายอย่าง ผู้ป่วยอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตรวจมากมายนัก เช่น เป็นมะเร็งเต้านม แต่ต้องตรวจสแกนกระดูกทั่วตัว เป็นต้น ฉะนั้นหากสงสัยตามหัวข้อข้างต้น ให้ถามนะครับ

3.  การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน  หมอจะแนะนำการรักษาใด เพราะอะไร  
ซึ่งทั่วไปแพทย์ควรอธิบายวิธีการรักษาทุกอย่างที่อาจจะใช้ได้ แม้แพทย์ท่านนั้นจะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งแน่นอนที่สุด เมื่อเลือกแล้ว ท่านก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อจากแพทย์ผู้รักษา  แต่การอธิบายเพื่อลดปัญหาในภายหลัง  ที่พบบ่อยในช่วงหนึ่งคือการรักษาด้วยการตัดเต้านมทั้งหมด หรือ การรักษาด้วยการเก็บรักษาเต้านม แต่ต้องฉายรังสีร่วมด้วย ซึ่งการตัดสินใจนั้นแพทย์ต้องเป็นทีมกับผู้ป่วย เช่นผู้ป่วยบางรายในสมัยนั้นกลัวการฉายรังสี หรือ บ้านอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถอยู่ฉายรังสีถึง 5 สัปดาห์ในกรุงเทพได้ กลุ่มนี้ก็ควรจะรักษาด้วยการตัดเต้านมเลย เพราะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว หรือในทางกลับกัน  หากเขาอยากรักษาเต้านม ก็สามารถแนะนำหรือประสานงานกับศูนย์มะเร็งที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยเพื่อร่วมกันรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเก็บรักษาเต้านมแล้วตามด้วยการฉายรังสี

4. หากการรักษาดูเหมือนไม่ได้ผล แนวทางในการรักษาต่อไปจะเป็นอย่างไร  
เป็นคำถามที่อาจจะถามเมื่อมีปัญหา หรือ อาจจะถามตั้งแต่ต้นก็ได้ เพราะการรักษาทุกชนิด ย่อมมีกลุ่มที่ไม่ได้ผล  ในบางโรคจะมีการรักษา 2 อย่างที่ได้ผลเหมือนกัน เมื่อล้มเหลวจากการรักษาที่ 1 ก็ใช้วิธีที่ 2  เช่น เช่นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 ก็อาจจะผ่าตัดก่อน ถ้ามีปัญหาก็ฉายรังสีตามหรือถ้าฉายรังสีก่อนแล้วมีปัญหาก็แก้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ท่านต้องตัดสินใจที่จะปรึกษาแพทย์ว่าจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญมาก เพราะจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกแพทย์ หรือทีมรักษาที่มีความยืดหยุ่น ไม่ยึดติดในแนวคิด  โดยเป็นทีมเดียวกับผู้ป่วยและญาติ  โดยเฉพาะแนวทางการรักษาใหม่ๆ เมื่อการรักษาเดิมไม่ได้ผลตามที่คาด

5. ภาวะแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง
ภาวะแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง และที่ผ่านมาเกิดมากน้อยเพียงใด   ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการที่รับมือในสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น  เช่น ภาวะพิการที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดก้อนเนื้องอกในสมอง  การเจ็บปาก จากการได้รับรังสี ผมร่วง ซึ่งในบางรายที่จะเกิดขึ้น ก็จะได้เตรียมวิกผมไว้ก่อนเป็นต้น  นอกจากนี้ในบางโรคหรือ การรักษาที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ  จะต้องหยุดงานเพื่อการรักษาตัวหรือหลีกเลี่ยงในที่ชุมชน ซึ่งในบางอาชีพที่มีความจำเป็นเช่น ขายของในตลาด  อาจจะต้องหาคนทำงานแทน เป็นต้น

6. หากมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว หมอจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร มีวิธีการป้องกัน หรือลดความรุนแรงลงได้อย่างไร การรักษาแบบผสมผสานของ หน่วย โภชนากร  ธรรมชาติบำบัดที่ไม่ใช้ยา ( naturopathic medicine ) กิจกรรมที่เสริมสร้างศักยภาพทางจิตใจให้เกิดผลทางบวก ต่อการทำงานของร่างกาย  หรืออาการโรคต่างๆ ( mind-body medicine ) การฝังเข็ม กายภาพบำบัด  จะมีส่วนช่วยหรือไม่ ในปัจจุบัน สถาบันการรักษามะเร็งที่ทันสมัยจะมีหน่วยที่เรียกว่า Integrative Oncology เพื่อการดูแลภาวะแทรกซ้อนทุกชนิดที่เกิดจากมะเร็ง หรือการรักษา เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ผู้ป่วยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้บางแห่งจะไม่เป็นหน่วยงาน แต่ก็จะมีการปรึกษา เพื่อร่วมกันดูแล

7. หมอมีผู้ป่วยในลักษณะเดียวกันมากน้อยแค่ไหน
ผลเป็นอย่างไร  เครื่องมือที่มีอยู่ในโรงพยาบาลนี้สนับสนุนการักษาดังกล่าวหรือไม่ โปรดถามได้เลย และอย่ามัวกรงใจว่าจะกระทบความรู้สึกของแพทย์ แพทย์โดยทั่วไปมีจริยธรรมทางการแพทย์ เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยดีว่าอยากรักษาด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ต้องการแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษานั้นๆ  คุยกันก่อนที่จะเสียความรู้สึกภายหลั

8. ใครบ้างที่จะมีส่วนร่วมในทีมรักษา    
นอกจากแพทย์ในการรักษาหลักแล้ว ผู้ที่รักษาร่วม อาจจะเป็น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ ในที่นี้ยังหมายรวมถึงกลุ่มสนับสนุนอื่นๆด้วย ประเด็นคือ ต้องพบทีมมากน้อยและบ่อยแค่ไหน เพราะในบางครั้ง หลังการรักษาครบแล้ว ความจำเป็นหรือความถี่ในการพบแพทย์หรือ ทีมก็จะแตกต่างกัน เช่น การรักษาโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่มีการฉายรังสีร่วมด้วย ในกรณีเช่นนี้ แพทย์หลักก็จะเป็นแพทย์ทางโลหิตวิทยา ทางรังสีจะติดตามดูเพียงภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากรังสีเท่านั้น

9. สถานที่ให้การรักษา   
เป็นเรื่องที่เราควรจะพิจารณาความพร้อม  เพื่อสามารถให้การรักษาทุกอย่างที่จุดเดียว เหมือนที่เรารู้จักกันดีที่ว่า one stop service และถ้าความเข้าใจตรงกันดีแล้ว ประเด็นต่อมาคือคิวการรักษา ความรวดเร็ว และ ท้ายที่สุด คือ ความสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ยาเคมีบำบัดที่บางครั้งต้องให้เป็นช่วงๆ ระยะเวลารวมถึง 6 เดือน ผู้ป่วยที่อยู่ไกล ต้องคำนึงถึงการเดินทาง และที่พักด้วย  ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะแบ่งการรักษาร่วมกันอย่างเหมาะสม เช่น ผ่าตัดในที่สะดวก หากกำหนดการรักษาได้เร็วกว่า แล้วค่อยด้วยฉายรังสี หรือรับเคมีบำบัดอีกแห่งหนึ่งก็ได้

10. การวางแผนให้เกิดความสมดุลย์ ของการรักษา และความต้องการในชีวิตประจำวัน  
ซึ่งควรจะเป็นการวางแผนร่วมกันในแต่ละช่วงของโรคและวิธีการรักษา ซึ่งเรื่องนี้ควรมีการปรึกษาอย่างเปิดเผยกับแพทย์ผู้รักษาว่า ถ้ารักษาแล้วจะกระทบต่อการงานอย่างไรบ้าง เช่น คนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง จะต้องวางแผนอย่างไร ให้มีการสลับงานระหว่างการรักษา เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนลง   ผู้ป่วยบางรายมีปัญหาเรื่องของเวลาการทำงาน ซึ่งที่ทำงานเข้มงวดเรื่องวันหยุดวันลา  เป็นต้น

ผู้ป่วยเองอาจจะยังมีปัญหาสงสัยนอกเหนือจาก 10 คำถามดังกล่าว แนะนำให้จดเอาไว้เพื่อถามให้หายข้องใจ แพทย์ส่วนมากยินดีตอบอยู่แล้วยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยที่เหนือการคาดเด

หวังว่าท่านผู้อ่านพอจะทราบเหตุผลในความสำคัญของคำถามทั่วไปบ้างแล้วนะครับ ส่วนคำถามที่เป็นความจำเพาะก็จะเป็นคำถามเฉพาะโรค หรือ เฉพาะวิธีการรักษาครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ข้อที่7เป็นข้อที่อ่านแล้วเกิดความสบายใจในการจะถามเพราะเคยพบหมอที่ดูเด็กมากจนลังเลไม่กลับไปหาอีกค่ะเช่ือค่ะว่าหมอทุกท่านผ่านการอบรมมีจริยธรรม

    ตอบลบ
  2. อยากถามข้อ7อยู่เหมือนกันครับยังไงก็ไม่กล้าครับ

    ตอบลบ