สาระสำคัญตอนหนึ่ง ที่น่าสนใจของหนังสือฉบับนี้ ที่กล่าวถึง พฤกติกรรม ของคนเรา
ที่มักจะเร่งรีบ พูดให้ผู้อื่นฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด
จนบางครั้งเนื้อหาก็จะบีบ เร่งรัด ให้ผู้ฟังเข้าใจให้เร็วที่สุด
พร้อมกันนั้นน้ำเสียงก็จะเริ่มเปลี่ยนจากอ่อนโยน ละมุนละม่อมจนดังและแข็งขึ้น ในคำสอนนี้ให้เราหัดฟังคำพูดของตัวเอง
รวมทั้งน้ำเสียงขณะที่พูด หรือลองบันทึกเสียงตัวเองแล้วฟัง ก็จะได้ข้อคิดมากขึ้น
ผมทบทวนดูแล้วเห็นด้วยทีเดียว โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล และบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง เพราะเนื้อหาที่ต้องอธิบายค่อนข้างยาก
ด้วยเวลาที่จำกัด ประกอบกับ การพยายามปฏิเสธในข้อความที่เกี่ยวข้องกับตัวโรคมะเร็งของผู้ป่วย
บางครั้งแม้พยายามอธิบายว่าหายแล้ว ผู้ป่วยก็ยังไม่เชื่อ พยายามถามซ้ำว่า
หายจริงหรือ ต้องตรวจอะไรอีกไหม
แน่นอนที่สุด ส่วนหนึ่งของแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์
มีโอกาสหลุดอารมณ์ หรือคำพูดบางอย่างได้
ผมก็เลยคิดถึง คำสอนที่ติดอยู่ทั่วไปในวัดแห่งหนึ่ง
ในประเทศไต้หวัน คือ Three Acts
of Goodness : do good deeds , speak good words, think good thoughts ซึ่งก็คงมีความหมายกับคำสอนที่เราได้ยินอยู่เนืองๆและคุ้นเคย
คือ คิดดี ทำดี และพูดดี
ดีทั้งสามนี้ มีความสำคัญเสมอกัน
ผิดหรือขาดไปอันใดอันหนึ่ง
ก็จะทำให้เสียความสมดุลย์ของ ความดี เช่น
บางคนพูดดี
คิดดี แต่ไม่ได้ทำดี ได้แต่คิดและ ดีแต่พูดเท่านั้น
บางคนพูดดี
และทำดี แต่ไม่ได้ คิดดี อันนี้แย่มากเลย และ น่ากลัว
บางคนคิดดี ทำดี แต่พูดไม่ดี ก็น่าเสียดาย กายใจ ดี ลืมวาจาดี เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา นึกแต่ว่าไม่เป็นไร
เราคิดดี และทำดีแล้ว เพียงแต่พูดหวานไม่เป็น ไม่รู้จักปรับคำพูด ใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง
บางครั้งไม่ได้ตั้งใจ สื่อในความหมายที่ผู้ฟังคิดและเข้าใจ ก่อให้เกิดปัญหามากพอสมควร ดังตัวอย่าง
ที่เคยนำมาเล่าให้ฟังแล้วใน blog นี้
แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ล้วนมีความคิดดีเป็นพื้นฐานของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ซึ่งเผชิญกับความทุกข์ยากทั้งร่างกายและจิตใจ
แต่ด้วยภาระงานที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง
ตั้งแต่เช้ายันค่ำ
พบผู้ป่วยทั้งวัน บ่อยครั้งที่เลยเวลาอาหาร ตอนเที่ยงอาศัยของรองท้องไว้ก่อน
แล้วไปอิ่มมื้อเย็น
หลายครั้งที่ต้องแบกรับอารมณ์ ความเศร้า ความโกรธ
ความผิดหวัง ของผู้ป่วยหรือญาติ คนแล้วคนเล่า
จึงทำให้บางครั้งบางคนอารมณ์หลุดนอกโคจร ภาษาก็ยืมมนุษย์ต่างดาวมา จริงอยู่ว่าคนเราต้องรู้จักปล่อยวาง แต่ในชีวิตจริง ปล่อยแล้วมีของใหม่มาให้แบกใหม่ บ่อยๆเข้า ไหล่ลู่ ก็เลยมีหลุดบ้างเป็นธรรมดา
สำหรับผู้ป่วย และญาติ คงไม่มีใครอยากฝืนคำแนะนำแพทย์
หรือไม่ปฏิบัติตาม เพราะเขามาให้ทางโรงพยาบาลช่วยเหลืออยู่แล้ว
เพียงแต่ความกลัว ความกังวล ความต่างในความคิด ต่างในความเข้าใจ ทำให้เขาอาจจะรู้สึกเหมือน
ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจ
ที่เพียงพอ เขาลืมไปว่าบุคลากรเหล่านั้น ก็อาจมีปัญหาส่วนตัว
พ่อแม่พี่น้องของเขาอาจป่วยเป็นมะเร็งเช่นกัน
แต่เชื่อเถอะครับว่าทุกคนที่ทำงานเพื่อผู้ป่วย เขาพยายามจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของแต่ละคนจะทำได้ โดยธรรมชาติ ไม่มีใครอยากมีปัญหาแน่นอน
ให้กำลังใจ ด้วยคำพูดที่มีความเห็นอกเห็นใจ
เต็มเปี่ยมไปด้วความรัก เขาว่าเปรียบเสมือน แสงอาทิตย์ในหน้าหนาว ให้ความอบอุ่น แก่ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมาน คุณจะได้ยินเสียงกระซิบ
ขอบคุณ ดั่งกลิ่นหอม ของมวลหมู่ดอกไม้
ที่เติมความสดชื่นให้มีพลังในการฟันฝ่าอุปสรรคด้วยกัน
ผมเองตั้งใจที่จะยึดถือปฏิบัติคำสอน
ที่มีคุณค่า แต่ในความเป็นจริง
ก็มีความผิดพลาด โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ตั้งใจ
และเกิดความรู้สึกเสียใจอยู่บ่อยๆ ด้วยยังฝึกฝนได้ไม่ดีพอ
ให้หัดฟังคำพูดของตัวเอง จากหนังสือของคุณหมอนพดลจึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอบคุณมากครับ
ชอบมากค่ะเตือนใจดีดิฉันเผลออารมณ์หลุดไปนอกโลก( ธรรม) บ่อยๆแต่ยังไม่ถึงกับยืมคำพูดมนุษย์ต่างดาวมาใช้
ตอบลบอ่านแล้วหายเครียดจากเรื่องเครียดทางวิชาการค่ะ