วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผวาทั้งโลก! แป้งยี่ห้อดังจ่ายค่าชดเชย 2 พันกว่าล้าน!! โรยจิ๊มิ เสี่ยงมะเร็งรังไข่? ทาหนังหน้า เสี่ยงมะเร็งปอด? (Manager Online)


ที่มาภาพประกอบ:
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000020467

ไม่น่าเชื่อจริงๆครับว่า จะมีข่าวนี้เกิดขึ้นในวันนี้ ที่หลายท่านอาจะได้อ่านผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆไปบ้างแล้ว เรื่องนี้ผมเคยนำเสนอเมื่อวันที่ 28 ธค. 2557 เรื่องแป้งกับโรคมะเร็ง ตอนนั้น ก็มีผู้ถามเข้ามามากมายว่าน่ากลัวขนาดนั้นหรือ ผมก็ตอบตามทฤษฎี  
                    
แต่ในรายนี้ที่มีการชนะคดี ก็คงเป็นรายละเอียดของการฟ้องร้องและการพิสูจน์ ตามรายละเอียดของข่าว ผมไม่สามารถให้ความเห็นได้ 
                 
ผมเพียงแต่จะนำบทความเดิมมาให้ท่านผู้อ่านให้ได้รับทราบกันอีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้แป้ง โดยเฉพาะทารก หรือเด็กตัวน้อยๆ ครับ

แป้งและมะเร็ง - หอม เนียน สวย แต่มีปัญหา


หอม เนียน สวย  สบาย ไม่อับชื้น เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ ทุกเพศ ทุกวัย ต้องการ โดยเฉพาะในเมืองร้อนแบบประเทศไทย

คงไม่ต้องสงสัย  แป้ง คือสิ่งที่เรานำมาใช้ตั้งแต่ทารกแบเบาะ  เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
แป้งมีส่วนผสมของ Talc ซึ่งจัดเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีชื่อทางเคมี คือ Magnesium Silicate Hydroxide  

คุณสมบัติหนึ่ง  คือ สามารถดูดซับความชื้น ทำให้พื้นผิวที่มันเคลือบอยู่แห้ง เนียนลื่น ให้ความรู้สึกเรียบ แห้ง สะอาด มีการนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น การทำสี เซรามิค การทำเครื่องสำอาง เช่น บลัชออน อายชาโดว์ และแป้ง โดยจะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของแป้งฝุ่นเกือบทุกชนิด รวมทั้งแป้งเด็กด้วย

การที่ Talc มีสีขาวและโปร่งแสง ทำให้กลมกลืนไปกับผิว โดยจะเอามาบดจนละเอียด และผสมวิตามิน น้ำหอม และสารอื่นๆลงไป ทำให้ได้แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีกลิ่นหอม

ทำไมมีปัญหา ต่อวงการโรคมะเร็ง

อันดับแรก ที่รู้กันมานานในผู้ป่วยและญาติ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ว่าจะต้องไม่ใช้แป้งในบริเวณที่ฉายรังสี เพราะจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อผิวหนังได้มากขึ้น เมื่อรังสีกระทบกับแป้งทำให้เกิดรังสีกระเจิง

สิ่งที่จะพูดในวันนี้ คือ คำถามที่มีมายาวนานว่า แป้งที่มีส่วนประกอบ Talc เป็นสารที่อาจจะก่อเกิด มะเร็ง รังไข่  หรือไม่

จากการศึกษาวิจัย พบว่า การใช้แป้งบริเวณเชิงกราน จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ มากถึง 2 เท่า และมีรายงานสนับสนุนพบว่า คนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 3 ของรังไข่แบบ Papillary Serous จะมีแป้งอยู่ในต่อมน้ำเหลืองที่อุ้งเชิงกราน นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า การใช้แป้งบริเวณอวัยวะเพศ อาจจะมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งของรังไข่แบบเซลล์บุพื้นผิว (Epithelial cancer) โดยเชื่อว่า แป้งที่หลงเข้าไปในร่างกาย จะผ่านไปยังช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่และเข้าสู่ช่องท้อง เนื่องจาก Talc เป็นสารอนินทรีย์ ไม่สามารถย่อยสลายได้ในคน ทำให้เกิดการสะสม และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

ปัจจุบัน บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการเปลี่ยนจาก Talc มาเป็นแป้งข้าวโพด ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ในคน โดยคาดว่าน่าจะปลอดภัยกว่า       
         
นอกจากนี้เมื่อมีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า ถ้าหนูทดลองสูดดมสาร Talc เข้าไปภายในระยะเวลา 1-2 ปี จะก่อให้เกิดเนื้องอกของปอด ทรวงอก และระบบทางเดินหายใจ

มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ภาวะการอักเสบมีส่วนสำคัญในการเกิดมะเร็งรังไข่

แต่ในอีกความเชื่อหนึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องเกิดการอักเสบจากการสัมผัสโดยตรง แต่ผ่านกระบวนการลด Anti-MUC1 antibodies   ซึ่งปกติจะเป็นตัวที่ลดอัตราความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่    
       
ด้วยรายงานที่มีความแตกต่างกัน จึงมีการศึกษาทบทวน แต่ก็เป็นการยากที่จะสรุปได้ชัดเจนว่าแป้งทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ แม้แต่รายงานที่พบความสัมพันธ์ว่าผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มีการใช้แป้ง แต่ก็ไม่มีการศึกษาว่า จำนวนที่ใช้จะมีความสัมพันธ์หรือไม่  ที่สำคัญที่สุด คือ แป้งแต่ละชนิด ก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกัน  ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการเปรียบเทียบทางระบาดวิทยาของการใช้แป้ง   

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลต่างๆ ในปี  2006 The  International Agency for Research on Cancer (IARC)  ได้จัดระดับความน่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง  โดยการใช้แป้งในบริเวณเชิงกราน อยู่ในระดับ2   (ถ้าสารใดเป็นสารก่อมะเร็ง เราจะให้ระดับที่ และระดับที่ไม่ใช่สารก่อมะเร็งจะเป็นระดับ 4)                  
สิ่งที่น่าสนใจ คือ จากการศึกษาแป้งในท้องตลาดประเทศไทย  จำนวน 24   ชนิด ของ คุณ กมลรัตน์ ลีดี    พยาบาลหน่วยรังสีมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ พบว่า มี  Talc ผสมอยู่ถึง 23 ชนิด

ดังนั้นเราควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะบนพื้นฐานที่ไม่สามารถชี้ชัดทางระบาดวิทยาที่จะแสดงความสัมพันธ์ได้ชัดเจน การใช้แป้งทาหน้า ทาตัว หรือที่ต่างๆ ในร่างกาย ต้องใช้เมื่อจำเป็น ในปริมาณที่น้อยๆ และต้องระวังอย่าให้ฟุ้งในอากาศ เพราะจะทำให้ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และไม่ควรใช้ใช้แป้งกับอวัยวะเพศ เนื่องจากเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา ขาว เนียน สวย ต้องปลอดภัยด้วยนะครับ
แหล่งข้อมูล  JNCI Vol. 106 September 102014



วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทำไมฉายรังสีที่โพรงหลังจมูก ต้องเจาะท้องให้อาหาร ?





เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีคำถามจากลูกสาวผู้ป่วยรายหนึ่งน่าสนใจมาก หากไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน ก็คงจะงง ไม่เข้าใจและเกิดความวิตก ด้วยเหตุที่คุณแม่ของเธอคลำพบก้อนที่คอ โดยไม่ได้มีอาการอื่นๆชัดเจน ใช้ชีวิตได้ตามปกติและได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หมอบอกว่าเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก ต้องได้รับการรักษาด้วยรังสี เพียงแค่นี้ก็เครียดมากแล้ว แต่ตกใจยิ่งกว่า เมื่อหมอบอกว่าจะให้เจาะท้องเพื่อให้อาหาร ทั้งๆที่มารดายังกินอาหารได้ตามปกติ ก็ยิ่งเพิ่มความกลุ้มกังวลมากขึ้นอีก ด้วยคิดไปต่างๆนานาว่า แม่คงอาการหนัก เพราะเคยเห็นคนให้อาหารทางสายยางที่ใส่ทางจมูก แต่นี่ของแม่เธอต้องเจาะกระเพาะเลย ฟังดูก็น่ากลัวสำหรับแม่และตัวเธอเอง

ทำไมต้องเตรียมการให้อาหาร

ประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องน้ำหนักลด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีจากรายงานที่ชัดเจนพบว่าการที่น้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี (BJR 2013;1091093-1099) โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกที่มีน้ำหนักตัวน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะมีผลเสียต่อการรักษา  

น้ำหนักลด เกิดจากอะไร

ดังที่เคยกล่าวมาแล้วในบทเรื่องน้ำหนักลดผิดปกติ ต้องระวังเพราะอาจเกิดจากโรคที่ซ่อนอยู่ ซึ่งนอกจากมะเร็งแล้วยังมีโรคอื่นๆที่พบบ่อยได้แก่
1.โรคทางกลุ่มไร้ท่อ เช่น เบาหวาน Hyperthyroidism Hyperparathyroidism 
2.โรคทางทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Disease) ที่การดูดซึมสารอาหารลดลง (Malabsorption Syndrome)
3.โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค เอดส์ หรือ ตับอักเสบ 
4.โรคทางระบบประสาท Neurological Disease  ได้แก่โรคหลอดเลือดสมอง สมองเสื่อม พาร์กินสัน  
5. การติดสารเสพติด แอลกอฮอล์ กัญชา     
                 
ในผู้ป่วยมะเร็งเมื่อแรกวินิจฉัยนั้น ร้อยละ 50 จะมีอาการเบื่ออาหารร่วมกับน้ำหนักลด โดยเฉพาะกลุ่มมะเร็งของทางเดินอาหารส่วนต้น ที่ทำให้กินอาหารลำบาก เช่น มะเร็งที่ลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร รวมทั้งมะเร็งตับและตับอ่อน ที่ผู้ป่วยน้ำหนักจะลดลงมากและเร็ว โดยน้ำหนักตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักก่อนป่วย

ทั้งนี้น้ำหนักอาจจะลดลงอีก หากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา โดยเฉพาะจากยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา การฉายแสงทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวหรือลำไส้อักเสบตามมา ในบางรายมีการฉายแสงบริเวณต่อมน้ำลาย ทำให้ต่อมน้ำลายแห้ง มีปัญหาในการ กลืน เป็นต้น 

นอกจากนี้ แม้จะกินอาหารได้ ร่างกายก็อาจจะมีการสร้างสารเคมีต่างๆออกมา เป็นเหตุให้กระบวนการทางเมตาบอลิสมของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป และเกิดการเผาผลาญโปรตีนผิดปกติ  พร้อมๆกับอัตราการสร้างโปรตีน ของกล้ามเนื้อลดลง

การรักษาภาวะน้ำหนักลด     
   
1.การรักษาน้ำหนักลดให้ได้ผล ต้องดูแลโรคร่วมดังที่กล่าวมาแล้ว ประกอบกับการรักษาต้นเหตุ ได้แก่ การรักษาโรคมะเร็ง ร่วมกับการป้องกัน รักษาภาวะแทรกซ้อนจากเนื้องอก การผ่าตัด หรือแก้สาเหตุต่างๆ ที่มีผลต่อการอุดตันทางเดินอาหารจากก้อนเนื้องอก เป็นต้น

2. การรักษาโดยการใช้ยากลุ่ม โปรเจสเตอโรน และคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ เป็นอย่างดี เพราะอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากยาได้

3.การได้อาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งข้อนี้จะเป็นประเด็นของผู้ป่วยท่านนี้ที่ต้องเจาะท้อง เนื่องจากเชื่อว่าผู้ป่วยจะต้องเกิดภาวะน้ำหนักลดจากการรักษา ซึ่งต้องใช้ทั้งยาเคมีบำบัด และการใช้รังสี นำไปสู่ข้อจำกัดของการกินอาหาร

ทำไมต้องเจาะท้องเพื่อให้อาหาร

การให้อาหารทางสายยางจึงถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการขาดอาหาร แต่การให้อาหารทางสายยางมีได้หลายวิธี ที่เห็นบ่อยในอดีตหรือผู้ป่วยทั่วไป คือการใส่สายทางจมูก ผ่าลำคอเข้าหลอดอาหาร ส่วนปลายสายยางจะอยู่ในกระเพาะอาหาร จะมีประโยชน์ในกลุ่มที่ใส่ในระยะช่วงสั้นๆ ที่ไม่มีปัญหาการอักเสบที่คอหรือจมูก แต่ในผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก ที่เนื้องอกอาจจะอุดตันในโพรงหลังจมูก หรือ อาจจะมีเลือดออก รวมทั้งเวลาฉายรังสีบริเวณนี้จะมีการอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บมาก และถ้าต้องใส่เป็นระยะเวลาหลายเดือน ก็จะเป็นที่รำคาญและทรมานกับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่สายจะหลุดได้ด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจจะดึงสายหลุด ต้องมีการใส่สายใหม่ นอกจากนี้อาจเกิดแผลกดทับที่ขอบจมูกและภายในทางเดินหายใจและหลอดอาหาร ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอีกประการ คือ เกิดการสำลัก อาจทำให้ปอดอักเสบและเสียชีวิตได้

ต่อมาใช้ วิธีการใส่สายยางโดยตรงที่กระเพาะ ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเทคนิคที่ง่ายและดีขึ้น คือ การใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องโดยใช้กล้องส่องกระเพาะอาหารหรือที่เรียกว่า PEG (Percutaneous Endoscopic Gastrostomy) วิธีการนี้จะ สะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการผ่าตัด หลังจากนั้น ก็จะมีการสอนการดูแลสายและวิธีการให้อาหาร ที่มีรายละเอียดซึ่งอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เป็นมาตรฐานเดียวกัน

โดยสรุปแล้ว การจะใส่สายเข้ากระเพาะหรือไม่ จะเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพและอายุผู้ป่วย ไม่ได้หมายความว่าต้องใส่ทุกราย ซึ่งหมายความว่า ทีมสู้มะเร็งต้องทำความเข้าใจและร่วมกันดูแลครับ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ใส่ PEG นั้น ผู้ป่วยก็ต้องพยายามกลืนอาหารทางปากเท่าที่ทำได้ด้วย เพื่อลดปัญหาเรื่อง การกลืนลำบากในภายหลัง เมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้วนะครับ
                 

ที่มาภาพประกอบ: Khursheed N.J., Clinical nutrition: 6. Management of nutritional problems of patients with Crohn’s disease. CMAJ, Apr. 2, (2002); 166 (7)

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Thermal Medicine คืออะไร


Thermal Medicine เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่กล่าวกันมากในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะให้ความหมายกันกว้างๆ ก็หมายถึงวิชาทางการแพทย์ที่ว่าด้วยการรักษาโรคด้วยอุณหภูมิ หรือ ความร้อน โดยการจัดการอุณหภูมิของร่างกายหรือเนื้อเยื่อ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำกว่าร่างกาย เพื่อการรักษาโรค หรือใช้ทางการแพทย์อื่นๆ ซึ่งโดยความเป็นจริงหากย้อนกลับไปอยู่ในระยะช่วงแรกของการรักษาโรคของมนุษย์ยุคโบราณทั่วโลก ได้ใช้ความร้อนและความเย็น เพื่อประกอบกับการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นการทำลายเชื้อโรค การรักษาภาวะการชา การสร้างความสมดุลย์ของความร้อนและเย็น เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ การใช้ความเย็นในการเก็บรักษาเซลล์ รวมทั้งการใช้ความร้อนในการรักษาโรคมะเร็ง
                   
ในการวิจัยใหม่ๆช่วงต่อมา มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องผลทางทางสรีระวิทยาในระดับเซลล์และโมเลกุลของการปรับเปลี่ยนทางอุณหภูมิ พร้อมทั้งปฏิกิริยาการตอบสนอง พร้อมกับการพัฒนาเครื่องมือที่ปลอดภัย สามารถควบคุมอุณหภูมิในการใช้เพื่อการรักษา ทำให้ทุกวันนี้ มีการใช้เทคนิคการให้ความร้อนในการรักษาโรคต่างๆเพิ่มขึ้น ที่ใช้กันมากได้แก่ Hyperthermia, Thermal Ablation, Cryopreservation  ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์ของการใช้ที่แตกต่างกัน
                  
เทคนิค Hyperthermia ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มแพทย์ที่รักษามะเร็ง มีสมาคมต่างๆมากมาย เช่น ESHO หรือสมาคมแพทย์ในยุโรปที่ใช้ Hyperthermia ในการรักษามะเร็ง หรือ JSHO ในประเทศญี่ปุ่น หรือ The Society for Thermal Medicine  หรือ STM ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้ความร้อนที่สูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายร่วมกับยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นการเสริมฤทธิ์กันเฉพาะในก้อนเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของความร้อน หรือยาที่มีความจำเพาะต่อความร้อน ที่เรียกว่า Thermally Sensitive Nanoparticles
                
สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่นการโตของต่อมลูกหมาก หรือที่เรียกว่า BPH (Benign Prostatic Hyperplasia) สามารถใช้ Hyperthermia ในการลดอาการและขนาดของต่อมลูกหมากได้ กลุ่มผู้ป่วยโรคข้อ เช่น ข้อเข่าอักเสบ หรือแม้แต่การลดความอ้วน ด้วยการใช้ความร้อนที่เกิดจากเครื่องที่มีพลังงานแตกต่างกัน  ในการทำลายเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง
                 
Thermal Ablation หมายถึงการทำลายหรือสลายเนื้องอกด้วยความร้อน จริงๆแล้ว จะเป็นได้ทั้งความร้อนที่สูง หรืออุณหภูมิที่ต่ำ หรือถึงจุดเยือกแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีใช้ทั่วไปในการรักษาโรคต่างๆกัน เช่น การรักษามะเร็งเฉพาะที่ (Cryoablation, Cryosurgery) หรือการห้ามเลือดในเยื่อบุมดลูก หรือ การแก้ไขการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ โดยมีอุปกรณ์และเครื่องกำเนิดพลังงานที่แตกต่างกัน ได้แก่ Laser, Ultrasound, Microwaves และ Radiofrequency  
                  
Cryopreservation การใช้ความเย็นที่ระดับต่ำกว่า -80 ºC ในการเก็บรักษาเซลล์ให้มีชีวิตอยู่ได้ระยะหนึ่ง เพื่อนำกลับมาใช้-เมื่อจำเป็นในภาย หลัง
                
เมื่อดูในด้านโรคมะเร็ง ได้มีความตื่นตัวและประสบผลสำเร็จในหลายด้าน ที่เด่นชัดคือ การใช้เทคนิค Hyperthermia, Thermal Ablation และ Heat-Activated Drug Delivery   
                      
โดย Hyperthermia (HT) ถูกใช้ร่วมกับรังสีและยาเคมีบำบัด ตั้งแต่ปี 1970 ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมีรายงานการศึกษาที่ได้ผลดีในการใช้ Hyperthermia เพื่อรักษามะเร็งเต้านมที่มีการกลับเป็นใหม่ที่ทรวงอก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งเม็ดสี Melanoma มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม เป็นต้น

ในปัจจุบัน ในบางประเทศ เช่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ Hyperthermia เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการรักษา มีรายงานการทดลองหลัก ที่แสดงผลการตอบสนองและเพิ่มผลการรักษา รวมทั้งระยะเวลาควบคุมโรค

จากความก้าวหน้าของารใช้เทคนิคการวัดความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้มีความชัดเจนในการวางแผน เชื่อว่าจะเพิ่มผลการรักษามะเร็ง ในช่วงทศวรรษหน้า
                    
Thermal Ablation ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง มักจะใช้อุณหภูมิที่สูงกว่า 50ºC หรือ ในบางกรณีจะใช้ที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือ Freezing Temperatures เป็นการทำลายเนื้องอกที่รวดเร็วในบริเวณที่ต้องการ มีรายงานการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเทคนิคนี้มากกว่า 100,000 คนต่อปี เช่น ตับ ปอด กระดูก   
ทั้งนี้เครื่องมือที่รักษาได้ผ่านการรับรองของ FDA เช่น ที่เรียกว่า High-Intensity Focused Ultrasound (HIFU)  เป็นต้น
                   
Heat-Activated Drug Delivery: เป็นการศึกษาแนวใหม่ที่น่าสนใจ ด้วยยาเคมีบำบัดที่อยู่ในลักษณะ  Thermosensitive Liposome หรือ อนุภาคนาโน ที่ปล่อยยาเคมีบำบัดออกมาที่อุณหภูมิ เหนือ 40 ºC   ทำให้เกิดความจำเพาะบริเวณของยา เข้าสู่เนื้องอก
                    
สำหรับความก้าวหน้าทางเชิงลึกของผลการรักษา หรือผลการรักษา ทั้งทางตรงและทางอ้อมของอุณหภูมิ ต่อ การทำงานของเซลล์  เป็นการศึกษาทางชีวโมเลกุลของอุณหภูมิ โดยเฉพาะการตอบสนอง  ที่แสดงออกในรูปพันธุกรรมและภูมิคุ้มกัน รวมทั้งที่ได้รับความสนใจมาก คือเรื่อง Heat Shock Protein (HSP) จะนำไปสู่มาตรฐานการรักษาทางด้านนี้มากขึ้น   
                    
ท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จาก วารสารของ The Society of Thermal Medicine ที่ชื่อว่า The International Journal of Hyperthermia ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ วารสาร Thermal Medicine Japanese Society for Thermal Medicine ของประเทศญี่ปุ่นครับ

เรียบเรียงจาก What is Thermal Medicine? Society for Thermal Medicine www.thermaltherapy.org