วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

มารู้จักเครื่องฉายรังสี True Beam นวัตกรรมใหม่สำหรับการฉายรังสี

มารู้จักเครื่องฉายรังสี True Beam  นวัตกรรมใหม่สำหรับการฉายรังสี

การรักษาด้วยรังสี เป็นหนึ่งในการรักษาหลักของโรคมะเร็ง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าจนกระทั่งเพิ่มผลการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา  เช่น   กลุ่มโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งปอด เพิ่มโอกาสการรักษาในโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ในอดีต เช่นมะเร็งตับ  และลดการผ่าตัด เช่นมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งในสมอง เป็นต้น ดังที่ทราบมาแล้ว  ในนวัตกรรมใหม่สำหรับการฉายรังสีที่ต้องการความถูกต้องแม่นยำสูง พัฒนาการฉายรังสีแบบสามมิติที่ให้ปริมาณรังสีที่สูงต่อครั้ง โดยจำนวน ครั้งของการฉายลดลง สามารถให้ปริมาณรังสีรวมที่สูงขึ้นต่อก้อนเนื้องอกและลดปริมาณรังสีที่จะโดนเนื้อเยื่อปกติลง  โดยเฉพาะในเทคนิคที่เรียกว่า  Stereotactic Body Radiotherapy หรือ SBRT  ต้องการเครื่องฉายรังสีที่มีความแรงและเร็ว  ซึ่งหมายถึงได้ปริมาณรังสีครบถ้วน ในระยะเวลาอันสั้น  ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาถูกต้องแม่นยำ เพื่อจะรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ปอด ตับ อวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น

เครื่องฉายรังสี True Beam 
เครื่องเร่งอนุภาค True Beam ซึ่งเป็นเครื่องที่ไม่มีอุปกรณ์กรองรังสี (Flattening Filter Free)  จึงเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ตอบสนองในการ  ทั้งนี้เนื่องจากในธรรมชาติของรังสีที่ออกมาจากเครื่องกำเนิดรังสีจะเป็นรูปคล้ายกระสวยพุ่งออกมา แต่ด้วยความแรงของรังสีที่กระทบพื้วผิวที่ไม่เท่ากัน   ทำให้ยากแก่การคำนวนรังสี  ในอดีต จึงมีตัวกรองและปรับรังสีให้สม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถคำนวนรังสีได้ง่าย แต่ด้วยการมีตัวกรอง ทำให้ต้องสูญเสียรังสีไปบางส่วน ทำให้ความแรงของรังสีลดลง  ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ จึงทำให้สามารถคำนวนรังสีที่เป็นรูปกระสวยได้ แม้จะมีความแรงไม่เท่ากัน ทำให้ได้ปริมาณรังสีที่สูงในเวลาที่สั้นกว่า ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาในอวัยวะที่เคลื่อนไหว   


Marta Scorsetti และคณะได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้และความปลอดภัยในการใช้รังสีจริงที่ไม่มีอุปกรณ์กรองรังสี (Flattening Filter Free) มาใช้ในเทคนิค SBRT ด้วยเครื่องกำเนิดรังสี True Beam มาใช้ทางคลินิกในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ และต่อมน้ำเหลืองในท้อง, ต่อมหมวกไต, ตับอ่อน พบว่าสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยเหล่านี้ได้ผลดี ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันอยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีความปลอดภัยสูง ดังรูป


Scorsetti et al. Radiation Oncology 2011, 6:113
Hazelrig-Salterb Radiation Oncology Center ได้ศึกษาเกี่ยวกับเวลาที่ใช้ในการฉายรังสี เปรียบเทียบระหว่างเครื่องที่ไม่มีอุปกรณ์กรองรังสี (Flattening Filter Free) กับเครื่องที่มีอุปกรณ์กรองรังสี (Flattening Filter) พบว่าการฉายรังสีโดยใช้รังสีจริงที่ไม่มีอุปกรณ์กรองรังสีช่วยลดระยะเวลาในการฉายรังสีให้สั้นลงไม่ว่าจะเป็นการฉายโดยเทคนิคใด


Beam On Time = Time from first beam on to last beam off, inclusive of intra-fraction imaging. (Prendergast, et al. 2011)
ด้วยความก้าวหน้าของเครื่องฉายรังสี และเทคนิคการวางแผนการรักษา ทำให้รังสีมีบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นในการรักษามะเร็งที่มุ่งหวังให้หายขาด โดยมีภาวะแทรกซ้อนน้อย  สามารถทดแทนการผ่าตัดในหลายอวัยวะ และเพิ่มความหวังในกลุ่มมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาได้ในอดีต
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจการใช้เครื่องมือหรือวิธีการใดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพราะความจำเพาะและความจำเป็นในแต่ละโรค แต่ละระยะจะไม่เหมือนกัน

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ทีมสู้มะเร็ง - ใจเหนือทุกข์ ตอน เมื่อพลัดพรากเป็นการจากกันบางส่วนและชั่วคราว

ความรุนแรงของความทุกข์ ย่อมขึ้นกับคุณค่าของสิ่งที่พลัดพราก ความแน่นแฟ้นและความยาวนานของความผูกพัน รักมาก ก็ทุกข์มาก  เป็นธรรมดา  
          
เราทุกคนคงเคยไปเที่ยว หลายคนเกิดความรู้สึกประทับใจ มีความสุขจนไม่อยากกลับ แต่ทำไมเราทุกข์ไม่มาก บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะความผูกพันนั้นเป็นเพียงระยะสั้น ความผูกพันยังไม่มาก  ซึ่งก็อาจจะถูก แต่บางคนที่ต้องจากบ้านเกิดที่อยู่มาตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งความผูกพันนั้นก็นับว่านานพอสมควร  แต่ทุกข์นั้นก็พอรับได้
คำตอบที่สำคัญ  คือ กระบวนการจัดการกับความทุกข์  ซึ่งอาจทำได้ในหลายลักษณะ

ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกความจำนั้นไว้ในสมอง เพื่อเล่าสู่กันฟัง หรือเมื่อดึงความจำนั้นขึ้นมา เมื่อยามระลึกถึง โดยหากเป็นเรื่องการท่องเที่ยว อาจจะมีการบันทึกภาพไว้ หรือปัจจุบัน ก็จะมีภาพ วีดิทัศน์ ที่มีทั้งเสียงและภาพ เหมือนชีวิตจริง ดังนั้นเมื่อคิดถึงก็สามารถหยิบขึ้นมาดูได้ 

แต่บางครั้งเราอาจจะเศร้า ไม่อยากเห็น หรือ คิดถึง เพราะนั้นคือความรู้สึก อยากให้ได้มาซึ่งความใกล้ชิด พูดคุย หรือสัมผัส ได้ ซึ่งเป็นกิเลสของมนุษย์  แต่ สิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยท่านได้ก็คือให้ระลึกเสมอว่า ผู้ที่จากไป เขารักเราตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ คงคิด และทำเพี่อให้เรามีความสุข  ดังนั้นแม้ว่าเขาจะไม่อยู่ตรงนั้น แต่เขาก็คงจะมีความสุข หากเขารู้ว่า เรามีความสุข              

ในชีวิตจริง หลายคนอาจจะเคยเงย ขึ้นมองท้องฟ้า มองก้อนเมฆ แล้วระลึกถึงผู้ที่จากไป ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ คำพูด คำสอน หรือในบางสภาวะที่เรามีเรื่องทุกข์ใจ  เรา ก็อาจจะบ่น ระบาย หรือขอกำลังใจ  ในการแก้ปัญหา หรือการดำรงชีพ

เคยมีน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เล่าให้ผมฟังถึงความทุกข์ เมื่อคุณแม่จากไป เธอแทบจะตายตามไป แต่เมื่อคิดได้ว่า แม่คงไม่อยากให้เธอทำเช่นนั้น เธอจึงทำจิตใจให้เข้มแข็ง โดยคิดว่าคุณแม่ไม่ได้ไปไหน  เธอเล่าว่า ทุกครั้งที่เธอจะออกจากบ้าน   เธอก็จะให้ไปมองภาพแม่ ที่เธอติดไว้ที่ทางออก โดยบอกเหมือนแม่ยังอยู่ว่า  แม่ หนูไปทำงานแล้วนะ   ทำมาแล้วเป็น 10 ปี เวลามีปัญหา ก็มักจะคิดว่า ถ้าถามแม่ แม่จะตอบว่าอะไรเสมอๆ  เธอจึงมีความรู้สึก เหมือนแม่ยังคงอยู่กับเธอเสมอ

เห็นไหมครับว่า การพลัดพราก เป็นเพียงบางส่วนที่จับต้องได้ทางกายเท่านั้น แต่ใจเรายังมีอยู่ซึ่งกันและกันเสมอ ไม่มีวันที่จะเสื่อมสลายไปได้

หลายท่าน คงเคยขึ้น รถไฟฟ้า หรือรถเมล์ คงนึกถึงสภาพบริเวณสถานีรถไฟฟ้าได้ สถานีบางแห่งโดยเฉพาะสถานีใหญ่ จะเชื่อมต่อกับแหล่งอาหาร หรือแหล่งขายสินค้าใช้สอยต่างๆ ที่เราจับจ่ายอย่างสนุกสนาน  ครั้งหนึ่งเพื่อนผมกับภรรยาและหลานตัวเล็กๆ ไปเที่ยวต่างประเทศ หลังจากที่เดินเล่น และทานอาหารเสร็จ ก็จะเดินทางกลับที่พัก ซึ่งบังเอิญ เป็นช่วงเวลาที่คนแน่นมาก เมื่อเบียดเสียดกันขึ้นรถไปได้ไปอย่างทุลักทุเล พร้อมกับความโล่งอกที่ทุกคนได้ขึ้นรถหมดแล้ว   ก็เกิดความรู้สึกว่า ถ้าเขาเกิดพลาด ขึ้นรถไม่ทัน ภรรยา และหลานจะทำอย่างไร หรือ ถ้าภรรยาและหลานขึ้นไม่ทัน จะทำอย่างไร ความพลัดหลงนี้ น่ากลัวจริงๆ  โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคยทั้งเส้นทางและภาษา จึงคิดตลอดทางควรจะทำอย่างไร ก็ได้คำตอบที่น่าจะเป็นประโยชน์ คือ  รถไฟฟ้านั้น จะเป็นการเดินทางไปทางเดียวกัน เมื่อพลาดขบวนนี้ ขบวนหน้าก็จะมา  และจะเดินรถไปสู่สถานีหน้าต่อไปเสมอ  เขาก็เลยรู้สึกเบาใจ  และนัดแนะกับภรรยาและหลานว่า หากมีเหตุสุดวิสัยทำให้คลาดกัน ไม่ต้องตกใจ ตั้งสติให้ดี และจำไว้ว่า ไม่ว่าใครขึ้นก่อนก็ให้ลงไปรอที่สถานีหน้า  คนที่เหลือจะตามไปลงสถานีเดียวกันแน่นอน

ฉันใดก็ฉันนั้น การจากไปก่อนของผู้ป่วย   เป็นเพียงการจากไปชั่วคราว เป็นการเดินทางไปก่อน และเมื่ออีกคนหนึ่งถึงเวลา ก็จะตามไปเจอกันเองที่สถานีหน้า

การพลัดพรากชนิดที่โหดร้ายทารุณจิตใจยากที่จะอธิบาย เมื่อ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้มาตามลำดับ หลายครั้ง ผู้ที่เป็นพ่อ แม่ ที่ต้องสูญเสียลูกรัก ไปก่อนเวลาอันควร  แม้การพลัดพรากจะเป็นธรรมชาติ แต่ การผิดลำดับ ก็ยากที่จะยอมรับได้  ขอให้ท่านตั้งสติให้ไว้ว่าจะไปพบกันอีกครั้งที่สถานีหน้าแน่นอน

ในชีวิตการเป็นแพทย์ของผม ผมจำบรรยากาศครั้งหนึ่ง ที่มันเงียบสงบจนน่ากลัวในห้องผู้ป่วยคนหนึ่งได้เป็นอย่างดี ผมจำสายตาที่เหม่อลอย น้ำตาที่เหือดแห้ง นั่งพิงกันระหว่างคุณลุงคุณป้าคู่หนึ่ง  ดูลูกชายที่กำลังจะจากไปด้วยมะเร็งตับ ผมจำได้ แม้จะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว เราเคยพูดจาทักทายกันอย่างสนุกสนานเป็นเวลาเกือบปี วันนั้นผมเศร้ามาก ได้เพียงแต่เดินไปนั่งใกล้ๆอย่างสงบเท่านั้น  ไม่อาจเอ่ยคำปลอบใจใดๆ  หากเป็นวันนี้ผมคงสามารถช่วยคุณลุงคุณป้า ให้อยู่เหนือทุกข์ได้บ้าง


เรื่องราวและแนวคิดที่เล่าสู่กันฟังนี้  ไม่สามารถทำให้ใจเหนือทุกข์ได้ในชั่วข้ามคืน  ไม่ได้เกิดขึ้นโดยการพนมมือ หรือ การอ่านไป 1 รอบ และไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากเป็นการเรียนรู้พร้อมๆกับความพลัดพรากที่เห็นอยู่เบื้องหน้า แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องทำความเข้าใจ และเตรียมตัวเตรียมใจด้วยสติทันทีที่เผชิญหน้ากับปัญหาทั้งผู้ป่วยแลญาติ  การเรียนรู้และการสร้างเจตนคติเช่นนี้ เป็นภาระอีก ด้านหนึ่งของแพทย์ ผู้มีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ของมนุษย์  ดังนั้นผมจึงหวังว่าข้อเขียนทั้งหมดจะนำมาซึ่งความเข้าใจ  เพื่อสังคมมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน และแน่นอนที่สุด เพื่อท่านและคนที่ท่านรัก ใจจะได้อยู่เหนือทุกข์ อย่างน้อยสักระดับหนึ่งนะครับ