การตรวจร่างกายด้วยตนเองส่วนลำคอภายนอกในที่นี้
หมายถึง ส่วนของลำคอทั้งหมด ตั้งแต่บริเวณใต้กระดูกขากรรไกรลงมาจนถึงไหปลาร้า
อวัยวะที่อยู่ในบริเวณนี้ ได้แก่ ทางเดินอาหารส่วนต้น กล่องเสียงหลอดลมคอ
หลอดเลือด ต่อมธัยรอยด์ กระดูกคอ และต่อมน้ำเหลือง
ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นที่รับน้ำเหลืองจากศีรษะและลำคอทั้งหมด
เนื่องจากอวัยวะส่วนใหญ่
ไม่สามารถตรวจดูได้ด้วยตา หรือการคลำจากภายนอก อาการแสดงสำคัญที่แสดงให้ต้องระวังมีดังนี้
1. เสียงแหบเกินกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีหรือไม่มีอาการเจ็บคอร่วมด้วย
จะต้องระวังโรคมะเร็งของกล่องเสียง ซึ่งพบมากในเพศชายในช่วงอายุ 50-60 ปี
2. กลืนอาหารลำบาก อาจมีอาการเจ็บคล้ายก้างปลาติดคอหรือสำลักเวลากลืน
การกลืนลำบากที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จากอาหารแข็ง เป็นอาหารเหลว
และในที่สุด แม้แต่น้ำก็กลืนไม่ได้ ซึ่งแสดงว่าอาจเป็นมะเร็งของคอหอย
หรือหลอดอาหารส่วนต้น
3. อาจมีอาการอาเจียน หรือไอเป็นเลือดในรายที่เป็นมาก
4. มีก้อนที่ตำแหน่งใดๆ
การมีก้อนที่ลำคอ
มักเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเสมอๆ
ก้อนที่คอนี้อาจเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อาจเป็นมะเร็งหรือไม่เป็นก็ได้
หรืออาจเป็นต่อมธัยรอยด์ หรือความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและการตรวจพบอื่นๆ
ร่วมด้วย การตรวจยืนยันโดยแพทย์เท่านั้น จึงจะเป็นสิ่งทำให้วางใจได้
ไม่ควรปล่อยก้อนนั้นไว้ด้วยความชะล่าใจว่าไม่มีอาการเจ็บปวด โดยความเป็นจริงแล้ว
ก้อนมะเร็งมักจะไม่ทำให้มีอาการเจ็บปวด ยกเว้นแต่เมื่อมีการอักเสบ
หรือการลุกลามทำลายเส้นประสาท ซึ่งแสดงว่า โรคนั้นได้ลุกลามไปมากแล้ว
การตรวจตนเองในตำแหน่งลำคอนี้
ทำได้เพียงการตรวจลำคอภายนอก ซึ่งอาจสามารถตรวจพบก้อนในตำแหน่งต่างๆ ได้
โดยการมองในกระจกในท่าหน้าตรง ท่าหันหน้าซ้ายขวาและท่าเงยศีรษะขึ้นเล็กน้อย จะเป็นการสำรวจง่ายที่เห็นรอยนูนหรือบวมที่ผิดปกติ
การแตกต่างกันระหว่าง 2 ข้าง
ถ้าเราสำรวจตั้งแต่บริเวณใบหน้า
ศีรษะ ลำคอ และไหปลาร้า สิ่งที่จะเห็นนูนขึ้นมานั้น ได้แก่
ลูกกระเดือกหรือกล่องเสียงในผู้ชาย แต่อาจเห็นต่อมธัยรอยด์นูนขึ้นมาเล็กน้อยทางด้านข้างของกระเดือก
ซึ่งถ้าในท่าเงยศีรษะหรือแหงนคอ พร้อมกับกลืนน้ำลาย จะเห็นการเคลื่อนที่ของต่อมธัยรอยด์ที่สัมพันธ์กับการกลืน
ถ้ามีก้อนของต่อมธัยรอยด์
ก็จะมองเห็นได้ชัดขึ้น สำหรับมะเร็งของต่อมธัยรอยด์นั้น
มักจะไม่มีอาการใดๆ นอกจากก้อนที่ค่อยๆ โตขึ้น และมักไม่เจ็บ
ต่างจากพวกคอพอกเป็นพิษ ซึ่งมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลดร่วมด้วย
มะเร็งธัยรอยด์ เป็นโรคที่พบในเพศหญิงมากกว่าชาย โดยพบประมาณ 1-2% ของมะเร็งทั้งหมด มีอาการ คือ
ก้อนแข็งบริเวณธัยรอยด์ เสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก บางรายจะมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
การตรวจวินิจฉัยอย่างง่ายๆต่อไปสำหรับแพทย์ คือการดื่มน้ำยาไอโอดีนและถ่ายภาพรังสี
ดูความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์
การตรวจโดยการคลำ
ด้วยตนเองนั้น อาจจะดูเหมือนยาก แต่หากคลำไปตามตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง ก็อาจทำได้โดยไม่ยากนัก
โดยเริ่มไปตามลำดับ ตั้งแต่หลังหูเรื่อยมาตามคอ และไหปลาร้า รวมทั้งหน้าหู
ต่อมน้ำเหลืองที่โตนี้ อาจไม่ใช่จากโรคมะเร็งเสมอไป ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย คือ
มีการอักเสบในช่องปากหรือลำคอ
ซึ่งมักทำให้เกิดการโตของต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้ต่อขากรรไกรและที่คอตอนบน
แต่จะมีลักษณะนุ่มและกดเจ็บ ในขณะที่ต่อมน้ำเหลืองในโรคมะเร็งจะค่อนข้างแข็ง
ไม่เจ็บ และอาจยึดติดกับเนื้อเยื่อรอบข้าง หากมีความรู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่เหมือนกันระหว่างข้างซ้ายและข้างขวาที่ผิดปกติไปจากเดิม
ก็ให้ความสนใจในการคลำบริเวณเพิ่มเติม ว่านูนแข็งหรือไม่
ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์
มะเร็งคอหอยเกิดจากอะไรค่ะ พ
ตอบลบขอบคุณมากครับ เขียนละเอียดเข้าใจการตรวจตัวเองมากขึ้นครับ
ตอบลบ