วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ภาวะโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง (ตอนที่ 1)

ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมรังสีมะเร็งวิทยา เมื่อเดือนมีนาคม  พ.ศ. 2558  ได้มีการบรรยายที่น่าสนใจมาก  โดย ผศ.ดร.นพ.วีระเดช พิศประเสริฐ สาขา โภชนวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกี่ยวกับภาวะโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ผมจึงขออนุญาตเรียบเรียงมาให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ที่มีผลดีต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล

ภาพประกอบ: http://www.integratedhealthclinic.com/_cancercare/

ภาวะทุโภชนาการ หมายถึงการได้รับสารอาหารไม่สมดุล มากเกินหรือน้อยเกินในผู้ป่วยมะเร็ง  จนมีผลกระทบต่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย และมีผลทำให้ สภาพร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออ่อนลง เกิดภาวะอ่อนล้า อ่อนเพลีย ที่สำคัญคือ อาจจะทำให้ผลการตอบสนองต่อการรักษาลดลง ในขณะเดียวกัน จะทำให้ภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เนื่องจากภาวะอักเสบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในตับ ที่ทำให้การขับถ่ายของยาลดลง ความเป็นพิษและผลข้างเคียงจึงเพิ่มขึ้น ทั้งหมดจะนำไปสู่ คุณภาพชีวิตและ พยากรณ์โรคที่แย่ลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้น

ร้อยละ 30-80 ของผู้ป่วยมะเร็งจะมีปัญหาการลดลงของน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับชนิดมะเร็ง ซึ่งจะลดลงมากในกลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งทางเดินอาหารเป็นต้น

สาเหตุของภาวะนี้ เกิดได้หลายประการตั้งแต่ การได้อาหารที่น้อยลง ด้วยความรู้สึกเบื่ออาหาร การใช้พลังงานที่มากขึ้น  ทำให้มีการขาดความสมดุลย์ 

วิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะทุโภชนาการ โดยเฉพาะการให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งทำให้ เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การอักเสบของเยื่อบุ ทำให้เจ็บปาก เจ็บคอ และกลืนลำบาก หรือบางรายจะมีอาการ ท้องเสีย
การรักษา แบ่งเป็น
1. การให้อาหารเสริม  (Nutritional Support)   เป็นการจัดอาหารให้เพียงพอต่อผู้ป่วย เกิดขึ้นได้จากอาหารที่กินหรืออาหารเสริม ไม่ว่าจะเป็นการกินหรือการได้ทางสายยาง    โดยทั่วไปต้องการพลังงานที่ 25-35 kcal/kg ต่อวัน  โปรตีน 1.2-2 g/kg ต่อวัน   ทั้งนี้มีส่วนของไขมัน 30-50% ของปริมาณพลังงานที่ต้องการ เราควรเริ่มให้โภชนาบำบัดตั้งแต่การพบภาวะขาดอาหาร หรือคาดว่าผู้ป่วยจะจะกินไม่ได้มากกว่า 7 วัน  ทั้งนี้จะเป็นผ่านทางเดินอาหารหรือทางหลอดเลือดในช่วงระยะเวลาสั้นๆก็ได้

2. Immunonutrition  เป็นการให้สารอาหารที่มุ่งหวังในเรื่องภูมิคุ้มกัน และปรับภาวการณ์อักเสบ ตัวสำคัญ คือ Argenine, Glutamine Omega-3 Fatty Acid เป็นต้น ข้อบ่งชี้ที่สำคัญ คือ การได้รับการผ่าตัดใหญ่ ที่ลำคอและช่องท้อง  หรือ การให้ Fish oil ระหว่างการฉายรังสีร่วมกับยา  เป็นแนวคิดที่มีผลกระทบชัดเจนมากขึ้น  มีการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ

3. กลุ่มยาที่กระตุ้น ให้เจริญอาหาร ลดอาการคลื่นไส้ ที่ใช้บ่อยคือกลุ่ม Steroid ซึ่งควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยแพทย์ เพราะจะมีภาวะแทรกซ้อนได้มาก อีกกลุ่มที่ใช้ได้คือ Megestrol Acetate    ซึ่งมีราคาแพงกว่า แต่ภาวะแทรกซ้อนโดยรวมน้อยกว่า แต่อาจจะมีผลกระทบต่อ เพศหญิงที่อาจะมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ เนื่องจากเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ที่สำคัญคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

ข้อคิดวิธีการรักษาโรคมะเร็ง ด้วย Insulin Potentiation Therapy

สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว เรื่องการใช้ Insulin ในการรักษามะเร็ง ( Insulin Potentiation Therapy )  ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากพอสมควร  รู้สึกดีใจที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านกรุณาวิเคราะห์ เสนอความคิดเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อม  เพื่อการถ่ายทอดความรู้ เพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่านเป็นที่ตั้ง ผมขอขอบคุณมากครับ

ผมขอสรุปบทความที่แล้วอีกครั้งดังนี้
1. การนำเสนอเรื่อง Insulin Potentiation Therapy   เป็นการบอกว่า เทคนิคนี้   คือ   อะไร มีการประชุมระดับนานาชาติ  และมีหลักการอย่างไร  พร้อมกันนี้ก็มีบทความทบทวนวิชาการที่แสดงความขัดแย้งในความคิดอย่างชัดเจนเช่นกัน
2. ยังไม่ได้เป็นวิธีการรักษามาตรฐานและมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
3. เป็นการเปิดกว้างในแนวความคิด ตามที่บางท่านสงสัยและถามมา เพราะมีการรักษาเทคนิคนี้ในประเทศไทย
4. การรักษาหลายอย่างที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่คำตอบในอนาคต
5. การรักษาที่แปลกใหม่  อาจจะเป็นตัวจุดประกายเพื่อพัฒนาต่อในอนาคต
6. การลดภาวะแทรกซ้อนของการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือวิธีการรักษาใดๆก็ตามย่อมเป็นจุดประสงค์ของแพทย์ผู้ทำการรักษา
7. เห็นด้วยในความคิดเห็นของท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้เสนอแนวทางการใช้ยาเคมีบำบัดปริมาณน้อยหลายครั้ง หรือการใช้ตัวร่วม เช่น Hyperthermia เป็นแนวคิดที่ยอมรับว่าช่วยได้มากในหลายโรค
         
โดยทั่วไปบทความทางวิชาการที่มีการอ้างอิงและสามารถตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ หรือแม้แต่ข่าวทางวิชาการที่เป็นแนวคิดใหม่ๆ บล็อกหมอมะเร็งนี้ ก็จะนำเสนอ เพื่อเป็นการเปิดกว้างทางวิชาการ จะไม่ชี้ความถูกหรือผิดของการวิจัยหรือวิธีการรักษาครั

ผมขอย้ำอีกครั้งว่าผู้ป่วยควรต้องปรึกษาและขอคำแนะนำของแพทย์ที่ท่านรักษาเสมอ หากมีความสงสัยอยากส่งคำถามหรือความคิดเห็นใดๆก็ยินดีนะครับ  เรามาช่วยกันสู้กับโรคร้ายนี้นะครับ




วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

การลดภาวะแทรกซ้อนจากยาเคมีบำบัดด้วยการใช้ อินซูลิน ร่วมในการรักษา


การรักษามะเร็งด้วย Insulin Potentiation Therapy

เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็ง ยังมีความหลากหลายในวิธีการ การทดลองยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ความเชื่อของบุคลากรทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน การนำเสนอข้อมูลเพื่อความหวังใหม่ให้ผู้ป่วยมีอัตราอยู่รอดและชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและหรือเพื่อผลประโยชน์อื่นๆ เมื่อมีผู้สนใจถามเรื่องการใช้วิธี Insulin Potentiation Therapy จึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนพยายามหาข้อเท็จจริง ซึ่งแต่ละข้อมูลจะมีทั้งความจริงที่พิสูจน์และยืนยันแล้ว หรือ ยังไม่พิสูจน์ชัดเจน ทั้งนี้ผู้อ่านควรพิจารณา และปรึกษาแพทย์ของท่านด้วย


IPT  (Insulin Potentiation Therapy)  คือ อะไร ?

IPT ในด้านการรักษาโรคมะเร็ง  คือ การใช้  Insulin ร่วมกับยาเคมีบำบัดที่น้อยลง   ซึ่งมาจากแนวคิด ของความนุ่มนวลในการให้เคมีบำบัด โดยลดผลแทรกซ้อน จนถึงไม่มีภาวะแทรกซ้อน   จึงมีการพยายามลดปริมาณยาเคมีบำบัด   จนถึงระดับ 1/ 10  ของปริมาณมาตรฐาน  แต่เพิ่มผลการรักษาโดยการใช้อินซูลินซึ่งลดระดับน้ำตาล  ด้วยความคิดที่อินซูลินทำให้ เซลล์มะเร็งเปิดช่องทางหรือตัวรับยาเข้าสู่เซลล์ ความคิดนี้เริ่มใช้ใน Mexico  โดย  Dr. Donato Perez   Garcia, Sr   และถ่ายทอดมาจนกระทั่ง  Dr. Steven G. Ayre   ในอเมริกาเริ่มตีพิมพ์บทความและหนังสือ จนเป็นที่มาในคลินิคแพทย์ทางเลือก

วิธีการรักษา

ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำงดอาหาร 6-9 ชั่วโมง และได้รับน้ำเกลือชนิดมีกลูโคส พร้อมกับการฉีดอินซูลินตามน้ำหนักตัว ต่อด้วยยาเคมีบำบัด ในช่วงระยะไม่กี่นาที ซึ่งเขาเรียกว่า  "Therapeutic Moment"  ซึ่งเป็นช่วงน้ำตาลในร่างกายต่ำ


ณ จุดนี้อาจเป็นอันตรายได้มาก เพราะ การตอบสนองต่อ อินซูลินของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ภาวะ Hypoglycemia  หรือน้ำตาลต่ำจะเกิดขึ้น เมื่อเริ่มมีอาการน้ำเกลือที่มีน้ำตาลก็จะถูกปล่อยเข้าสู่ร่างกาย เพื่อรักษาระดับน้ำตาล ต่อจากนั้นผู้ป่วยจะดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้ การรักษามักจะเป็นสัปดาห์ละ  2  ครั้ง  ทั้งหมดประมาณ 12- 18 ครั้ง โดยปรับระดับอินซูลินจากการได้รับครั้งแรก

แม้จะมีรายงานผลเฉพาะรายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีรายงานที่มีนัยสำคัญเพียงพอที่จะแสดงว่า IPT ปลอดภัย และได้ผลดีในการรักษามะเร็ง  ในทางตรงข้ามอาจจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรงด้วย เช่น มีรายงานหนึ่งจากประเทศอุรุกวัย รายงานผู้ป่วยมะเร็งเต้านม  30 รายที่ดื้อต่อการรักษามาตรฐาน  แบ่งเป็น 3 กลุ่มที่ได้ยา อินซูลิน เปรียบเทียบ กับ อินซูลิน + ยา และยา Methotrexate อย่างเดียว พบเพียงว่าในกลุ่มที่ได้ยาร่วมกับ อินซูลิน จะควบคุมโรคได้ดีกว่า โดยก้อนจะโตขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น แต่ไม่มีรายงานเรื่องอัตราการอยู่รอด  หรือคุณภาพชีวิต

แม้จะมีรายงานอื่นๆ แต่ก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน ที่ขาดการติดตามที่เพียงพอเพื่อแสดงผลที่ชัดเจน ที่จะตีพิมพ์ได้ในวารสารมาตรฐาน 

ภาวะแทรกซ้อน              
ด้วยเหตุที่การตอบสนองต่ออินซูลินที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงแตกต่างในแต่ละบุคคล  หากผลระดับน้ำตาลต่ำมากเกินไป อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้  และหากภาวะน้ำตาลต่ำนานเกินไป ผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ผู้ที่ได้รับยากลุ่ม  Beta-Blocker เช่น Atenolol (Tenormin) and Metoprolol (Lopressor) อาจจะบดบังให้ไม่เห็นอาการของน้ำตาลต่ำ เช่น อาการใจสั่น  เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องระวังในกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้น  บางคนอาจจะมีความดันต่ำ หายใจลำบาก ผื่น คัน ได้
ดังนั้นจึงต้องระวังผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้จึงมีบทความ Why You Should Stay Away from  Insulin Potentiation Therapy  ซึ่งเรียบเรียงโดย  Robert Baratz, M.D., D.D.S., Ph.D.เขียนแสดงความขัดแย้งเอาไว้ครับ                           

แหล่งข้อมูล  www.cancer.org/treatment โดย American Cancer Society
และ  www.quackwatch.org/01QuackeryRelatedTopics/Cancer/ipt.html


วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง: การเตรียมตัว เพื่อรับอุบัติภัยของผู้ป่วยมะเร็ง




โลกเราทุกวันนี้ไม่เพียงแต่จะร้อนขึ้นทุกวัน ภัยธรรมชาติก็อุบัติรุนแรงขึ้น ทำลายชีวิตและทรัพย์สินมากมาย  จนมีการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ภัยธรรมชาติในประเทศไทยที่เกิดขึ้นก็ไม่น้อย แต่ละครั้งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่ใหญ่ๆ ก็จะเป็นจาก สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ทำคร่าชีวิตคนมากมาย  และที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้นี้คือ  น้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. 2554  ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดือดร้อน  ขาดแคลนปัจจัยสี่  เนื่องด้วยการคมนาคม  ที่เป็นอุปสรรคอยู่เป็นเดือน



จากประสบการณ์ในครั้งนั้น เราต้องแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง          ผู้ป่วยที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือผู้ป่วยกลุ่มที่อยู่ในช่วงการรักษาและ กลุ่มที่สภาวะภูมิต้านทานต่ำ    อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อ ภาวการณ์ติดเชื้อ เลือดออก อ่อนเพลีย หรือสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์หักของกระดูก

ทีมสู้มะเร็งวันนี้ขอนำเรื่องที่อาจช่วยผู้ป่วยและญาติในการเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นอย่าง กะทันหัน ไม่คาดคิด หรือเมื่อมีเรื่องจำเป็นที่ต้องเดินทางห่างไกลจากโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่  หรือแม้ในชีวิตปกติที่เกิดจากการไป ท่องเที่ยว   ติดขัดกลับไม่ได้ หรือการมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่ออยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล  สถานีอนามัย  ท่านควรเตรียมตัวอย่างไร

1.  วางแผนกับทีมสู้มะเร็ง ซึ่งอาจจะเป็นแพทย์หรือทีมพยาบาลว่า ควรทำอย่างไร และจะติดต่อได้ที่ไหนอย่างไร  เช่น ระหว่างให้ยาเคมีบำบัด ท่านมาตรวจที่โรงพยาบาลเดิมที่รักษาไม่ได้ จะติดต่อโรงพยาบาลใกล้เคียงได้หรือไม่  และจะประสานการดูแลกันได้อย่างไร
2.   รู้และมีประวัติโดยละเอียดเกี่ยว การวินิจฉัย ระยะโรค และการรักษา โดยเฉพาะยาที่ได้รับอยู่   หากได้รับยาเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสี ต้องทราบว่า อยู่ในรอบ หรือครั้งที่เท่าไร จากแผนการรักษาทั้งหมด ที่ผมเน้นว่ามีประวัติ เพราะบางครั้งเราจำผิด หรือ ไม่แน่ใจก็อาจจะมีปัญหาได้ครับ
3.  ถ้าอยู่ในระบบการวิจัย ควรจะทราบว่า โครงการวิจัยอะไร ชื่อผู้วิจัย และชื่อยา จะช่วยได้พอสมควร
4.  รายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ สำคัญๆ ควรจะถูกบันทึก ทั้งในโทรศัพท์ หรือ แผ่นกระดาษ นามบัตร
5.  บัตรสำคัญคือบัตรประชาชน บัตรประกันสุขภาพ บัตรประจำตัวผู้ป่วย บัตรกรุ๊ปเลือด  บัตรแพ้ยา เป็นต้น
6.  เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สามารถติดตัวได้ เช่นยาประจำตัว ยาจำเป็นธรรมดาที่หมออนุญาตใช้ได้  ยาฆ่าเชื้อ  ชุดทำแผล ปรอทวัดไข้   หน้ากากอนามัย   เป็นต้น  ทั้งหมดบรรจุในถุงที่ป้องกันความชื้นในบางรายอาจจะต้องมีออกซิเจนกระป๋อง  ก็ต้องเตรียมครับ

แม้จะเป็นเรื่องที่ดูแล้วอาจจะจำเป็นน้อย  แต่ถ้าท่านอยู่ในสถานที่มีความเสี่ยง เช่นน้ำท่วมทุกปี ก็กันไว้บ้างดีกว่าแก้ยากในภายหลัง ในต่างประเทศที่เขาคิดถึงมาก เพราะเขาเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว หรือ ทางขาดจากหิมะ หรือ หิมะถล่ม เป็นต้น

เพื่อความสุขของผู้ป่วย เราทีมสู้มะเร็งต้องรอบคอบทุกด้านครับ



วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความอ้วนกับโรคมะเร็ง


ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

ในกิจกรรมวันมะเร็งโลกที่ผ่านมา มีหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจซึ่งจัดโดยศูนย์มะเร็งโฮลิสติคโรงพยาบาลไทยนครินทร์ที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจ และคงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่น้อยในการนำมาเล่าสู่กันฟังในเรื่อง ความอ้วนกับมะเร็ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าความอ้วน สามารถก่อให้เกิดปัญหามากมาย ที่พบบ่อยและเราคุ้นเคย คือ เรื่องปวดเข่า ซึ่งเดิมจะพบเห็นมากในชาวตะวันตกยุโรป อเมริกา แต่ปัจจุบัน คนไทยเราก็กำลังตามหลังในโรคนี้มาอย่างติดๆ                 

แต่วันนี้ผมจะถ่ายทอดข้อมูลเรื่องอ้วนกับโรคมะเร็งจากเอกสารเผยแพร่ของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ โดย นายแพทย์ อาคม เชียรศิลป์  ซึ่งมีความน่าสนใจ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายได้ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือ อ้วน จะมีระดับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) สูง ในขณะเดียวกันมีฮอร์โมนที่มีลักษณะเหมือนอินซูลิน (Insulin-like growth factor (IGF-1)) สูง ซึ่งฮอร์โมนนี้มีคุณสมบัติทำให้เซลล์เจริญเติบโตได้ จึงมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางชนิด

2. เซลล์ไขมัน (Adipocytes) อาจมีผลโดยตรงหรือทางอ้อมต่อสารกำกับหรือควบคุมการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อ (Tumor Growth Regulation) เช่น mTOR (Mammalian Target of Rapamycin) และ AMP-Activated Protein Kinase

3. คนอ้วนและผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีกระบวนการอักเสบเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลาหรือยังไม่แสดงอาการแบบเฉียบพลัน (Subacute) ซึ่งการอักเสบถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง

4. ไขมันทำหน้าที่เสมือนต่อมไร้ท่อ คือสร้างฮอร์โมนที่ส่งผลต่อร่างกายมากมาย ทั้งที่ดีและไม่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยพบว่านอกจากสารที่ไม่ดีดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ไขมันยังสร้างสารชนิดหนึ่งที่ให้ผลดีต่อการดำเนินของโรค ได้แก่ Adiponectin ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและลำไส้ที่มี Adiponectin สูง จะส่งผลต่อการรักษาที่ดีกว่า

ทั้งนี้ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคมะเร็ง พบว่าความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และมีผลต่อพยากรณ์โรค หรือผลการรักษา ในกลุ่มมะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน  มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งระบบเลือด ชนิด ALL (Acute lymphoblastic leukemia) ในกลุ่มวัยวัยรุ่น

ท่านผู้อ่านที่สงสัยว่าตนเองจัดว่าอ้วนหรือไม่  ก็ลองคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ Body mass index หรือ BMI ที่เป็นการประเมินง่ายๆ ด้วยสูตร

BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม) ÷ ด้วยส่วนสูง (เมตร) กำลังสอง




โดยถ้าได้ค่ามากกว่า 25  ถือว่าน้ำหนักเกิน และมากกว่า 30 ถือเป็นโรคอ้วน  หรือใช้เกณฑ์ เส้นรอบเอวมากกว่า 80 ซม. ในเพศหญิงและ 90 ซม. ในเพศชาย

ปัจจุบันเรื่องอ้วนและน้ำหนักเกินเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลเสียแล้วพยายามควบคุมด้วยวิธีการต่างๆโดยไม่ต้องต้องพึ่งยาลดความอ้วน ซึ่งท่านสามารถหาความรู้หรือคำแนะนำจากแหล่งข้อมูลทั่วไปได้อยู่แล้วนะครับ เรามาเริ่ม ลดอ้วนลดมะเร็งกันเถอะครับ