วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

มาป้องกันปากมดลูกให้ปลอดภัยจากโรคมะเร็ง



NCCC (National Cervical Cancer Coalition) เป็นองค์กรหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่จัดตั้งขึ้นในปี 1996    เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร   มี วัตถุประสงค์เพื่อให้คำแนะนำและดูแลสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV และมะเร็งปากมดลูก

ต่อมาได้รวมกับ American Sexual Health Association (ASHA)   ซึ่งเป็นสมาคมที่ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ   การจัดกิจกรรม อย่างต่อเนื่อง  เพื่อสื่อสารกับสังคมให้สนใจเกี่ยวกับปากมดลูก   โดยเน้นเรื่องการติดเชื้อไวรัส HPV  กับ ความจำเป็นของการตรวจค้นหาและป้องกันมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรก   

ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้เดือนมกราคมเป็นเดือนแห่งการตระหนักถึงภัยเกี่ยวกับปากมดลูก คนไทยก็มีสถิติผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปากมดลูกสูง เราจึงมาช่วยกันรณรงค์เผยแพร่ให้ความเข้าใจการป้องกันก่อนเกิดโรคให้มากขึ้นนะครับ              
   
เนื่องจากบล็อกนี้ได้ลงบทความเรื่องมะเร็งปากมดลูก และ ไวรัส HPV มาหลายครั้งแล้ว วันนี้ ผมจึงเรียบเรียง เรื่องการรักษามะเร็งปากมดลูก ในปี 2015  เพื่อความรู้ความเข้าใจกันเพิ่มมากขึ้นอีก

ในการรักษามะเร็งปากมดลูกนั้น  แบ่งเป็นระยะตามมาตรฐาน FIGO  ซึ่งแน่นอนที่สุด การป้องกัน การตรวจค้นในระยะเริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเซลล์ ที่เรียกว่า Pap smear หรือที่ก้าวหน้ามากในปัจจุบันที่เราเรียกว่า การตรวจ  HPV DNA ทำให้พบผู้ป่วยในระยะก่อนเป็นมะเร็ง และมะเร็งในระยะเริ่มแรกมากขึ้น   ทำให้สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด   นำไปสู่โอกาสหายขาดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  และในอนาคตเรายังฝากความหวังที่การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่จะเป็นตัวก่อมะเร็งบ่อยๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้ สร้างความหวังที่จะทำให้มนุษย์เรา ปลอดภัยจากโรคมะเร็งปากมดลูก ในอนาคต

แต่ในปัจจุบัน มะเร็งปากมดลูก ยังเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ของผู้หญิงไทย เรามีผู้ป่วยรายใหม่ เกือบหมื่นคนต่อปี และยังเสียชีวิต ถึง เกือบ 5,000 รายต่อปี  ซึ่งจากสถิติในทุกสถาบัน เราพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระยะลุกลาม คือ ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้  บางส่วนยังดื้อต่อการรักษา บางส่วน ก็มีข้อจำกัดในการรักษาแบบมาตรฐาน เช่น ไม่สามารถให้ยาเคมีบำบัดได้ การรักษามะเร็งในระยะลุกลามนี้ จึงยังเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาแนวทางการรักษาให้ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม   
                           
การรักษามาตรฐานในมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม คือ การใช้รังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งได้รับการประกาศโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของอเมริกา และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกในปี 2000  ในการใช้ยาเคมีบำบัดที่ชื่อว่า  Cisplatin ร่วมกับรังสี แทนการใช้รังสีอย่างเดียว และต่อมาก็มีการพัฒนาการใช้ยาเคมีบำบัดใหม่ๆเข้ามา เช่น Gemcitabine

ที่น่าสนใจ คือ ผลการรักษายังอยู่ในระดับ 60-80 % ตามระยะโรคที่เป็น  การเหลือของรอยโรค การกลับเป็นใหม่ หรือ การไม่ตอบสนองต่อการรักษายังมีปรากฏให้เห็น 

แนวทางอื่นๆ ที่เริ่มมีการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชนิดของยา การเพิ่มชนิดยาเคมี เช่น Gemcitabine หรือ ยามุ่งเป้า ( Targeted Therapy ) ก็อยู่ในวงจำกัด ด้วยภาวะแทรกซ้อน และราคาที่แพง 

ที่น่าสนใจมากขึ้น และเป็นความหวังหนึ่ง ที่จะช่วยผู้ป่วยได้มากขึ้น คือ การใช้ความร้อน เรียกว่า Hyperthermia   ซึ่งมีรายงานการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ถึงผลการรักษาที่ดี ในระยะลุกลาม   รวมทั้งกลุ่มที่กลับเป็นใหม่ และกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาเคมีบำบัดได้

เห็นไหมครับว่า เราจะดูแลปากมดลูกให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ตั้งแต่การป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV การตรวจค้น และรักษาให้หายขาดได้ แม้แต่มะเร็งที่ร้ายที่สุด  เราก็มีการพัฒนาแนวทางการรักษามาโดยตลอด เชื่อว่าในอนาคต ปากมดลูกจะปลอดภัยจากโรคมะเร็งครับ
                    
                     






วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง ตอน การปฏิบัติตัวอย่างง่ายๆเพื่อความสุขของผู้ป่วยมะเร็ง


บทความที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงความเครียดที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเกิดโรคมะเร็ง วันนี้เราจะมาพูดถึงการปฎิบัติตัวอย่างง่ายๆ เพื่อความสุขของผู้ป่วยมะเร็งนะครับ

ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
ผู้ป่วยบางรายที่เริ่มเครียดตั้งแต่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง แล้วขจัดความเครียดโดยไม่ถูกวิธี จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อโรคและการรักษา  เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า   รวมทั้งการไปในสถานที่แออัด    ในที่ชุมชนต่างๆ  เช่นตลาด หรือ โรงภาพยนตร์  

บางรายเครียดที่ต้องนอนอยู่กับเตียง ไม่ได้ทำกิจกรรมซึ่งเคยทำตามปกติ  มีความเบื่อหน่ายไม่อยากรับประทานอาหาร บางรายเรียกหาแต่ของกินเล่นที่ชอบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

ผู้ป่วยที่เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล กลัวจนสู่ภาวะสิ้นหวังถึงกับไม่ตั้งใจรับการรักษาไม่ยอมดูแล สุขภาพ ไม่สนใจในเรื่องการรับประทานอาหารที่มีผลดีต่อโรคตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อความแข็งแรง ของร่างกาย อาจจะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้สูญเสียก่อนเวลาอันควร  

การบริหารจัดการที่ดีในการรับมือกับความเครียด จะลดความเสี่ยงเหล่านี้ลง การดูแลทางจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดด้วยวิธีการที่ไม่ยากต่อการปฏิบัตินัก ดังนี้

การฝึกการผ่อนคลายและการฝึกสมาธิ (Training in relaxation,meditation)
การผ่อนคลายความเครียดนั้น   หมายรวมถึงภาวะกายและใจ  ทางกายนั้นให้พยายามฝึกกล้ามเนื้อให้มีการหย่อนคลาย    วิธีการปฎิบัติที่ง่ายๆ  คือ การพยายามให้ตนเองอยู่ในลักษณะที่สบาย ปลอดโปร่ง  ใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ แต่หากยังคงใส่ชุดทำงานปกติ   อาจคลายปมที่รัดตัวเองอยู่ เช่น เสื้อนอก เนคไท ผ้าพันคอ เพื่อไม่ให้อึดอัด

ในเวลาที่ทุกอย่างดูวุ่นวายรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน หรือไม่ว่าภาวะใด ที่ทำให้เราต้องเครียดจากสิ่งเร้าต่างๆ ให้เราฝึกใจให้ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบตาม ได้แก่ การหายใจให้ช้าลง หายใจเข้าช้าๆลึกๆ กลั้นใจนิดหนึ่ง  หายใจออกอย่างช้าๆให้สุด เหมือนเวลาทำสมาธิ  ภาวะเหนื่อยหายใจไม่ออก มึนศีรษะ     จะดีขึ้นอย่างทันตาเห็น

การทำสมาธิมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบ ปล่อยวาง หากผู้ป่วยไม่ทราบจะทำแบบไหน ไม่เคยศึกษามาก่อน ก็ขอความช่วยเหลือจากญาติเพื่อนฝูงหรือสถานปฏิบัติธรรมที่น่าเชื่อถือ เพื่อศึกษาแนวทางปฎิบัติ อย่างไรก็ตาม ในการทำสมาธินั้น ไม่ได้หมายถึงการที่ต้องเดินทางไปวัดหรือ สำนักวิปัสสนาเท่านั้น แม้แต่ผู้ป่วยต้องอยู่คนเดียวนานๆ   เราก็สามารถทำได้ โดยเลือกทำอะไรที่ชอบ ให้เกิดความเพลิดเพลิน เช่น การเล่นเกมส์ ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง

ผมมีผู้ป่วยอยู่คนหนึ่งที่ชอบเล่นเกมส์มาก  เป็นผู้ใหญ่แล้ว พี่สาวที่ดูแล  จะแสวงหาเกมส์ใหม่ๆ ที่สนุกมาให้เล่น  ซึ่งจะช่วยให้เพลิดเพลิน ส่งผลให้ลดอาการปวดทั้งความถี่ และความรุนแรง  โดยเฉพาะช่วงที่เล่นเกมส์ ผู้ป่วยจะสดชื่นขึ้น และลืมอาการปวดนั้น การใช้ยาก็จะห่างและปริมาณน้อยลง

ให้เวลากับตัวเอง ได้คิดได้ตั้งสติ ทำใจให้ช้าลง ปล่อยวางงานต่างๆ คลายความกังวลลง   ลองทำไปเรื่อยๆจนกลายเป็นธรรมชาติ  แต่เมื่อไรที่รู้สึกว่าเริ่มเศร้า เหงาท้อแท้หดหู่  ให้ติดต่อใครสักคนที่คิดว่าช่วยเราได้   อย่าพยายามจมดิ่งกับแนวคิดในทางลบ ก็จะเป็นผู้ป่วยที่สามารถรับมือกับผลกระทบต่างๆได้ดีขึ้น

การออกกำลังกาย  ( Exercise )
การออกกำลังกาย ที่ปลอดภัย เหมาะสม ไม่หักโหม ตามอายุและสภาพของโรค จะทำให้เกิดการผ่อนคลายความเครียดได้    ที่ง่ายที่สุด คือ การเดินหรือวิ่งช้าๆ นอกจากจะกระตุ้น ให้ร่างกายมีการหลั่งของเอ็นดอร์ฟินแล้ว  ซึ่งจะมีผลทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน ลองลุกออกจากที่นอน เดินรอบห้อง เหมือนเดินจงกรม ผ่อนการหายใจ จนกระทั่งการออกนอกห้องที่อุดอู้ไปสู่ภายนอก จะเป็นสวน หรือ อีกห้องที่มีบรรยากาศที่แตกต่างจากห้องนอน ก็จะรู้สึกมีความสุขมากขึ้น
ขอเน้นอีกครั้งว้า การออกกำลังกายต้องเหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลว่าทำได้หรือไม่  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือมะเร็งที่กระจายหรือมีโอกาสกระจายไปที่กระดูก จะต้องไม่หักโหม จนเสี่ยงต่อการหักได้

ดนตรีบำบัด (Musical Therapy)
ดนตรีบำบัด  เป็นศาตร์หนึ่งที่น่าสนใจ  จะ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส และสมองเรา หลายคนผ่อนคลายด้วยการฟังเพลง  แต่ระวังในการเลือกเพลงด้วยโดยเฉพาะเพลงเศร้าๆ ควรเป็นเพลงที่ฟังแล้วสนุก ครึกครื้น  แต่บางครั้งที่ต้องการความสงบหรือการพักผ่อน ก็อาจจะใช้เพลงบรรเลง ที่ฟังได้อย่างไม่มีขอบเขต ที่สามารถปล่อยอารมณ์ไปเรื่อยๆ ที่ไม่ได้ให้ความใส่ใจในความหมายของเพลง เชื่อว่าการผ่อนคลายนี้ จะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น

ยังมีอีก 2 วิธีที่ต้องอาศัยบุคลากรของโรงพยาบาลในการจัดให้เกิดขึ้น คือ การเรียนรู้ทางด้านโรคมะเร็ง (Cancer Education) เพื่อให้เข้าใจ ให้มีความหวัง รู้ทิศทางและโอกาสความเป็นไป เพื่อการรับมือที่ถูกต้อง  อีกวิธี คือ การจัดกลุ่มสนทนา (Group Therapy) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน   ซึ่งบางโรงพยาบาลได้มีการดำเนินการอย่างน่าชื่นใจยู่แล้ว
หวังว่าท่านผู้อ่านในทีมสู้มะเร็งของเรา ไม่ว่าผู้ป่วย ญาติ บุคลากรทางการแพทย์ คงจะให้ความสำคัญเรื่อง ความเครียดของผู้ป่วยมะเร็ง  ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างง่ายๆ ควบคู่ไปกับการรักษาหลัก เพื่อความสุขของผู้ป่วยนะครับ



วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ความเครียดกับโรคมะเร็ง ตอนที่ 4: Slow life ชีวิตที่พอเพียง

ภาพประกอบ: http://www.greentrendy.com/
Slow life เป็นคำที่ใช้กันอย่างทั่วไป   ในแนวคิดเพื่อเป็นการติดเบรกสังคมที่ก้าวหน้าในทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่คนไทยคุ้นเคยก็จะเป็นของญี่ปุ่น เราจะมาดูกันว่า ทำอย่างไร เพื่อเป็นแนวคิด ซึ่งเราจะทำได้มากน้อย ก็คงมีส่วนช่วยในการลดความเครียด และโรคมะเร็ง

การประกาศเป็นเมือง  Slow Life City  ของเมือง  Kakegawa ในศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นจากคนในเมืองร่วมมือร่วมใจกันเสียสละเพื่อสังคม จุดมุ่งหมายสำคัญคือต้องการให้ทุกคนมีวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น  โดยยึดหลักการปฏิบัติ 8 แนวทางดังนี้

1.     Slow Pace    เห็นคุณค่าของการเดิน    เพื่อสุขภาพที่ดีและช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิด
         จากการจราจร
2.     Slow wear    รณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่เครื่องแต่งกายตามๆประเพณีดั้งเดิมที่   
         สวยงาม   (kimonos, yukuta )    รวมทั้งการทอการย้อมผ้า
3.     Slow Food   รักษาวัฒนธรรมการรับประทานอาหารญี่ปุ่น  พิธีการชงชา
         เครื่องปรุงพื้นเมืองที่ปลอดภัย
4.    Slow House  ปลูกสร้างบ้านแบบญี่ปุ่นโบราณ ด้วยไม้ ไม้ไผ่หรือกระดาษ ซึ่งมั่นคงถาวรเป็นร้อยสองร้อยปี  ใช้วัสดุธรรมชาติที่ทนทานแข็งแกร่งในการทำสิ่งของและคำนึงถึงการรักษาสภาวะแวดล้อม
5.  Slow Industry การระวังดูแลรักษาป่าไม้ การกสิกรรมเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์โดยอาศัยแรงงานคน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นต้น หลีกเลี่ยงอุตสาหกรรมมีมลพิษ      
6.   Slow Education ให้ความสำคัญกับการ สร้างสรรค์สังคมให้ประชาชนเพลิดเพลินกับงานอดิเรก กีฬา โดยทุกวัยมีความสัมพันธ์สื่อสารกันได้ด้วยความเข้าใจมากกว่าความเป็นเลิศทางวิชาการ
7.     Slow Aging    คือ  การมุ่งหวังจะมีชีวิตที่ยืนยาว  ด้วยคุณธรรมและมั่นใจในตนเองตราบอายุขัย
8.  Slow Life   ด้วยปรัชญาการดำเนินชีวิตที่กล่าวข้างต้น จะอยู่กับธรรมชาติและฤดูกาล รักษาทรัพยากรและพลังงานนำมาซึ่งความพร้อมสู่ชีวิตที่ดีขึ้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของแนวคิด slow life ในประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งผมพยายามถ่ายทอดจากคำประกาศ ซึ่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่ก็ไม่ยากเกินไป   ความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเกื้อหนุนกัน เป็นสิ่งที่มีในจิตใจคนไทยมายาวนาน อาศัยการร่วมมือ ปรับเปลี่ยนทางสังคมและธุรกิจท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง


เรามีแนวทางตามพระราชดำริ ชีวิตพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่   ศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติกันจริงจัง ค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆไม่เร่งรีบ   หลีกเลี่ยงความเครียด เพื่อวิถีชีวิตชาวไทยที่มีคุณภาพ จิตใจผ่อนคลายมีความสุขสบายกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เราก็ได้ลดความเสี่ยง และอันตรายจากโรคมะเร็ง  ครับ

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

ความเครียดกับโรคมะเร็งตอนที่ 3: เรามาดูกันว่า เราน่าจะเครียดหรือไม่

เรามาดูชีวิตจริงของคนคนหนึ่ง ที่สนุกกับงานที่ชอบและท้าท้าย   ทำงานเช้าสายบ่ายเย็นมืดค่ำในหกวันของสัปดาห์

ตื่นตั้งแต่  04.30 น.  อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหารเช้า รีบไปที่ทำงาน กลัวรถติด ถึงที่ทำงานก่อน 7 โมงเช้า  ลงมือทำงาน  ใช้ชีวิตแบบใจบินเร็วกว่าเครื่องบิน สมองใช้งานพุ่งเหมือนจรวด จบงานหนึ่ง เริ่มอีกงานหนึ่ง อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง

มีคำถามทั้งจากตัวเองและคนรอบข้างว่า เมื่อไรจะหยุด...

หันกลับไปดูหลานซึ่งกำลัง เรียน ป.1 ชีวิตของเด็กน้อยแทบจะไม่ต่างกับผู้ใหญ่   ตื่นนอนแต่เช้า ซึ่งน่าจะเรียกว่า แซะออกจากที่นอนเพื่อ รีบอาบน้ำแต่งตัว ทานอาหารเช้า ออกจากบ้านตั้งแต่เช้า ด้วยกลัวรถติด เรียนถึงเย็น  บางวันแถมยังมีไปเรียนดนตรี ภาษาอังกฤษ ว่ายน้ำ (ตามธรรมเนียมปฏิบัติของเด็กสมัยนี้ที่ต้องขวนขวายทุกอย่างเพื่อให้ได้เท่าทันเพื่อ )  กลับบ้านยังมีการบ้านอีก  2-3 ทุ่ม กว่าจะได้เข้านอน
เมื่อครั้งที่เรียนอนุบาล มีผู้สนับสนุนให้ย้ายไปเรียน ป.1 ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง กลางเมือง ก็ตัดสินใจเลือกเรียนโรงเรียนชานเมือง แบบสบายๆ ไม่ต้องรถติด ไม่ต้องเครียด  ไม่ต้องแต่งตัวหรือ กินอาหารเช้าบนรถ  แต่ไม่นาน  ความเจริญก็มาถึง ด้วยห้างสรรพสินค้า และตึกใหญ่ รถก็เริ่มติดที่หน้าปากซอยตั้งแต่เช้าก่อนหลังหกโมงครึ่ง

ผมนึกถึงภาพยนตร์ สารคดีเรื่องหนึ่งที่เปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน
ภาพปัจจุบัน  :  เด็กรีบขึ้นรถ พ่อแม่ขับออกทันที ผ่านลุงสูงอายุที่อยู่ข้างบ้าน นั่งเหม่อมองเห็นรถวิ่งผ่านไป  โดยไม่มีการทักทาย
ภาพอดีต  :  เด็กเดินผ่านหน้าบ้านลุงคนนั้น   เพื่อไปโรงเรียน หันมายิ้มทักทาย ลุงยิ้มรับอย่างมีความสุข ไม่มีรถ  แต่มีความสุขครับ  เผื่อแผ่ ถึงผู้เฒ่าได้ชื่นใจด้วย
ผมจำภาพในสารคดีนี้ติดตาครับ เราอยากได้ภาพเป็นอยู่ที่เรียบสงบ มีความสุข จึงเป็นที่มาของคำว่า slow life ซึ่งเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาแตะเบรก ความเร่งรีบ ของสังคมปัจจุบัน    ที่เราต้องเร่ง เพื่อทำให้ทัน  ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่ การใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง   งานสังคม เรียกว่าวิ่งกันแทบไม่ทัน

พื้นฐานของความคิด น่าจะมาจากความรู้สึก  วิถีชีวิตที่เร่งรีบ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงเครื่องจักรในการผลิตสินค้าและบริการ  ท้ายที่สุด หลายประเทศ จึงแสวงหาดัชนีแห่งความสุขแทนดัชนีความเติบโตทางเศรษฐกิจ  เหมือนที่เรารู้จักกันดีถึงเรื่องประเทศภูฏาน หรือแม้แต่จังหวัดที่น่าอยู่ในประเทศไทย แทนที่จะเป็นกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยความเจริญทางวัตถุ กลับกลายเป็นต่างจังหวัดที่ไม่วุ่นวาย ไม่แออัด  การจราจรสะดวกสบาย ค่าครองชีพไม่สูง เช่น จังหวัดหนองคาย


เรากำลังจะสลายความเครียดด้วยบรรยากาศบ้านนอกกลับไปสู่วิถีชีวิตธรรมชาติ
กระแสการใช้ชีวิตที่ช้าลง เรียบง่าย จึงเกิดขึ้น  เริ่มเป็นที่มาของ  Slow Life  
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ ประเทศญี่ปุ่น   ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า  คนญี่ปุ่น  บ้างาน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ  หรือที่เรียกว่า  Workahollic     ด้วยวิถีชีวิตที่ รวดเร็ว ถูก สะดวก และ มีประสิทธิภาพ   fast, cheap, convenient, and efficient  ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่นำมา ซึ่งความเสื่อมของมนุษย์  การเจ็บป่วยของสังคม และ สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ   dehumanization, social ills, and environmental pollution

จนกระทั่งมีการประกาศตัวของชาวเมือง Kakegawa  ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว  ที่มีประชากรราว  80,000 คน   ได้ กำหนดเดือนพฤศจิกายน เป็น เดือนแห่งชีวิตที่ไม่เร่งรีบ Slow Life Month      มีวิถีชีวิตที่ผ่อนคลายและสุขสบาย   ขึ้นเป็นครั้งแรก   เพื่อเป็นต้นแบบของการกำหนดทิศทางในอนาคตของเมืองที่ไม่เร่งรีบ ซึ่งแน่นอนที่สุดที่จะต้องมีปัญหาในกลุ่มธุรกิจที่ต้องยอมรับระบบการทำงานที่เปลี่ยนไปและการเพิ่มวันหยุดที่มากขึ้น แต่นี่คือการสกัดความเครียดและการหาทางป้องกันความเครียดของ

สังคมคนเมืองอย่างเป็นรูปธรรมครับ

เราจะต่อด้วยวิถีชีวิต การก้าวสู่    Slow Life City ในศตวรรษที่ 21 ใน คราวหน้ากันนะครับ