วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

รายงานการประชุมวิชาการมะเร็งวิทยา ภาคพื้นยุโรป ECC ( European Cancer Congress ) ประจำปี 2015



จากการที่ผมได้มีโอกาสไปฟังประชุมใหญ่ ทางวิชาการด้านมะเร็งวิทยา ภาคพื้นยุโรปหรือ ECCO(European Cancer Congress) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2015 ณ กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย มีผู้เข้าร่วมประชุมหลายพันคน พร้อมวิทยากรทั่วโลก ที่มีความเชี่ยวชาญมาเสนอความก้าวหน้าทางการรักษาโรคมะเร็ง ผมจึงถือโอกาสนำความก้าวหน้าที่มีความสำคัญ มาเสนอให้ทีมสู้มะเร็งเราได้รับทราบ ซึ่งผมเลือกจากรายงานที่ถูกคัดเลือกนำเสนอใน Oncopost ซึ่งเป็นจุดเด่นของงาน ผมจะนำเสนอไปตามลำดับวันที่ประชุม โดยจะเขียนให้ง่าย แต่อาจจะเข้าใจยาก หากท่านผู้อ่านท่านใด ช่วยเสริมให้เข้าใจง่ายๆ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ของพวกเราครับ

1. การใช้รังสีรักษาร่วมกับภูมิคุ้มกันบำบัด

เป็นที่ทราบกันดีว่ารังสีรักษาเป็นหนึ่งในบทบาทหลักของการรักษามะเร็ง ในขณะที่ภูมิคุ้มกันบำบัดซึ่งเป็นสิ่งที่กล่าวถึงมานาน แต่หากจะนับว่าเป็นแนวทางในการรักษาโรคมะเร็งนั้น ยังถือว่ายังใหม่อยู่   การนำทั้งสองสิ่งมารวมกัน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เป็นที่ยอมรับว่า รังสี สามารถก่อให้เกิดการตายของเซลล์ โดยผ่านทางกระบวนการภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการหลั่งสารสื่อกลางของการอักเสบ (Inflammatory Mediator) กลุ่ม T-cel- Recruiting Chemokines , Interferon18  และ Tumor Necrosis Factor Alpha  และเพิ่ม Expression ของ Tumor Cell Antigen  ซึ่งจะถูกจับด้วย T-cells  นำไปสู่การทำลายเซลล์มะเร็ง

จากการเฝ้าสังเกต พบว่าการตายของเซลล์ไม่ได้เกิดเฉพาะในตำแหน่งที่ฉายรังสีเท่านั้น แต่เกิดในตำแหน่งอื่นๆที่เกิดจากการกระจาย เรียกว่า Abscopal Effect ซึ่งเป็นการยืนยันผลของรังสีในด้านระบบภมิคุ้มกัน แต่ผลนี้ อาจจะไม่เพียงพอในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ชัดเจน แต่นำไปสู่การใช้รังสีในการเสริมผลของภูมิคุ้มกันบำบัด โดยปัจจัยสำคัญ คือการเลือกชนิดภูมิคุ้มกัน ปริมาณรังสีต่อครั้ง และปริมาณรังสีรวม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะเกิดความแตกต่างในมะเร็งแต่ละชนิด

ในการศึกษาทางคลินิค พบว่า การใช้ร่วมกันของรังสีและภูมิคุ้มกันบำบัด มีความปลอดภัย สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลามหรือล้มเหลวจากการรักษาอื่นได้

มีรายงานซึ่งน่าสนใจของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีการกระจายและล้มเหลวจากการรักษาทางฮอร์โมน และ การใช้เคมีบำบัด Doctexel แต่ตอบสนองต่อการใช้ T-Lymphocyte Antigen-4 ( CTLA-4 ) Monoclonal Antibody , Ipilumumab หลังการฉายรังสี นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในอีกหลายโรค เช่น Melanoma และ Glioma 

ศาสตราจารย์ Alan Melcher จากมหาวิทยาลัย St Jame   ประเทศอังกฤษ  ได้กล่าวว่า การใช้รังสีรักษา เพื่อเสริมศักยภาพของภูมิคุ้มกันบำบัด ได้สร้างความตื่นเต้นต่อวงการแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาแบบที่มีค่ายิ่งในผู้ป่วยมะเร็ง

2. Renal Cell Carcinoma : Immunotherapies Extend Survival

สองรายงานการศึกษาที่น่าจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่จากการรักษาหลัก ในมะเร็งเซลล์ไต หรือ Renal Cell Carcinoma ในระยะลุกลามหรือมีการกระจายที่มีข้อจำกัด และผลอัตราการอยู่รอดต่ำคือ ศาสตราจารย์ Padmanee Sharma จาก MD Ander Cancer Center สหรัฐอเมริกา รายงานการใช้ยา Nevalumab ในการศึกษาแบบสุ่ม ได้อัตราการอยู่รอดเฉลี่ย 25 เดือนซึ่งสูงกว่า 19 เดือน ที่ใช้ยามาตรฐานเดิม Everolimus  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p= 0.0018) ในขณะที่มีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า

Nevolumab เป็น PD-1 Immune Checkpoint Inhibitor ซึ่งได้รับการอนุมัติในการใช้สำหรับมะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma และ มะเร็งปอดชนิด Non-small cell ผลการศึกษาในครั้งนี้ จะนำไปสู่มาตรฐานการรักษาในอนาคต

นอกจากนั้น ยังมีรายงานที่แสดงว่า Tyrosine Inhibitor Cabozantinib ก็ให้ผลการรักษาที่ดีเป็น 2 เท่า ในเรื่อง Progression-Free Survival  เมื่อเทียบกับยามาตรฐาน Everolimus 

ศาสตราจารย์ Toni Choueiri จาก Dana Farber Cancer Institute บอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงโอกาสการพัฒนาการรักษาต่อเนื่องโดยการร่วมกันของ Cabozantinib  กับ Immune Check Point Inhibitor  ในมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ

3. Long Term Benefits of Hyperthermia in Localized Soft Tissue Sarcoma

ในการประชุมวันที่ 2 ของ ECC 2015 นอกจากเรื่องภูมิคุ้มกันบำบัดที่เป็นเรื่องเด่นแล้ว ยังมีรายงานที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยศาสตราจารย์ Rolf Issels จากประเทศเยอรมัน ศึกษาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเนื้อเยื่อจำนวน 341 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด Etoposide / Ifosphamide/ Doxorubicin อย่างเดียว หรือ ร่วมกับ ความร้อน Hyperthermia  42 องศา  60 นาที ในวันที่ 1,4  ของการได้ยา

ในการติดตามเฉลี่ย 74 เดือนในกลุ่มที่ได้รับ Hyperthermia จะมีอัตราการอยู่รอดที่ยาวกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  15.4  ต่อ 6.2 ปี  อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี เท่ากับ 63 % ต่อ  51 %

ศาตราจารย์ Issels ได้ให้ข้อสรุปว่าการเพิ่ม Hyperthermia เสริมผลยาเคมีบำบัด ควรได้รับการพิจารณา เป็นมาตรฐานในการรักษา high –risk soft tissue sarcoma
(เอกสารอ่านเพิ่มเติม Issels RD, et al. Lancet Oncol 2010;11:561-70 และ Toraya-Brown S., et al Int J Hyperthernia  2014;30:531-9)


ผมหวังว่า ความก้าวหน้านี้ จะเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยผู้ป่วยมะเร็ง  ไม่ว่าจะเป็น Hope or Hype ความหวังหรือความเว่อร์ เราคงต้องใช้ดุลยพินิจในการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วย อย่าใช้ตามกระแสโดยขาดหลักฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ต้องพัฒนา เพื่อตรวจหาปัจจัยการตอบสนองที่แน่นอนที่สุด อย่างไรก็ตาม ความรู้ด้านพื้นฐานทางชีววิทยา กำลังนำไปสู่การพลิกมิติการรักษาโรคมะเร็งด้วย ความสัมพันธ์และความสำคัญทางคลินิค จากการะตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นยา ฮอร์โมน ความร้อน Hyperthermia และแม้แต่รังสีก็เพิ่งจะชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ครับ มีคนกล่าวว่า มาเร็วกว่าที่คิด  ผมเชื่อว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะชัดเจนมากขึ้นครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น