วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การแพทย์ผสมผสานและการแพทย์ทางเลือก: 10 แบบง่ายๆที่เลือกได้


การรักษามะเร็งแบบทางเลือก แม้จะไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งของท่านได้ แต่อาจบรรเทาอาการและอาการแสดงของโรคได้ คนที่เป็นโรคมะเร็งส่วนมากสนใจและพยายามทดลองอะไรก็ตามที่คิดว่าจะช่วยเขาได้ โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกสุขภาพของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงแย่ลงเรื่อยๆ การรักษาแบบทางเลือกอาจช่วยทำให้รู้สึกว่าจัดการแก้ไขปัญหาได้ แต่ทางเลือกหลายอย่างไม่ได้รับการพิสูจน์ บางอย่างก็อาจก่อเกิดอันตราย         

ลักษณะและอาการธรรมดา เช่น ความวิตกกังวล ความอ่อนล้า คลื่นไส้ และอาเจียน ความเจ็บปวด นอนหลับยาก เครียด อาจน้อยลงจากการรักษาเสริมแบบการแพทย์ทางเลือก ข้อสำคัญ คือ ควรปรึกษาวิธีเลือกของท่านร่วมกับหมอ เพื่อกำหนดความสมดุล ผสมผสานระหว่างการรักษาของหมอและแนวทางแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็มอาจช่วยลดเรื่องคลื่นไส้หรือความเจ็บปวด

ในที่นี้จึงขอเสนอวิธี ที่มีหลักฐานที่เกิดขึ้นเรื่อยๆว่า ทางเลือกทั้งสิบข้อนี้ อาจได้ผลที่จะช่วยให้รับมือและลดลักษณะหรืออาการที่มีผลข้างเคียงจากโรคมะเร็งและวิธีการรักษามะเร็ง 
              
1.การฝังเข็ม ผู้เชี่ยวชาญจะใช้เข็มเล็กๆจิ้มผ่านผิวหนังตรงจุดต่างๆกัน ที่ใช้มาก คือ ช่วยเรื่องอาการคลื่นไส้ จากการรับเคมีบำบัดและความเจ็บปวด การฝังเข็มที่ปลอดภัย ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาต โดยใช้เข็มสะอาดที่ฆ่าเชื้อแล้ว ทั้งนี้ท่านควรปรึกษากับหมอของท่าน เพราะการฝังเข็มจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีเลือดน้อยและมีปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ

2. การบำบัดด้วยกลิ่นหอม (Aromatherapy) โดยใช้น้ำมันหอมระเหย ทำให้ความรู้สึกสงบสบาย น้ำมันหอมระเหย มักใส่กลิ่น เช่นลาเวนเดอร์ ใช้ลูบไล้บนผิวหนังขณะนวดหรือใช้เติมในน้ำมันหอม  สามารถอบร้อน ส่งกลิ่นกำจายในอากาศ การบำบัดด้วยกลิ่นหอมช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ ความเจ็บปวดและความเครียด
การ บำบัดอาจทำโดยผู้ให้บริการโดยเฉพาะ หรือท่านอาจใช้ได้ด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าอาจจะมีโอกาสเกิดอาการแพ้ แต่ก็ปลอดภัย
3 .การบริหารร่างกาย ออกกำลังกายเบาๆ จะช่วยผ่อนคลายความอ่อนล้า ลดความเครียด ช่วยให้หลับดีขึ้น การศึกษาหลายแหล่งในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายช่วยให้คนที่เป็นมะเร็งอายุยืนยาวมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ถ้าหากโดยปกติท่านไม่ได้บริหารร่างกาย โปรดตรวจสอบกับหมอของท่านก่อนที่จะเริ่มออกกำลัง โดยเริ่มช้าๆค่อยๆเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าอย่างน้อยวันละ   30นาที   และ ให้ได้จำนวนวันมากที่สุดในหนึ่งสัปดาห์

4. การสะกดจิต เป็นการบำบัดขั้นลึกของภาวะที่จิตอยู่ในความสงบนิ่ง ระหว่างการสร้างการบำบัดจิตใต้สำนึก นักบำบัดจะสะกดจิตท่านด้วยการพูดคุยด้วยเสียงอ่อนนุ่มช่วยให้ทานผ่อนคลาย แล้วจะค่อยๆช่วยให้ท่านมุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายเช่น การควบคุมความเจ็บปวดและลดอาการเครียด รวมทั้งการเจ็บปวด

ทั้งช่วยป้องกันอาการที่คาดว่าอาจจะเกิด  เช่น  คลื่นไส้ อาเจียน จากยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีอาการมาก่อน

การบำบัดโดยนักบำบัดที่ได้รับการรับรองก็จะปลอดภัย แต่จะต้องบอกนักบำบัด ถ้าหากท่านมีประวัติปัญหาป่วยทางจิตมาก่อน

5. การนวดกล้ามเนื้อ ระหว่างการนวด ผู้เชี่ยวชาญจะบีบเฟ้นกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น พยายามที่จะให้กล้ามเนื้อตึงเครียดคลายตัว ลดความเครียดและช่วยผ่อนคลาย การนวดมีอยู่หลายวิธี สามารถนวดแบบเบานุ่มนวลหรือแบบเพิ่มแรงนวดเฟ้น  การศึกษาพบว่าการนวดช่วยให้บรรเทาความวิตกกังวล  ความอ่อนล้า เพลียและภาวะเครียด

ศูนย์มะเร็งหลายแห่งมีผู้บำบัดการนวดประจำศูนย์   ที่มีความรู้ที่ทำงานนวดผู้เป็นมะเร็งเป็นปกติอยู่แล้ว

ข้อสำคัญ ควรงดเว้นการนวด หากท่านมีเม็ดเลือดต่ำ ควรหลีกเลี่ยงใกล้รอยแผลที่ผ่าตัด หรือบริเวณที่ฉายรังสีหรือมีเนื้องอก ถ้าเป็นมะเร็งที่กระดูกหรือมีโรคกระดูกใดใด เช่นกระดูกพรุน ต้องขอให้ผู้ทำการบำบัดนวดแบบเบามือแทนการกดแรงๆ  ที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการหักของกระดูกได้

6. การทำสมาธิ  เป็นการรวบรวมความสนใจในขั้นลึก เมื่อท่านเพ่งใจของท่านสู่ภาพจินตนาการจุดหนึ่ง หรือเสียง หรือความคิด โดยเป็นการคิดในแง่บวก ขณะทำสมาธิท่านอาจหายใจลึก เพื่อการผ่อนคลายไปด้วย ช่วยลดความวิตกกังวลหรือความเครียด โดยทั่วไปการทำสมาธินั้นปลอดภัย ทำด้วยตนเองสักสองสามนาที  ครั้งสองครั้งในหนึ่งสัปดาห์ หรือในห้องเรียนที่มีครูผู้นำสอนทำสมาธิ

7. การบำบัดด้วยดนตรี  ระหว่างการทำดนตรีบำบัด ท่านอาจฟังดนตรี  เล่นเครื่องดนตรี  ร้องเพลงหรือแต่งเพลง ผู้เชี่ยวชาญจะนำท่าน ทำในสิ่งที่ท่านต้องการโดยเฉพาะ หรือท่านอาจเข้าร่วมกับกลุ่มดนตรีบำบัด ซึ่งอาจช่วยให้ท่านบรรเทาอาการปวด ควบคุมภาวะคลื่นไส้และอาเจียน

การบำบัดด้วยดนตรีปลอดภัย ไม่ต้องการความสามารถพิเศษทางดนตรีในการเข้าร่วม ศูนย์รักษามะเร็งหลายแห่ง มีนักดนตรีบำบัดที่ได้รับประกาศนียบัตรอยู่ประจำ

8. การผ่อนคลายอารมณ์ การเพ่งความตั้งใจในการทำให้จิตใจสงบและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งจะรวมถึงกิจกรรมหลายอย่าง เช่นการบริหารสายตาด้านการมอง หรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง    เทคนิคการผ่อนคลายจะช่วยบรรเทาความวิตกกังวล. ความอ่อนล้าช่วยให้นอนหลับดีขึ้น 

9. ไทเก๊ก เป็นรูปแบบของการออกกำลังกาย ซึ่งรวบรวมการเคลื่อนไหวแบบนุ่มนวลและหายใจลึกร่วมกัน สามารถทำตามครูหรืออาจเรียนจากตำราหรือ วีดิโอ ไทเก๊กโดยทั่วไปจะปลอดภัย เป็นการเคลื่อนไหวช้าๆ ไม่ต้องใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายและง่ายต่อการปรับให้เข้ากับความสามรถของเราเอง แต่ท่านจะต้องพูดคุยกับหมอก่อนเริ่มการฝึก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความผิดปกติในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

10. โยคะ เป็นการฝึกยืดเส้นยืดสายกับการหายใจลึกๆ ระหว่างการทำโยคะ มีการจัดท่าของร่างกายในแบบต่างๆ เช่น ก้ม โค้ง หรือชันเข่า มีการงอ หรือ ยืดตัว ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีโรคในตำแหน่งต่างๆกัน โยคะทำให้ลดความเครียด หลับดีขึ้น อ่อนเพลียน้อยลง
                 
ผมตั้งใจเขียนเรื่องนี้ เพื่อให้ทีมสู้มะเร็งเราเข้าใจว่า การรักษาเสริมเป็นการรักษาที่ทำได้และมีประโยชน์ ควรผสมผสานให้ถูกต้องโดยเรื่องนี้นำมาจากบทความของ โรงพยาบาล เมโย สหรัฐอเมริกา เพื่อให้เห็นว่าพัฒนาการรักษามะเร็งมีได้หลากหลายทิศทาง ดังนั้นไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงให้จับหนูได้ ก็เพียงพอ เรามาร่วมมือกัน เพื่อผู้ป่วยมะเร็งกันเถอะครับ



1 ความคิดเห็น: