วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

ตอบคำถามเรื่องการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง


ความตั้งใจเดิม Blog นี้จะเป็น Blog ที่ให้ความรู้ โดยทีมหมอมะเร็ง แต่เมื่อมีคำถามจากผู้อ่านก็จะพยายามช่วยให้ความรู้ ในบางกรณีอาจมีข้อจำกัดทางด้านข้อมูล การตอบคำถามจึงอาจจะเป็นคำตอบแบบกว้างๆ พอเป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาเท่านั้น   ส่วนการวางแผนการรักษามะเร็งที่แท้จริงนั้น  ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลท่านเป็นหลัก

ถาม : คุณพ่อผมอายุ 65 ปี ถ่ายเป็นมูกเลือด หมอตรวจและ ตัดเนื้อพิสูจน์แล้ว
          ยืนยันว่าเป็นมะเร็งเร็คตัม ควรจะไปรักษาที่ไหนดีครับ

ตอบ : การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง หรือที่คุณเรียกว่า มะเร็งเร็คตัมนั้น ขึ้นอยู่ปัจจัยหลัก  2 ประการ คือ

1.   ระยะของโรค
2.   ตำแหน่งที่เป็น
เพราะจะเป็นปัจจัยในการเลือกว่าจะผ่าตัดก่อน หรือ การให้รังสีร่วมกับยาเคมีบำบัดก่อน
อีกประการคือ ตำแหน่งอยู่สูงเพียงพอเก็บหูรูด ซึ่งหมายถึงการเก็บทวารหนัก เพื่อให้ขับถ่ายได้ตามปกติ หรือ ต้องใช้ถุงหน้าท้อง ซึ่งก็คือ การต้องนำลำไส้ใหญ่ออกทางหน้าท้อง

ส่วนการเลือกสถานที่รักษานั้น ต้องขึ้นอยู่กับภูมิลำเนาของเรา ความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพราะ การรักษามะเร็งเป็นการรักษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของการรักษาที่หากต้องให้ยาเคมีบำบัด ร่วมกับรังสี ต้องใช้เวลาหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของโรงพยาบาลนั้นๆก็จะเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การมีความพร้อมและศักยภาพในการผ่าตัด มีการให้ยาเคมีบำบัด และมีรังสีรักษา ความจำเป็นต่างๆเหล่านี้ ทั้งนี้สามารถปรึกษาศัลยแพทย์ผู้ดูแล เพราะอาจจะมีรายละเอียดในการรักษาขั้นต่อๆไป เช่น อาจจะต้องมีการรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดหรือการรักษาก่อนผ่าตัดหรือไม่  นอกจากนี้ความพร้อมในสถานพยาบาลที่ส่งต่อมีหรือไม่  เพราะถ้าเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในจังหวัดใหญ่ๆ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการผ่าตัด แต่ต้องมีการส่งต่อเพื่อการรักษาต่อเนื่อง เช่นการฉายรังสีและยาเคมีบำบัด

อย่างที่หลายคนทราบ มหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆก็จะมีความพร้อม  แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องความสะดวก เพราะมีคิวการรักษาที่ค่อนข้างยาว   ดังนั้นถ้าอยู่ในที่ใกล้มหาวิทยาลัยก็สามารถพิจารณาเลือกได้ แต่หากท่านอยู่ต่างจังหวัด ก็อาจจะพิจารณาเลือกศูนย์มะเร็งต่างๆที่มีกระจายอยู่ทุกภูมิภาค  ก็จะได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน


ในส่วนของการเลือกโรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องพิจารณาในลักษณะเดียวกัน เพราะในเอกชนบางแห่งผ่าตัดจะเร็ว แต่อาจจะมีปัญหาด้านการส่งต่อที่ยังขาดการประสานงานหลังจากนั้น ซึ่งอาจจะทำให้เสียจังหวะของการรักษาที่เหมาะสมได้  ที่สำคัญที่สุดเรื่องของค่าใช้จ่าย ถ้าโรงพยาบาลเอกชนนั้นๆสามารถรักษาได้ครบทุกอย่าง ให้ประเมินค่ารักษาให้ครบคอร์ส คือตั้งแต่ต้นจนจบการรักษา รวมทั้งถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะแทรกซ้อนด้วย อย่างไรก็ดี มีหลายต่อหลายครั้งที่ประเมินผิด ทำให้ผู้ป่วยและญาติอาจประสพปัญหาทางการเงิน บางคนต้องย้ายสถานที่รักษากลางคันเนื่องจากปัญญาเรื่องค่าใช้จ่าย  ซึ่งถ้าการรักษามีการเชื่อมต่อที่ไม่เหมาะสม อาจจะส่งผลต่อการรักษา ทำให้ผลการรักษาไม่ดี หรือไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นได้ ดังนั้นการวางแผนเรื่องการเดินทางในการรักษา ศักยภาพทางการเงิน และความสามารถในการดูแลผู้ป่วยของญาติผู้ป่วยอีกด้วย

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 กันยายน 2557 เวลา 07:39

    ดีมากเลยค่ะทำให้เก็บเกียวข้อมูลไว้วางแผนการรักษาด้านอื่นด้วยว่างจะอานบทความอื่นต่อไป

    ตอบลบ