วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การหาความเห็นที่สองทางการแพทย์ ( SECOND MEDICAL OPINION) ตอนที่ 2

อย่างที่กล่าวถึงในการหาความเห็นที่สองในตอนที่แล้ว มาดูข้อควรคิดเมื่อต้องการหาความเห็นที่สองกันครับ

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

ข้อควรพิจารณาในเวลาที่คิดว่าเราจำเป็นต้องไปขอความเห็นที่สอง คือ

1. เรายังคงเป็นผู้ป่วยของแพทย์ท่านเดิม
2. ต้องแน่ใจว่า โรคไม่ได้อยู่ในสภาวะเร่งด่วน
3. การขอความเห็นที่สอง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ หรือเพิ่มโอกาสการรักษาที่อาจจะมี แม้แต่การรักษาเชิงวิจัย ก็ตาม
4. ควรขอ ความคิดเห็นที่สอง จากแพทย์ที่เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ และมีประสบการณ์มากเพียงพอ
5. ควรเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ให้พร้อม เช่น แฟ้มประวัติ ผลการตรวจทุกชนิด  และจะดีที่สุด ถ้าได้บทสรุปหรือจดหมายจากแพทย์คนแรกไปด้วย
6.  ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการรักษา เพื่อความรวดเร็วและถูกต้องในประเด็นการปรึกษา
7. ถ้าญาติเป็นผู้ดำเนินการ ควรจะนำผู้ป่วยไปด้วย เพราะการให้ความเห็นของแพทย์จะสมบูรณ์ เมื่อแพทย์ได้มีโอกาสตรวจผู้ป่วย
8. อย่าตั้งธงในคำตอบ เพราะเราจะพยายามถามให้ได้ข้อมูลที่เราเลือกเข้าข้างตัวเราเอง เช่น ไม่อยากผ่าตัด ไม่อยาก ฉายรังสีเป็นต้น
9. ควรตั้งประเด็นการถามเปรียบเทียบผลการรักษา ภาวะแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายและอื่นๆที่สงสัย
10. สถานพยาบาลที่มีแพทย์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษา โดยเฉพาะในโรงเรียนแพทย์ ที่มีการประชุมร่วมสหสาขา หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการวางแผนการรักษา Tumor Board หรือ Tumor Clinic  มีโอกาสได้รับความเห็นที่มั่นใจได้มากที่สุด                   

การขอ Second Opinion ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งในสมัยนี้
เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่ยังมีการพัฒนาการรักษาอย่างมาก ทั้งต่างวิธีการรักษา เช่น การการฉายรังสีแทนการผ่าตัด หรือในวิธีเดียวกัน เช่นการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมโดยการตัดทั้งเต้าหรือบางส่วน หรือ เทคนิคการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องในมะเร็งทางสตรี เป็นต้น บางวิธีก็ยังม่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน (ดูบท การรักษาเชิงวิจัย)

แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันยังเป็นเรื่องยากในระบบการแพทย์ไทยที่ต้องมีองค์ประกอบของความเข้าใจ ความกล้าของผู้ป่วย ความใจกว้าง และความเข้าใจของแพทย์ ประกอบกับใจของผู้ให้ความเห็นที่สอง

สิ่งที่เป็นแก่นของเรื่องนี้ คือ การเอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ทุกคนทำเพื่อผู้ป่วย ความเห็นยอมมีเหมือนและมีต่าง  การตัดสินใจใดๆไม่มีเส้นกั้น ถูกและผิด เพราะทางการแพทย์ไม่มีคำว่าร้อยเปอร์เซนต์ แต่เจตนารมย์ คือ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยครับ


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28 ธันวาคม 2557 เวลา 07:08

    ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำดีๆปัจจุบันหมอมีมากขึ้นหมอดีๆก็คงมีมากขึ้นหวังเช่นนั้นค่ะเพราะถ้าไม่กล้าก็คงจำกัดอยู่ในวงแคบ

    ตอบลบ