วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การหาความเห็นที่สองทางการแพทย์ (SECOND MEDICAL OPINION) ตอนที่ 1


บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อสร้างมิติใหม่ ในการช่วยผู้ป่วยและญาติ ในกรณีที่มีความสับสนในเรื่องโรค ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยหรือแผนการรักษา เพราะเรื่อง ความเห็นที่สองทางการแพทย์   เป็นสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย  แต่จะมีบริการเช่นนี้ในต่างประเทศ เพื่อให้ความคิดเห็น แต่ไม่ใช่การตัดสินใจ

วัฒนธรรมไทย ให้ความนับถือและเชื่อถือหมอ หมอว่ายังไงก็มักจะเชื่อตามนั้น ความสัมพันธ์แบบนี้ จริง ๆ แล้วก็มีข้อดี  เป็นความเข้าใจและผูกพันระหว่างหมอกับคนไข้ 

ถ้าเป็นทางธุรกิจ เราจะไม่แปลกใจ ที่จะเห็นบริษัทที่ปรึกษา ในรูปแบบของ Consultation   ช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อเอาชนะคู่แข่งขัน แต่ของเราเป็นการเอาชนะโรคนะครับ

เรื่องความเห็นที่สอง มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ โรคนั้นเป็นโรคที่วินิจฉัยและรักษายาก มีวิธีการรักษาสลับซับซ้อน เช่น โรคมะเร็ง หรือ เกิดจากความวิตกกังวลต่อวิธีการรักษา เช่น การผ่าตัดใหญ่ๆ   หากมีญาติหรือคนรู้จักเป็นหมอ ก็จะขอคำปรึกษากัน ลักษณะนี้จะคล้ายกับการขอความเห็นที่สอง แต่บางครั้งก็อาจจะไม่สมบูรณ์นักเพราะหมอ  ที่เรารู้จัก มีข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หรือไม่ มีความเอนเอียงในการตัดสินใจ โดยใช้ความรู่สึกของญาติมาเกี่ยวข้องหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการให้ความเห็นทั้งสิ้น
ความเห็นที่สองนี้ ไม่นับรวมการค้นหาข้อมูลทาง ไอที ด้วยตัวญาติหรือผู้ป่วยเอง ซึ่งยุคนี้ถึงกับเขียนกระทู้ถามเพื่อนๆชาวเน็ตก็มี

ขออนุญาตย้ำเตือนเรื่อง ข้อมูลทางไอที ไม่ว่าจะเป็น web หรือ blog ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง  เพราะแม้ข้อมูลจะถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า โรคของเราจะต้องรักษาแบบนั้นเสมอไปนะครับ ข้อจำกัดเพศ วัย สภาพร่างกาย ระยะโรค ล้วนเป็นปัจจัยในการตัดสินใจวางแผนการรักษา   

ในประสบการณ์ของผม ทุกครั้งที่ออกข่าวเทคนิคการรักษาใหม่ๆทางสื่อ ก็จะมีผู้ป่วยแห่มาจากทุกสารทิศ ซึ่งในจำนวนนั้น จะมีเพียงบางท่านเท่านั้นที่จะใช้เทคนิคนั้นได้

ดังนั้น การจะไปรักษาตามโรงพยาบาลที่มีการประชาสัมพันธ์วิธีการรักษาต่างๆ ที่อาจจะแตกต่างจากโรงพยาบาลที่เราตรวจรักษาอยู่   ควรอย่างยิ่งที่จะปรึกษาหมอของท่าน  ในการให้ความเห็นที่สองต่อ เทคโนโลยีนั้นๆ

จงเชื่อใจในจริยธรรมของแพทย์ แพทย์จะรักษาทุกคนเต็มสุดกำลังความสามารถในความรู้และเครื่องมือที่มีอยู่ แต่ถ้ามีสถาบันทางการแพทย์หรือในบริบทนั้น มีแพทย์ที่ทำได้ดีกว่า แพทย์จะแนะนำส่งต่อท่านไปเพื่อการรักษาที่ดีกว่า 

ข้อเสีย ที่เห็นได้บ่อยคือการแสวงหาความเห็นหลากหลายจนไม่ได้ข้อสรุป ความเห็นไม่ตรงกัน ระหว่าง ความเห็นที่หนึ่งและสอง หรือ 3,4 ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสในการรักษา โรคมะเร็งที่ลุกลามมากขึ้น  หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้การรักษาทำได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราต้องทำอย่างไร เพื่อได้ขอสรุปที่ถูกต้องที่สุด รวดเร็วที่สุด โปรดติดตามครั้งต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น