วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แป้งและมะเร็ง - หอม เนียน สวย แต่มีปัญหา


หอม เนียน สวย  สบาย ไม่อับชื้น เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ ทุกเพศ ทุกวัย ต้องการ โดยเฉพาะในเมืองร้อนแบบประเทศไทย

คงไม่ต้องสงสัย  แป้ง คือสิ่งที่เรานำมาใช้ตั้งแต่ทารกแบเบาะ  เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
แป้งมีส่วนผสมของ Talc ซึ่งจัดเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีชื่อทางเคมี คือ Magnesium Silicate Hydroxide  

คุณสมบัติหนึ่ง  คือ สามารถดูดซับความชื้น ทำให้พื้นผิวที่มันเคลือบอยู่แห้ง เนียนลื่น ให้ความรู้สึกเรียบ แห้ง สะอาด มีการนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น การทำสี เซรามิค การทำเครื่องสำอาง เช่น บลัชออน อายชาโดว์ และแป้ง โดยจะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของแป้งฝุ่นเกือบทุกชนิด รวมทั้งแป้งเด็กด้วย

การที่ Talc มีสีขาวและโปร่งแสง ทำให้กลมกลืนไปกับผิว โดยจะเอามาบดจนละเอียด และผสมวิตามิน น้ำหอม และสารอื่นๆลงไป ทำให้ได้แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีกลิ่นหอม

ทำไมมีปัญหา ต่อวงการโรคมะเร็ง

อันดับแรก ที่รู้กันมานานในผู้ป่วยและญาติ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ว่าจะต้องไม่ใช้แป้งในบริเวณที่ฉายรังสี เพราะจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อผิวหนังได้มากขึ้น เมื่อรังสีกระทบกับแป้งทำให้เกิดรังสีกระเจิง

สิ่งที่จะพูดในวันนี้ คือ คำถามที่มีมายาวนานว่า แป้งที่มีส่วนประกอบ Talc เป็นสารที่อาจจะก่อเกิด มะเร็ง รังไข่  หรือไม่

จากการศึกษาวิจัย พบว่า การใช้แป้งบริเวณเชิงกราน จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ มากถึง 2 เท่า และมีรายงานสนับสนุนพบว่า คนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 3 ของรังไข่แบบ Papillary Serous จะมีแป้งอยู่ในต่อมน้ำเหลืองที่อุ้งเชิงกราน นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า การใช้แป้งบริเวณอวัยวะเพศ อาจจะมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งของรังไข่แบบเซลล์บุพื้นผิว (Epithelial cancer) โดยเชื่อว่า แป้งที่หลงเข้าไปในร่างกาย จะผ่านไปยังช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่และเข้าสู่ช่องท้อง เนื่องจาก Talc เป็นสารอนินทรีย์ ไม่สามารถย่อยสลายได้ในคน ทำให้เกิดการสะสม และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

ปัจจุบัน บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการเปลี่ยนจาก Talc มาเป็นแป้งข้าวโพด ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ในคน โดยคาดว่าน่าจะปลอดภัยกว่า       
         
นอกจากนี้เมื่อมีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า ถ้าหนูทดลองสูดดมสาร Talc เข้าไปภายในระยะเวลา 1-2 ปี จะก่อให้เกิดเนื้องอกของปอด ทรวงอก และระบบทางเดินหายใจ

มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ภาวะการอักเสบมีส่วนสำคัญในการเกิดมะเร็งรังไข่

แต่ในอีกความเชื่อหนึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องเกิดการอักเสบจากการสัมผัสโดยตรง แต่ผ่านกระบวนการลด Anti-MUC1 antibodies   ซึ่งปกติจะเป็นตัวที่ลดอัตราความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่    
       
ด้วยรายงานที่มีความแตกต่างกัน จึงมีการศึกษาทบทวน แต่ก็เป็นการยากที่จะสรุปได้ชัดเจนว่าแป้งทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ แม้แต่รายงานที่พบความสัมพันธ์ว่าผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มีการใช้แป้ง แต่ก็ไม่มีการศึกษาว่า จำนวนที่ใช้จะมีความสัมพันธ์หรือไม่  ที่สำคัญที่สุด คือ แป้งแต่ละชนิด ก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกัน  ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการเปรียบเทียบทางระบาดวิทยาของการใช้แป้ง   

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลต่างๆ ในปี  2006 The  International Agency for Research on Cancer (IARC)  ได้จัดระดับความน่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง  โดยการใช้แป้งในบริเวณเชิงกราน อยู่ในระดับ2 B   (ถ้าสารใดเป็นสารก่อมะเร็ง เราจะให้ระดับที่ 1 และระดับที่ไม่ใช่สารก่อมะเร็งจะเป็นระดับ 4)                  
สิ่งที่น่าสนใจ คือ จากการศึกษาแป้งในท้องตลาดประเทศไทย  จำนวน 24   ชนิด ของ คุณ กมลรัตน์ ลีดี    พยาบาลหน่วยรังสีมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ พบว่า มี  Talc ผสมอยู่ถึง 23 ชนิด

ดังนั้นเราควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะบนพื้นฐานที่ไม่สามารถชี้ชัดทางระบาดวิทยาที่จะแสดงความสัมพันธ์ได้ชัดเจน การใช้แป้งทาหน้า ทาตัว หรือที่ต่างๆ ในร่างกาย ต้องใช้เมื่อจำเป็น ในปริมาณที่น้อยๆ และต้องระวังอย่าให้ฟุ้งในอากาศ เพราะจะทำให้ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และไม่ควรใช้ใช้แป้งกับอวัยวะเพศ เนื่องจากเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา ขาว เนียน สวย ต้องปลอดภัยด้วยนะครับ
แหล่งข้อมูล  JNCI Vol. 106 September 10, 2014




2 ความคิดเห็น:

  1. เพ่ือนบอกว่าไม่ทาให้ลูกแล้วหลังจากอ่านบทความนี้ค่ะแต่ตัวเองยังใช้แบบระมัดระวังไม่ให้ฟุ้งกระจายทาแป้งแล้วสดช่ืนดีนะ

    ตอบลบ
  2. เพ่ือนบอกว่าไม่ทาให้ลูกแล้วหลังจากอ่านบทความนี้ค่ะแต่ตัวเองยังใช้แบบระมัดระวังไม่ให้ฟุ้งกระจายทาแป้งแล้วสดช่ืนดีนะ

    ตอบลบ