วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รังสีรักษาภาพนำวิถี Image Guided Radiation Therapy ( IGRT )

ปัจจุบันเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็ง นอกจากจะรักษาให้หายแล้ว ต้องเป็นการหายแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้มากที่สุด  ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาทางด้านรังสี  ได้มีบทบาทในส่วนนี้เป็นอย่างมาก

การรักษาทางด้านรังสีได้พัฒนาจากการฉายรังสี 2 มิติ เป็นรังสี 3 มิติ  ที่เป็นรู้จักกันดีคือ รังสีแปรความเข้มสามมิติ (IMRT) ที่ปรับความเข้มของรังสีตามสัดส่วนความหนาบางของก้อนมะเร็งในแนวทางเข้าของลำรังสีนั้นๆ โดยคำนึงถึงการกระจายรังสีที่แตกต่างกันเป็นจุด หรือช่อง(voxel) หรือเรียกส่วนย่อยๆนี้ว่า Beamlets ตามความเหมาะสมของรอยโรค

ทั้งนี้จะอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ในการกำหนดความเข้มของรังสี ซึ่งจะให้สูงที่สุดในตำแหน่งที่ก้อนมะเร็งหนาที่สุดและต่ำสุดในตำแหน่งที่ก้อนมะเร็งบางที่สุด ด้วยคุณสมบัติในการหลีกเลี่ยงอวัยวะสำคัญต่างๆได้ดีกว่า จึงมีข้อบ่งชี้ในกลุ่มโรคมะเร็งต่างๆดังนี้





1.ใช้สำหรับรอยโรคที่โค้งล้อมรอบอวัยวะสำคัญ เช่น  มะเร็งที่ล้อมรอบประสาทไขสันหลัง , มะเร็งต่อมลูกหมากที่โอบล้อมลำไส้ใหญ่ส่วนตรง , มะเร็งโพรงหลังจมูก เป็นต้น
2.ใช้สำหรับบริเวณที่ใกล้เนื้อเยื่อปกติและมีปัญหาในการวางแผนการรักษาด้วยเทคนิคทั่วไป  เช่น  มะเร็งเต้านม และมะเร็งสมอง
3.ใช้ในกรณีที่เนื้องอกอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับเนื้อเยื่อปกติที่ความทนต่อรังสีต่ำ เช่นมะเร็งตับอ่อน มะเร็งศีรษะและลำคอ

ปัญหาสำคัญ  คือ  การวางแผนการรักษาด้วย รังสีแปรความเข้มสามมิติ จะเป็นภาพ 3 มิติที่ได้มาจากการเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นภาพนิ่งในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น  แต่ก้อนเนื้องอกในบางส่วนหรือบางอวัยวะก็อาจสามารถเปลี่ยนแปลง ทั้งในระหว่างการฉายรังสีแต่ละครั้ง หรือการฉายรังสีครั้งต่อครั้ง ทั้งนี้อาจเนื่องจากอวัยวะภายในมีการเคลื่อนไหวโดยผลกระทบจากการหายใจ  เช่น มะเร็งบริเวณปอด ตับ หรือตับอ่อน หรือการเปลี่ยนแปลงขนาดของเนื้องอก หรือ ท่านอนที่จะฉายรังสีคลาดเคลื่อน เช่น เอียงซ้ายหรือขวา  สิ่งเหล่านี้มีโอกาสทำให้ก้อนเนื้องอกหลุดออกจากแนวของรังสี ดังนั้นเนื้องอกอาจไม่ได้รับปริมาณรังสีตามที่วางแผนไว้ ในขณะเดียวกัน อาจจะทำให้เนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้างเคียงได้รับปริมาณรังสีสูงกว่าระดับที่ค้องการ

ในปัจจุบันได้ จึงมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า รังสีรักษาภาพนำวิถี Image Guided Radiation Therapy ( IGRT )  เป็นการใช้ภาพของเนื้องอกหรือบริเวณที่ต้องการได้รังสีมาร่วมในการวางแผนการรักษา และใช้ในการตรวจสอบตำแหน่งในการฉายรังสีในแต่ละวันของการรักษา โดยสร้างภาพจากการหมุนเครื่องเร่งอนุภาคหรือเครื่องฉายรังสีรอบผู้ป่วย 1 รอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพที่แท้จริง จากกล้องสร้างภาพที่เรียกว่า OBI ( Onboard imager ) ในขณะที่จะฉายรังสี เพื่อการตรวจสอบกับแผนการรักษก่อนที่จะปล่อยรังสี ซึ่งถ้าคลาดเคลื่อนก็จะมีการแก้ไขได้ก่อนที่จะปล่อยรังสีออกไป

นอกจากนี้ ด้วยระบบกล้องอินฟาเรดที่สามารถจับการเคลื่อนไหวการหายใจของผู้ป่วย ที่เกิดระหว่างการจำลองการรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทำให้ได้ภาพเนื้องอกที่มีการเคลื่อนไหว ตลอดช่วงการหายใจ ที่เรียกว่า  ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สี่มิติ หรือ Gated 4D CT ภาพดังกล่าวจะถูกนำมาวางแผนการรักษา และเครื่องเร่งอนุภาคจะปล่อยรังสี เมื่อก้อนเนื้องอกหรือภาพบริเวณที่ต้องการได้รังสี ปรากฏอยู่ในตำแน่งการรักษาที่วางแผนไว้เท่านั้น ทำให้มั่นใจได้ว่าการยิงรังสีถูกเป้าหมายได้อย่างแม่นยำแน่นอน ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจึงสามารถหายใจตามธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องกลั้นหายใจหรือกดกระบังลม เพื่อบังคับการหายใจ 

ดังนั้น  IGRT จึงเป็นเทคนิคการรักษาในมิติที่4  ที่ ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ที่เพิ่มโอกาสการหายจากโรคของผู้ป่วยมะเร็ง โดย ลดภาวะแทรกซ้อนของเนื้อเยื่อปกติจากรังสีได้ นับเป็น Targeted Therapy ในระดับ Macro ที่ให้การรักษาเฉพาะบริเวณที่ต้องการรักษา เพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างดี


อย่าลืมนะครับ ทุกเทคโนโลยีจะมีข้อบ่งชี้และความจำเป็นในการใช้ เราจะใช้อย่างพอเพียง โดยไม่เกินความจำเป็นนะครับ ปรึกษาแพทย์ที่ท่านรักษา ซึ่งจะเป็นผู้ที่รู้รายละเอียดโรคของท่านมากที่สุดนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น