ภาพประกอบจาก: http://news.sciencemag.org/ |
ระยะนี้เราจะได้ยินเรื่องการรักษาโรคมะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่า อิมมูโนเทอร์ราปี (Immunotherapy) มากขึ้น การรักษาผ่านระบบภูมิคุ้มกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดาในหลายๆโรค โดยเฉพาะเรื่องการติดเชื้อ หรือโรคภูมิแพ้ ทั้งนี้มีหลักการที่ว่าเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะถูกกระตุ้น ให้เซลล์ภูมิต้านทาน
(Cellular Immune System) ทำงานเพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมนั้น หรือคำที่เราได้ยินคุ้นเคยดี คือคำว่า วัคซีน ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามากว่าเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในโรคมะเร็งก็จะอาศัยหลักการเดียวกัน เมื่อเซลล์มะเร็งซึ่งเป็นเซลล์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา ร่างกายก็จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็ง ทำให้ร่างกายมีความสามารถที่จะกำจัดหรือควบคุมเซลล์มะเร็งได้
ระบบนี้จะมีความแตกต่างจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด คือ ยาเคมีบำบัดจะทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัว ซึ่งจะเป็นการจำเพาะในช่วงใดช่วงหนึ่งของวงจรชีวิตของการแบ่งตัวของเซลล์
เป็นการนำสารเคมีจากภายนอกร่างกายเข้าไปทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัวภายในร่างกาย
จึงเป็นเหตุให้มีการทำลายเซลล์ปกติด้วย แต่ระบบภูมิคุ้มกันนั้น จะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผ่านกระบวนสร้างภูมิต้านทานที่มีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็งนั้นๆ ที่เราเรียกสิ่งแปลกปลอมนั้นว่าแอนติเจน เช่น การทดลองนำระบบภูมิคุ้มกัน Monoclonal Antibody ที่จำเพาะกับแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง
อันเป็นหลักการของวัคซีน โดยในเบื้องต้นมักใช้ร่วมกับ
การรักษาหลัก เช่น การผ่าตัด การฉายแสง
การให้ยาเคมีบำบัด ด้วยวัตถุประสงค์ในการกำจัดเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่หลังการรักษาหลักให้หมด
โดยเฉพาะการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หากผู้ป่วยรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว อาจไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ทั้งหมด
เซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่จำนวนน้อยๆก็จะถูกกำจัดด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคมะเร็งได้
ดังนั้น ภูมิคุ้มกันบำบัดในโรคมะเร็ง
หรือ Cancer Immunotherapy จึงหมายถึง การรักษาโรคมะเร็งด้วยการกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน
ให้ได้รวดเร็ว จำเพาะต่อแอนติเจนของมะเร็ง และมากเพียงพอที่จะสามารถยับยั้งการกำเริบและการแพร่กระจายของมะเร็ง อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ปกติในร่างกายของมนุษย์ เป็นการรักษาที่เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งหายหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา สามารถแบ่งหรือทำงานผ่านระบบต่างๆ
ที่เข้าใจได้ง่ายๆ เป็น 3 ทาง
1. ผ่านระบบเซลล์ภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่า Cell-based
therapies โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับโรคมะเร็งที่เรารู้จักในชื่อ Natural killer cells,
Lymphokine-Activated Killer Cells, Cytotoxic T-cell และ Dendritic
Cells โดยเซลล์เหล่านี้จะพบในเลือดของผู้ป่วย
ซึ่งในบางวิธีการรักษา จะนำไปเลี้ยงให้เจริญเติบโต จนจำนวนมากพอ แล้วฉีดกลับเข้าตัวผู้ป่วย
ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการกำจัดเซลล์มะเร็งได้
2. ผ่านระบบแอนติบอดี้ หรือ Antibody Therapies นั้น
เกิดขึ้นโดยร่างกายสร้างสารที่มีความจำเพาะกับแอนติเจน ที่เข้ามากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อแอนตีบอดี้ทำปฏิกิริยากับแอนติเจนนั้น
ๆ จะทำให้แอนติเจนหมดฤทธิ์ หรือก่อให้เกิดการทำลายของแอนติเจนนั้น
ปัจจุบันวิธีนี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันมาก
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยาที่เราเรียกว่ายามุ่งเป้า หรือ Targeted Therapy
ตัวอย่าง แอนติบอดี้ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม
มะเร็งศีรษะลำคอ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ประกอบด้วยยา Bevacizumab, Cetuximab,
Trastuzumab เป็นต้น
3. ผ่านระบบไซโตไคน์ หรือ Cytokine Therapies ซึ่งเป็นโปรตีนที่เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันสังเคราะห์ขึ้น
และหลั่งออกมา มีหน้าที่ในหลายด้านตามแต่ชนิด
และมีชื่อต่างๆกัน ตามกลไกที่ไซโตไคน์ทำงาน กลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีในชื่อ Tumor Necrotic Factor,
Interleukin เป็นต้น
เพื่อแบ่งเป็นกลุ่มๆเช่น ตัวอย่างของ Cytokines ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้แก่ Interferon-α ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
Follicular หรือ Interleukin-2
ถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งเซลล์ไต
เป็นต้น
เนื้อหาในบทนี้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องใหม่
ผมได้พยายามเขียนให้อ่านง่ายที่สุด ให้พอคุ้นหูว่ามีการรักษาด้วยวิธีนี้
เป็นพื้นฐานเพื่อนำไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาของท่าน เพื่อความกระจ่าง
โดยเฉพาะผลการรักษาที่ยังไม่แน่นอนในขณะนี้ เพราะมีปัจจัยตัวแปรมากมายที่จะพยากรณ์ผลของการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดในโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตามนับเป็นความหวังที่ดีอันหนึ่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากมีผู้รู้ที่อยากจะเพิ่มเติม
ก็ขอความกรุณาร่วมกันให้ความกระจ่างกับผู้อ่านด้วยนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น