วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

ความเครียดกับโรคมะเร็ง ตอนที่ 1


ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

ท่ามกลางความเจริญรุดหน้าทางวัตถุ ท่ามกลางสังคมที่รายล้อมไปด้วยความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรมความเป็นอยู่   และการเปลี่ยนแปลงของจิตใจคน ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ล้วนแล้วแต่มีเหตุก่อให้เกิดความน่าจะเครียดได้ง่าย ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งความมั่นคงทางอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ใครโชคดีที่สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้  ย่อมผลักดันความเครียดให้ออกไปไกลจากตัวเองได้ แม้แต่สถานที่พึ่งทางใจ ที่มีความสงบมายาวนานในวิถีชีวิตของชาวพุทธ อย่างวัดต่างๆ มนุษย์เราก็ยังก่อให้เกิดความเครียด ได้หลากหลายเรื่องราว จากทั้งคนในและคนนอกวัด

ผลกระทบของความเครียดนั้นมีมากมาย แต่ผลกระทบที่คนสนใจและถกกันมาก คือ ความเครียดกับโรคมะเร็ง

ความเครียด คืออะไร
Psychological Stressหรือความเครียดเป็นการตอบสนองของร่างกาย หรือความรู้สึก ต่อสภาวะความกดดันทาง จิตใจ อารมณ์ และร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียน การเงิน สิ่งแวดล้อม ทั้งคนหรือบรรยากาศรอบตัวและสภาวะที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดคิด เช่นอุบัติเหตุการเจ็บป่วยภัยธรรมชาติเป็นต้น

เมื่อคนเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่มากระทบจิตใจ ก็จะเกิดภาวะเครียด ซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญต่อคุณภาพชีวิต ทำให้คนเรารู้สึกโกรธ คับข้องใจ, ท้อแท้ หรือวิตกกังวล เมื่ออารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลงเป็นนิจ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกายได้       
              
ร่างกายตอบสนองต่อภาวะเครียดอย่างไร
ร่างกายของคนเราจะตอบสนอง ต่อภาวะความกดดันทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์  ด้วยการสร้างฮอร์โมน  เช่น Epinephrine หรือ Adrenaline และ Cortisol ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น และระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น      
      
ในบางครั้งการตอบสนองนี้ก็อาจ ก่อให้เกิด ประโยชน์เช่นกัน ตัวอย่างที่พบบ่อย คือ ในภาวะคับขัน เช่น ไฟไหม้บ้าน จะลืมตัว เกิดมีพลังแบก ตู้เย็น โทรทัศน์ ออกจากบ้านได้ แบบสบายๆ  พอไฟดับ ก็ยังงงว่าตัวเองเอาแรงมาจากไหน ออกมาได้อย่างไร

แต่กรณีที่มีความกดดันซ้ำซาก  รุนแรงจนเครียดจัด  เราจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการตอบสนองดังกล่าว แต่ในทางตรงกันข้าม ภายใต้สภาวะนั้น จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจทางกาย ที่พบบ่อย คือ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ  ระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง  การเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะไวรัส ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ

ส่วนทางใจจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อาทิ ความหดหู่ ความเบื่อหน่ายความท้อแท้ ความวิตกกังวล จนถึงภาวะซึมเศร้า หลีกหนีจากสังคม ญาติมิตร ท้ายที่สุด คือ การหนีตัวเองและหนีจากโลกนี้ไป

ภาวะเครียดเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่
ความเครียดมีโอกาสจะทำให้เกิดมะเร็งได้   2  ทาง คือ ทางตรง และ ทางอ้อม
ในทางตรงนั้น  มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน หากแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนนัก บางครั้งก็มีความขัดแย้งในรายงานที่จะแสดงความเชื่อมโยงโดยตรงของความเครียดกับมะเร็ง

ปัจจุบันมีการศึกษา ทั้งในคนและสัตว์ พบว่าความเครียดที่เรื้อรัง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ลดความสามารถในการกำจัดสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หรือ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ของไวรัสที่มีความเกี่ยวข้องกับ มะเร็งบางชนิด  เช่น   มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 

ในบางรายงานได้กล่าวถึง ความเครียดส่งผลต่อการการแพร่กระจายของเนื้องอก เช่นเดียวกับการวิจัยในสัตว์ที่พบว่าฮอร์โมนซึ่งหลั่งออกมาเนื่องจากความเครียด มีผลต่อการทำงานของเซลล์มะเร็งได้โดยตรง

ในทางอ้อมนั้น ความเครียดจะนำไปสู่พฤติกรรมหรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดความเครียด อย่างเช่น ดื่มเหล้า  สูบบุหรี่ รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากเกินไป  จนมีคำพูดว่า อ้วนเพราะเครียด ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยกินแก้เครียด กินแล้วนอน กลุ้ม ตื่นมา ก็เลยกิน กินแล้วง่วง ง่วงแล้วนอน  ดังนั้น มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งทางเดินปัสสาวะ มะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมน หรือ ความอ้วน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก ล้วนแล้วแต่อาจจะได้รับผลกระทบจากความเครียดได้             
    
ทั้งนี้ โดยข้อสรุปในบทความเรื่อง Psychologic Stress and Cancer ของ National Cancer Institute เมื่อ ธันวาคม 2012  ได้กล่าวว่า  ความตึงเครียดทางด้านจิตใจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ ไม่ได้ถูกยืนยันว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง แต่ภาวะเครียดยาวนาน จะกระทบต่อสุขภาพ และลดความสามารถในการรับมือกับโรคมะเร็งได้



1 ความคิดเห็น:

  1. ดิฉันชอบทานของจุกจิกเม่ีือรู้สึกไม่สบายใจหรือเครียดโชคดีท่ีอ้วนยากนับแต่นี้คงต้องลดความเครียดวิธีอ่ืนเสียแล้วค่ะ

    ตอบลบ