วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

BNCT (Boron Neutron Capture Therapy) การรักษาโรคมะเร็งโดยเทคนิคการจับรังสีนิวตรอนด้วยอะตอมโบรอน


เราคงรู้จักเรื่องรังสีรักษาในรูปแบบต่างๆกัน จะเป็นแบบการฉายรังสีด้วยเครื่องโคบอลท์ เครื่องเร่งอนุภาค จนกระทั่งเรื่องการใส่แร่ หรือ ฝังแร่กัมมันตรังสี รวมทั้งการฉายรังสีร่วมกับยา หรือการใช้ความร้อน

แต่ยังมีเทคนิคใหม่ที่เป็นแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่เรียกว่า BNCT หรือ Boron Neutron Capture Therapy  ซึ่งเป็นการฉีดสารประกอบโบรอนเสถียร หรือ 10 B ให้ไปสะสมในเซลล์มะเร็ง แล้วฉายรังสีนิวตรอนไปที่บริเวณนั้น อะตอมโบรอนจะจับยึดนิวตรอนไว้ กลายเป็นโบรอนกัมมันตรังสี 11B  ซึ่งจะสลายพร้อมกับการปล่อยอนุภาคแอลฟา (4He) กับไอออนของลิเทียม (7Li)  ที่มีพลังงานสูงออกมาทำลายเซลล์มะเร็งนั้น      

ที่มาภาพประกอบ: http://www.nst.or.th/article/article57/article57-001.html
     
ทั้งอนุภาคแอลฟาและไอออนของลิเทียมจะเคลื่อนที่ไปในตัวกลางในระยะสั้นๆ ใกล้กับจุดที่เกิดปฏิกิริยา ด้วยระยะประมาณ 5-9 ไมโครเมตร หรือประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางของเซลล์ ทำให้มีขอบเขตการทำลายจำกัดเฉพาะเซลล์ ที่มีโบรอนและได้รับนิวตรอนเท่านั้น 
   
ความสามารถในการจับยึดรังสีนิวตรอน (Neutron Capture) นั้น ขึ้นอยู่กับพลังงานของนิวตรอนและธรรมชาติของสารเภสัชที่สามารถจับจำเพาะเซลล์มะเร็งสาร โดยทั่วไปมะเร็งชนิดที่มีการแบ่งตัวไวจะจับสารได้มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ดังนั้นในเซลล์ประสาทซึ่งไม่มีการแบ่งตัว ก็จะจับสารเภสัชเหล่านี้น้อย ทำให้มีความปลอดภัยต่อเนื้อเยื่อปกติ โดยเฉพาะเมื่อใช้ในมะเร็งในสมองเด็ก จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อน ต่อเนื้อสมองปกติ เมื่อเทียบกับการฉายรังสีทั่วไปได้ สารเภสัชที่ใช้ได้ดีในปัจจุบันจะเป็น กลุ่ม Boron หรือ Gadolinium

ปัจจุบันที่ใช้รักษากันมาก คือ Glioblastoma  ซึ่งเป็นมะเร็งสมองที่มีความรุนแรงมาก และมะเร็งเม็ดสี  Malignant Melanoma

ส่วนเรื่อง นิวตรอน ที่สร้างขึ้นในปัจุบันสามารถควบคุมให้เหมาะสมได้ เช่น การรักษาในสมองจะใช้  Epithermal Neutrons ที่สามารถผ่านกะโหลกและหนังศีรษะ จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเหมือนในอดีต
             
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการของนิวตรอน คือ เครื่องปฏิกรณ์ที่จะผลิตรังสีนิวตรอนทำได้จำกัด จึงมีการใช้เฉพาะในสถาบันใหญ่ๆ  เช่นใน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น  และมีแผนการพัฒนาเพิ่มขึ้นในประเทศยุโรป  เช่น รัสเซีย สาธารณรัฐเช็ค เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ  การดัดแปลง เครื่องเร่งอนุภาค เพื่อสามารถใช้ในระดับโรงพยาบาลได้ ปัจจุบันเริ่มพัฒนาในประเทศอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย  อิตาลี และอาร์เจนติน่า ซึ่งอาจจะทดแทนเครื่องปฏิกรณ์ เพื่อการใช้ทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่มีการใช้เครื่อง Cyclotron
                     
ทั้งหมดของการพัฒนา น่าจะเพิ่มผลการรักษาได้มากขึ้นในอนาคต โดยจากเริ่มจากช่วงปีปลายศตวรรษ ที่ 20 โดย  Dr. William H Sweet จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือ Dr. Hiroshi Hatanaka  ที่ยังคงใช้เป็นเทคนิค Intraoperative NCT รวมทั้ง Nakagawa และคณะ  ซึ่งรายงานในปี 1998  ถึงผลการรักษาในสมอง  มีผู้ป่วยอยู่รอดมากกว่า 3  ปี  40 ราย จาก 201  ราย และ 10 รายที่อยู่รอดมากกว่า 10 ปี 
               
แม้ปัจจุบันจะยังไม่แพร่หลายและมีบทความเรื่อง BNCT and Nanoparticles: A Long Way to a Routine Clinical Method  โดย Cesare Achilli และคณะจาก มหาวิทยาลัย  Pavia  อิตาลี ในปี 2015 นี้ ซึ่งได้มีการชี้ถึงปัญหาและการค้นคว้าที่ต้องใช้เวลาอีกมาก โดยเฉพาะ Boron Phosphate (BPO4) Nanoparticles  (Nanomedicine, April 2014, Volume 10; 589597) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า และผลข้างเคียงน้อยเป็นต้น  แต่ก็มีข้อสรุปได้สำหรับอนาคตว่า  BNCT จะเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษามะเร็ง โดยให้ผลการรักษาที่ไม่แตกต่างจากรังสีมาตรฐานทั่วไปในการรักษา Glioblastoma แต่ ผลข้างเคียงต่ำ การเพิ่มปริมาณรังสี และการวิจัย ค้นหาสารเภสัชชนิดใหม่ จะนำไปสู่ความสำเร็จในการรักษา ทั้งนี้ การพัฒนาแหล่งกำเนิดรังสีนิวตรอนใหม่ จะทำให้เทคนิคนี้สามารถทำได้ในระดับโรงพยาบาล 
                
รวมทั้งการพัฒนาการวิจัยในการรักษาโรคที่พบบ่อย เช่นมะเร็งปอด ต่อมลูกหมาก เป็นต้น

หากท่านผู้อ่านต้องการรายละเอียด  ก็สามารถไปอ่านเพิ่มเติม
ได้ที่บทความ ของสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย  ซึ่งเข้าใจได้ง่ายครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น