วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นอกกรอบวิชาการ: ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน


วันนี้ ผมขออนุญาต ออกนอกกรอบวิชาการ เนื่องจากในระยะนี้ ข่าวในวงการ  สาธารณสุขที่กล่าวถึงกันมากและมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชน ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน  ซึ่งเป็นเรื่องเก่าที่เกิดมาหลายระลอก แต่คราวนี้ ดูเหมือนว่า จะเป็นยุคแห่งความหวัง แพทย์กลุ่มหนึ่งได้พูดคุยกัน จึงเป็นที่มาของการรวบรวมความคิดเห็น ที่ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด เพียงแต่นำเสนอในอีกมุมหนึ่ง ที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่าง  ด้วยความเข้าใจ และกังวลใจ

เราไม่ปฏิเสธว่า ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่ารัฐบาล และบางแห่งแพงจนน่ากลัวว่าจะตายจากหนี้ มากกว่าตายจากโรค และก็ไม่ปฏิเสธว่าบางคนแม้ไม่ได้รวย แถมมีสิทธิเบิกราชการ แต่บางครั้งก็ยอมเสียเงินไปเอกชน เพราะคิดและคาดหวังการบริการที่เร็วกว่า ดีกว่า

เราได้แต่คาดหวังว่าวันหนึ่ง โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในหลายๆด้านให้ดีขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีรายได้จำกัด อีกทั้งแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนด้วยความจำเป็นและจำยอม

ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเข้าใจและพยายามเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ โดยเริ่มจากเรื่องฉุกเฉิน เพียงแต่ในความเป็นจริงของการรับส่งต่อเพื่อการรักษาต่อเนื่อง ยังไม่สามารถทำได้ตามที่วางแผนไว้  หลายครั้งในการติดต่อโรงพยาบาลรัฐเพื่อการส่งต่อ มักจะได้คำตอบที่คล้ายกัน คือ เตียงเต็ม ทุกอย่างเต็มไปด้วยความยากลำบากที่ญาติต้องรอแล้วรออีก จนต้องตัดสินใจกู้หนี้มารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน

โรงพยาบาลเอกชน บางแห่งทำได้ดีครับ มีความมุ่งหวังที่จะช่วยเติบเต็มให้การบริการสาธารณสุขดีขึ้น
แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ก็ควรถูกตำหนิ ที่สร้างราคา ด้วยการสร้างแบรนด์ จากความสามารถนำหน้าด้านเทคโนโลยี เพราะความพร้อมในการระดมเงินลงทุนได้รวดเร็วกว่า ทั้งจ้างแพทย์ที่เก่งด้วยเงินเดือนและผลตอบแทนสูง สร้างความรู้สึกให้ประชาชนรับรู้ว่า ถ้าเจ็บป่วยและอยากหายต้องโรงพยาบาลเอกชนที่มีทั้งเครื่องมือและหมอที่ดีราคาแพง คล้ายกับการกินอาหารในร้านหรูราคาแพง นด้านตรงข้าม การสั่งน้ำเปล่า จะถูกมองว่าขี้เหนียว ต้องน้ำปั่น หรือ กาแฟที่แพงกว่าก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งเสียอีก

แน่นอนครับ ไม่เลือกกินอาหารหรูก็ไม่มีใครบังคับและไม่ตาย เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือกสรรสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง จึงไม่ค่อยมีคนสนใจที่จะเรียกร้องรัฐบาล

แต่เรื่องป่วยไข้   ไม่รักษาโดยทันท่วงที  อาจตายครับ

ความจำเป็นที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่สะดวก ผู้ป่วยอาจจะรอด  แต่ญาติผู้ออกค่ารักษาอาจตายผ่อนส่ง จากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างคาดไม่ถึง เรียกว่าไม่ตายจากโรค แต่ตายจากหนี้ครับ      

การเรียกร้องของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่ชอบ

แต่การออกมาตรการ บางอย่าง อาจจะเป็นปัญหาส่งผลกระทบในระยะยาว  เราควรทำความกระจ่างให้เกิดขึ้น ในทุกปัญหา ทั้งการบริการของรัฐ การสร้างความเข้าใจเรื่องความเหมาะสซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ การเปรียบเทียบราคาค่ารักษาไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เราลองคิดถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้นะครับ

โรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นจากอะไร แน่นอนที่สุด คือ ความต้องการที่มาจากความไม่เพียงพอ หรือความรู้สึกไม่ดีพอ หากโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ปิดตัวลง การบริการในภาครัฐจะเป็นอย่างไร  รองรับได้เพียงพอหรือไม่ หากรัฐซื้อโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด มาบริการแบบรัฐในปัจจุบัน คิดค่ารักษาแบบรัฐในปัจจุบัน จะต้องอุดหนุนงบประมาณอีกปีละเท่าไร  ทั้งเงินลงทุน และเงินเดือน

ผมจึงอยากให้พวกเราทำความเข้าใจและเดินหน้าใน 2 ส่วน คือ คุณภาพทางการแพทย์ และคุณภาพในการบริการ เพื่อสร้างความสมดุลและเหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ ทุกคนสุขภาพดีถ้วนหน้า

โดยให้ลองคิดถึงการขึ้นเครื่องบิน ไม่ว่าจะนั่งชั้นไหน ก็ถึงที่หมายด้วยกัน และถ้าเครื่องบินตกก็ตายด้วยกัน นั่นคือ คุณภาพทางการบิน หรือ ทางการแพทย์  แต่คนมีเงินจะนั่งชั้นหนึ่ง เพื่อความสะดวกสบาย  หรือ อาหารดูดีกว่า ดูแลอย่างดี ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง ให้ขึ้นเครื่องก่อนและดูแลทุกนาทีตลอดการเดินทาง ก็อย่าไปว่าเขาเลย ปล่อยเขาไป ให้บริษัทการบินมีกำไรพออยู่ได้ อย่างน้อย เราก็ยังสามารถเดินทางได้

เราหันมาดูแลผู้โดยสารชั้นประหยัดให้ไปถึงที่หมาย อย่างมีความสุขดีกว่าการไปบังคับให้เขาคิดค่าโดยสารเท่ากัน  ด้วยบริการที่ต่างกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่หากลดการบริการลงมา ก็คงพัฒนา หรือ แข็งขันกับคนอื่นไม่ได้

โรคมะเร็งที่ถูกขนานนามว่า โรค High Cost  หรือโรคค่าใช้จ่ายสูง ยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นอย่างมาก  อยากให้รัฐตั้งศูนย์กลางรังสีขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้งบประมาณสูง และบุคลากรจำเพาะให้เกิดการใช้ร่วมกัน ทั้งนี้เนื่องจากการกระจายศูนย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเรายังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก จะเห็นได้จากคิวการรักษาด้วยรังสีโดยเฉลี่ยยังยาวเป็นเดือน  ซึ่งเรื่องนี้ผมเสนอตั้งแต่ปี 2536   ซึ่งสมัยนั้น ยังไม่มีการฉายรังสีในโรงพยาบาลเอกชน เช่นทุกวันนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนก็ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนจะนำหน้าภาครัฐในอนาคต แล้ววันหนึ่งก็จะเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง จนผู้มีรายได้จำกัดเข้าไม่ถึง

ดังนั้นเราควรที่จะทำความกระจ่าง ในทุกเรื่อง ทั้งการบริการของรัฐ และค่าบริการของเอกชน  ที่มีความเชื่อมโยงกัน   ก่อนการคิดออกมาตรการที่บางครั้งอาจจะเป็นปัญหาในระยะยาว  เช่น การประกาศราคายา สิทธิการซื้อยานอกโรงพยาบาล จริงอยู่ราคาถูกกว่า แต่ ท่านต้องไม่ลืมเรื่องความเสี่ยงที่อาจจะมี ทั้งเรื่อง เภสัชกร มาตรฐานการเก็บรักษายา การนำยามาใช้ในโรงพยาบาล เช่น วัคซีน เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องปรึกษากันให้ละเอียดในมาตรการนี้

เราควรพูดคุยกันบนพื้นฐานของความเป็นจริง หาทางแก้อื่นๆที่มีผู้รู้หลายท่านเสนอ เช่น เรื่อง การประเมินค่ารักษาอย่างเหมาะสมเป็นธรรม และมีคุณธรรม  หรือ  มาตรการ co-pay หรือการร่วมจ่าย ในกรณีที่เอกชน จะคิดค่าบริการด้านคุณภาพทางการแพทย์ที่เท่ากับรัฐ เบิกจ่ายจากรัฐ และผู้ใช้บริการร่วมจ่ายในสิ่งที่พอใจ เช่น ค่าห้อง ค่าความรวดเร็ว สะดวกสบาย เป็นต้น  ไม่ใช่ให้แยกประกันสังคม หรือ 30 บาท นั่งรอ ใช้รายการยาที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ประชาชนอาจจะรู้สึกได้ว่าไม่แพงเกินไป และเกิดความรู้สึกเท่าเทียมกันและเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวรัฐก็จะควบคุมค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพของประชาชนได้ดีขึ้น

ประการสุดท้าย  หมอดี  หมอเก่ง รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ   ยังมีอีกมากครับ  ดูแลให้เขาอยู่ได้อย่างสมฐานะ อย่าได้ต้องอุทิศตนให้โรงพยาบาลเอกชน แต่อย่าให้เขาอุทิศชีวิตให้ราชการโดยลูกเมียต้องลำบาก เกินไป แตกต่างกันเกินไปในสังคมปัจจุบัน ที่ต่างกันมากๆ หาดูกันได้ไม่ยาก คือ กลุ่มแพทย์ ที่เงินเดือนหลวงทั้งปี เท่ากับรายได้ในเอกชน 1 เดือน ครับ

อย่าไปคุมเอกชนเลยครับ แก้แนวทางของรัฐให้ดี เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ ผมเชื่อว่า น้อยคนจะไปซื้อของแพงในของที่เหมือนกันครับ ผมคนหนึ่งล่ะครับที่ภาวะปกติจะไม่ไปโรงพยาบาลเอกชน แต่มีไว้ใกล้บ้านก็ดี จำเป็นเมื่อไร ก็อาจต้องใช้ รักษาชีวิตไว้ก่อน ความถูกต้องและความเหมาะสมจะเป็นมาตรการที่สร้างความสมดุลของสังคมครับ การออกกฎบังคับ เป็นมาตรการชั่วคราว ที่ท้ายสุด ก็จะมีการเลี่ยงกฎ และท้ายที่สุด Supply ของรัฐ ไม่พอ Supply ลักษณะเช่นนี้ ก็จะคงอยู่ต่อไป ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่พัฒนาไปครับ

เป็นโรค ก็แย่พอแล้ว อย่าเป็นหนี้ เพราะเป็นโรคอีกเลยครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. จริงค่ะ เป็นโรคก็แย่แล้ว อย่าเป็นหนี้กันทั้งผู้ป่วย ญาติ เพราะโรคอีก เลย คงทุกข์มากๆ

    ตอบลบ