วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป (Doctor - Patient Relationship)


 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

จากข่าวเดลินิวส์ วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2558
คนไข้โรคมะเร็งที่บริเวณหลังโพรงจมูก แค้นและก่อเหตุอาละวาด ราดน้ำมันจุดไฟเผาหมอคาโรงพยาบาลในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน โดยแพทย์ถูกไฟคลอกร่างกายเสียหายอย่างน้อยร้อยละ 30           

เมื่อเดือน พ.ค.ก่อนหน้าเคยมีแพทย์ที่โรงพยาบาลใน นครเซี่ยงไฮ้ สามคน ถูกผู้ป่วยอาละวาดใช้มีดไล่ฟันจนได้รับบาดเจ็บ โรงพยาบาลบางแห่งในจีน เริ่มเพิ่มมาตรการระแวดระวังเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ด้วยการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมศิลปะการป้องกันตัวเบื้องต้นสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ในประเทศไทย ก็เคยมีเรื่องผู้ป่วยถือปืนเข้าในโรงพยาบาลแสดงความไม่พอใจการบริการ 
เหตุการณ์ที่เลวร้ายนี้ เป็นสัญญาณที่แสดงถึงความเสื่อมลงของสังคมการแพทย์กับผู้ป่วยและ สัมพันธภาพของหมอ-คนไข้( Doctor- patient relationship )

อุบัติการณ์ร้องเรียนและคดีความที่มีการฟ้องร้อง ซึ่งเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน กับโรงพยาบาลรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  แม้แต่ในโรงเรียนแพทย์ก็เพิ่มมากขึ้น  จนมีคำกล่าวว่า จำนวนการร้องเรียนใน 2 ปี นี้ มากเท่ากับร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด เราลองมาดูเหตุการณ์เหล่านี้ แล้วลองคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราดู

ตัวอย่างที่ 1 กรณีเกิดมีผู้ป่วยเสียชีวิตในมือแพทย์อาวุโสท่านหนึ่ง ด้วยเหตุภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด ที่อาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ถูกฟ้องร้องเรียกเงิน ที่ชั่วชีวิตท่านไม่อาจจะหาได้ และทำลายชื่อเสียง ที่สะสมมายาวนาน ผมรู้จักอาจารย์ท่านนี้ดี ทุกคนเห็นใจท่านครับ ท่านเสียสละตั้งใจสอนนักเรียน และเป็นแบบอย่างหมอที่ดีเสมอมา สิ่งที่ได้รับ เมื่อท่านไปร่วมงานศพแสดงความเสียใจ     คือ เสียงพูดแค้นเคือง นั่นไง หมอ ที่ทำให้ตาย คงสำนึกผิดละซิ ผลคือ อาจารย์ เกิดสภาวะซึมเศร้า ท้อแท้ระยะหนึ่ง

ตัวอย่างที่ 2 หมอหนุ่มให้ยารักษาวัณโรคแล้วผู้ป่วยเกิดเสียชีวิตจากภาวะตับวาย เพราะแพ้ยาอย่างรุนแรง ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย ชนิดที่หมอเขาบอกกับผมว่า อาจารย์ครับ ผมคงเลิกเป็นหมอแล้วครับ ผมทำงานมายังเก็บเงิน ไม่ได้ครึ่งหนึ่งที่เขาฟ้องเลยครับ ซึ่งการแพ้ยาบางครั้ง ยากที่จะทราบถึงโอกาส และความรุนแรง ในแต่ละคนได้  ถ้าไม่มีประวัติการแพ้มาก่อน  

ตัวอย่างที่   3  แพทย์อาวุโสท่านหนึ่งถูกฟ้องร้องจากการรักษา ทั้งที่ท่านดูแลผู้ป่วยอย่างดี  เย็นวันที่ท่านถูกฟ้อง ท่านกังวล ขับรถกลับบ้านด้วยความเครียด ท่านชนรถคนอื่น 2 คัน โดยไม่รู้ตัว กลับถึงบ้านพร้อมกับรถตำรวจที่ไล่ตามมา ข้อหาขับรถหนี
ต่อมาท่านเครียดจัด จนมีอาการทางระบบประสาทครับ

 ท่าน ผู้อ่านรู้สึกอย่างไรบ้างครับ
ในความเป็นจริง หมอตั้งใจทำงาน พร้อมเสมอสำหรับคนไข้ โดยไม่เคยคิดจะประกันการฟ้องร้อง เหมือนกับการประกันอุบัติเหตุ หรือ เดี๋ยวนี้ หมอจะต้องทำประกันการฟ้องร้อง ป้องกันการสูญเสีย เหมือนธุรกิจอื่นๆ

หยุดเถอะนะครับ การฟ้องร้องเอาเป็นเอาตาย แบบคิดเองหรือถูกแรงยุยงปลุกปั่น หมอเก่งมีฝีมือเพียงใด  ทำสุดกำลังแค่ไหน ก็มีโอกาสเกิดภาวะสุดวิสัย ที่ไม่อาจช่วยได้  ซึ่งหมอเองก็เสียใจอยู่แล้ว   ไม่มีหมอท่านใดเจตนาร้ายกับผู้ป่วยหรอกนะครับ
บุคลากรทางการแพทย์โดยส่วนใหญ่ล้วน มองผู้ป่วย เป็นผู้ที่มีความทุกข์ น่าสงสารและน่าเห็นใจ เรามีหน้าที่บำบัดทุกข์  เอาใจผู้ป่วยมาใส่ใจเรา คิดและดูแลเสมือนหนึ่งญาติพี่น้องเรามาป่วยเองครับฃ
แต่ก็ยอมรับว่า ข้อความต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ได้ยิน เสียงพ้อบ่อยมาก หมอและโรงพยาบาลคงต้องหาหนทางทำให้ดีขึ้นเหมือนกันครับ

รอคิวมา 2 เดือน แล้ว หมอยังไม่มีคิวว่างเลย
หมอมาแน่ แต่รถติดยังมาไม่ถึง
หมอเลื่อนนัด ผ่าตัด เพราะติดนี่ นู่น  นั่น 
ประกันสังคม  เต็ม  เข้าคิวรอก่อน
กลุ่มยานี้ 30 บาท เบิกไม่ได้
ห้องเต็ม ให้มารอฟังเตียงทุกวัน
คิวตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 1-2 เดือน

ฟังแล้ว ก็หนักใจแทนผู้ป่วยและญาติจริงๆ  เคยมีคนเขาประชดว่า ตายซะเลย ง่ายกว่ารอรักษานะ 
แม้แต่เข้าตรวจ พบหมอแล้ว ก็ยังเจอปัญหาหมอท่านภาระกิจเยอะ  ติดประชุม คนไข้ล้น  มีเวลาน้อย ดูหน้า ดูแฟ้ม ไม่ทันนั่งตรวจ ก็รีบสั่งยาให้แล้ว ไม่บอกว่าเป็นอะไร จะรักษาอย่างไร บอกแต่เพียงว่า กินยาตามสั่ง นัด  2สัปดาห์ เป็นต้น

ผมมั่นใจคำว่า หมอ มาโดยตลอด  แต่เมื่อมองไปในสังคมใหญ่ ผมเริ่มกลัว สิ่งที่ยึดมั่น นับวันจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผมไม่ปฏิเสธว่า 20 ปีที่ผ่านมา เรื่องค่าตอบแทนแพทย์รุนแรงมากขึ้น ถ้าทางเศรษฐศาสตร์ ก็คงเป็นเรื่อง demand , supply  หรืออุปสงค์ อุปทาน ธรรมดา แต่ที่น่ากลัว คือ ความเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง ที่มีการปั่นราคาขึ้นตามภาวะฟุ้งเฟ้อของสังคม  ทั้งด้านค่าตอบแทนแพทย์  ค่าพยาบาล  ด้านค่าบริการที่สูง ค่ายาที่แพง ค่าเครื่องมือ สารพันที่ให้ค่ารักษาสูงขึ้น  นำมาซึ่งการลดความสัมพันธ์ที่ดีของโรงพยาบาลกับผู้ป่วย จนถึงหมอกับคนไข้   

ที่น่าสนใจอีกประการ คือ ความรู้สึกของพ่อแม่ที่เป็นหมอ เริ่มมีความไม่อยากให้ลูกเป็นหมอ เพราะชีวิตรอบตัว แต่ละวันมีแต่ความเครียด มีความเจ็บป่วยและชีวิตคนไข้เป็นสำคัญ ตอนเรียนก็ยาก จบก็ลำบาก เสี่ยงทั้งการติดโรค อาจนำไปสู่การเสียชีวิตจากการติดเชื้อไม่น้อย นอกจากนี้ปัญหาการร้องเรียนและฟ้องร้องก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่เศรษฐานะไม่ได้ เป็นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ ความรู้สึกดีๆ และความภาคภูมิใจของหมอ ก็ค่อยๆหายไป

ช่วยกันหยุดและปิดช่องว่างระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเถิด กรุณาให้แพทย์รักษาด้วยความเมตตา
ไม่กดดัน ไม่กังวล ไม่เครียด

รักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน  เป็นแพทย์ รักษาสุดความสามารถ ไม่เกี่ยวกับรายได้ เป็นคนไข้   รับฟังเหตุผล อย่าบั่นทอนกำลังใจ ซึ่งกันและกัน   และเหนี่ยวนำให้หมอต้องทำประกัน แล้ว คิดเงินเพิ่มจากคนไข้ไปจ่ายค่าประกันเลยครับ 

ท้ายที่สุด อย่าให้หมอไทยต้องไปเรียนกังฟู เหมือนในข่าวนะครับ

                          



                



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น